backup og meta

ท้องในวัยเรียน ความเสี่ยงต่อสุขภาพและการรับมืออย่างเหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    ท้องในวัยเรียน ความเสี่ยงต่อสุขภาพและการรับมืออย่างเหมาะสม

    การ ท้องในวัยเรียน อาจทำให้วัยรุ่นเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์ เนื่องจากมักไม่ได้รับการดูแลครรภ์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนและการดูแลจากผู้ปกครองหลังจากทราบว่าวัยรุ่นตั้งท้อง หรือหากวัยรุ่นเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับและไม่แจ้งให้ที่บ้านทราบ ก็อาจทำให้ไม่ได้ไปฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล ฝากครรภ์ช้ากว่าที่ควร หรือฝากครรภ์แล้วไม่ยอมไปพบคุณหมอตามนัดหมาย จึงไม่ได้รับการตรวจสุขภาพและดูแลครรภ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเสี่ยงขาดสารอาหารที่ควรได้รับขณะท้อง เช่น วิตามินคนท้อง กรดโฟลิก และอาจไม่ได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม

    ความเสี่ยงต่อสุขภาพเมื่อ ท้องในวัยเรียน

    โดยทั่วไป วัยรุ่นท้องที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปีหรือท้องแล้วไม่ได้ไปฝากครรภ์จะมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะท้องและระหว่างคลอดสูงกว่าคนที่ท้องตอนอายุมากกว่าหรือเข้าฝากครรภ์ ความเสี่ยงสุขภาพของผู้ที่ ท้องในวัยเรียน อาจมีดังนี้

  • ภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณน้ำเลือดมากกว่าปริมาณเม็ดเลือดแดง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ติดเชื้อได้ง่าย และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก
  • ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Hypertension in Pregnancy) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย มักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ ทำให้มีความดันโลหิตสูง มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ชัก หมดสติ และทำให้แม่และทารกในครรภ์เสี่ยงเสียชีวิต เป็นภาวะที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสูตินรีแพทย์
  • ภาวะตายคลอด (Stillbirth) ที่ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์จนถึงช่วงหลังคลอด
  • ภาวะศีรษะทารกไม่ได้สัดส่วนกับกระดูกเชิงกราน (Cephalopelvic Disproportion หรือ CPD) เนื่องจากอุ้งเชิงกรานของแม่วัยรุ่นยังไม่ขยายอย่างเต็มที่ จนทำให้ศีรษะของทารกไม่สามารถผ่านและคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) อาจเกิดจากความเครียดเพราะท้องในวัยเรียนหรือท้องไม่พร้อม มักส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูทารกหลังคลอดและยังอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของวัยรุ่นด้วย หากวัยรุ่นที่ท้องในวัยเรียนรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือมีปัญหาใด ๆ ไม่ควรเก็บปัญหาไว้กับตัวเอง อาจขอคำปรึกษาหรือระบายความเครียดให้คนรอบข้างฟัง หรืออาจไปรับการรักษาจากนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง เพราะหากปล่อยไว้ไม่รับการรักษาอย่างเหมาะสม ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจพัฒนาไปเป็นภาวะจิตเภทหลังคลอด (Postpartum psychosis) ที่เป็นอันตรายทั้งต่อผู้ป่วย ทารก และคนรอบข้าง
  • นอกจากนี้การท้องขณะอายุยังน้อยยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมักทำให้เด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ ทั้งยังอาจทำให้ทารกมีพัฒนาการช้า ติดเชื้อได้ง่าย ปอดไม่สมบูรณ์ มีปัญหาด้านการได้ยินหรือการมองเห็น มีภาวะโลหิตจาง เป็นโรคหอบหืด เป็นต้น

    การฝากครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนท้อง หากทราบว่าตั้งท้อง ควรไปฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการตรวจร่างกาย คำนวณอายุครรภ์และวันคลอด เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ติดตามพัฒนาการของทารกตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถดำเนินการตั้งครรภ์และคลอดได้อย่างปลอดภัย

    อาการที่เป็นสัญญาณของการท้อง

    อาการที่เป็นสัญญาณแรก ๆ ของการท้อง คือ ประจำเดือนขาด เนื่องจากเมื่อไข่ผสมกับอสุจิและฝังตัวในผนังมดลูกแล้ว มดลูกจะไม่ลอกตัวออกมาเป็นประจำเดือน และระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน หากพบว่าประจำเดือนขาดไปหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรรอประมาณ 1 สัปดาห์แล้วจึงทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์ หากที่ตรวจครรภ์แสดงขีด 2 ขีด แสดงว่าตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังอาจสังเกตได้จากอาการคนท้อง ดังต่อไปนี้

    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดศีรษะ วิงเวียน
    • อยากอาหารมากกว่าปกติ
    • คัดตึงเต้านม เต้านมขยาย
    • อ่อนเพลียมาก
    • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
    • มีอารมณ์แปรปรวน
    • มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

    การรับมือเมื่อท้องในวัยเรียน

    วัยรุ่นวัยเรียนตั้งแต่ 15-19 ปี เป็นวัยที่มีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องเพศเป็นอย่างมาก แต่ยังมีวุฒิภาวะไม่มากพอ ขาดความระมัดระวัง และมีความรู้ความเข้าใจในด้านเพศศึกษาน้อย เด็กวัยรุ่นจึงอาจมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและไม่ใช้วิธีคุมกำเนิด เช่น ใช้ถุงยางอนามัย รับประทานยาคุมกำเนิด จนทำให้ตั้งท้องได้ ทั้งนี้ เด็กในวัยเรียนอาจไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพเต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งเรื่องการเรียน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็ก การประกอบอาชีพในอนาคต หากตัดสินใจคลอดและเลี้ยงดูเด็กอาจต้องออกจากโรงเรียนและไม่ได้ศึกษาต่อ ส่งผลให้มีทางเลือกในการทำงานไม่มาก จึงอาจได้งานที่มีรายได้ที่ไม่มากพอและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาในภายหลัง เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านจิตใจของเด็ก

    หากใช้ที่ตรวจครรภ์แล้วพบว่าตัวเองตั้งท้อง ทางเลือกที่สามารถทำได้หลังจากนี้มี 2 ทาง คือ การดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป และการยุติการตั้งครรภ์ โดยวัยรุ่นอาจต้องใช้เวลาสักระยะในการไตร่ตรองว่าจะตัดสินใจทำอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ ควรปรึกษาผู้ปกครอง ครอบครัว หรือครอบครัวฝั่งพ่อของเด็ก เพื่อร่วมกันคิดหาทางออกที่เหมาะสม ในเบื้องต้นอาจปรึกษาสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ได้ที่เบอร์ 1663 หรือแฟนเพจ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เพื่อรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ

    สำหรับผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายในช่วงอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่อคนท้องน้อยกว่าการทำแท้งเมื่ออายุครรภ์มากแล้ว โดยคุณหมอจะเลือกวิธียุติการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพและอายุครรภ์ การทราบถึงภาวะตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะก่อนสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ อาจช่วยให้วางแผนการยุติการตั้งครรภ์ได้รวดเร็วและปลอดภัยต่อผู้ที่ท้องในวัยเรียนมากที่สุด หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน จึงควรสังเกตอาการของตัวเอง และใช้ที่ตรวจครรภ์ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนไม่มาตามรอบเดือนปัจจุบัน

    ผู้ที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ไม่ควรทำแท้งด้วยตัวเองหรือใช้บริการสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นอันขาดเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า การยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากยังไม่พร้อม ด้วยการเข้ารับบริการสุขภาพในสถานพยาบาลที่ถูกกฎหมายและเชื่อถือได้ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและไม่ได้ทำให้คุณค่าในตัวเองลดลงแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา