ยาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยหลักในการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพต่างๆ แต่การจะใช้ยาให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น เราก็ต้องใช้ยาอย่างระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ขั้นแรกเลยเมื่อได้ยามาแล้ว คุณควรอ่านฉลากยาให้ละเอียด จะได้รู้ว่าต้องใช้ยาวันละกี่ครั้ง ในขนาดยาเท่าไหร่ และอีกสิ่งหนึ่งที่คุณห้ามละเลยเด็ดขาดเลยก็คือ วันหมดอายุของยา เพราะหากคุณใช้ ยาหมดอายุ แทนที่อาการเจ็บป่วยจะหาย อาจกลายเป็นแย่กว่าเดิมได้
ทำไมยาถึงต้องมี วันหมดอายุ
วันหมดอายุ หรือวันสิ้นอายุ (expiration date) ที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ยานั้น คือ วันสุดท้ายที่ผู้ผลิตรับรองว่ายาจะยังคงทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่ง หรือยาที่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาต้องระบุวันสิ้นอายุ หรือ วันหมดอายุของยา ไว้ในฉลากยาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องมีวันหมดอายุระบุไว้เช่นกัน
หากบนฉลากยาไม่ได้ระบุวันหมดอายุครบถ้วนทั้ง “วัน/เดือน/ปี” แต่ระบุเพียงแค่ “เดือน/ปี” นั่นหมายถึงว่า ยาจะหมดอายุในวันสุดท้ายของเดือนที่ระบุไว้ เช่น Exp. 07/2020 ก็หมายถึง ยาหมดอายุ วันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 โดยคำว่า “วันหมดอายุ” หรือ “วันสิ้นอายุ” ที่ระบุบนฉลากยานั้น อาจไม่ใช่ภาษาไทยแต่เป็นภาษาอังกฤษ เช่น
- expiry
- expiry date
- expires
- exp
- exp date
- use by
- use before
สำหรับคำว่า “Use by” หรือ “Use before” แปลเป็นไทยได้ว่า “ควรใช้ก่อน” หากบนฉลากยาใช้คำนี้และระบุเพียงแค่ “เดือน/ปี” นั่นหมายความว่า คุณไม่ควรใช้ยานั้นหากถึงเดือนที่ระบุไว้แล้ว เช่น Use by 07/2020 ก็เท่ากับว่า คุณใช้ยาได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2020
อย่างไรก็ตาม หากคุณเก็บยาไม่เหมาะสม หรือไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยา ก็อาจทำให้ ยาเสื่อมสภาพ หรือมีคุณภาพลดลงได้เร็วกว่าวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากยาได้ โดยเฉพาะยาที่ไวต่อสภาวะแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง
ยาหมดอายุ ใช้ไม่ได้ผลจริงไหม
เมื่อยาหมดอายุ อาจทำให้สารประกอบเคมี (chemical composition) เปลี่ยนแปลงไป จนกระทบกับประสิทธิภาพของยา คือทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ อีกทั้งยาหมดอายุบางชนิดอาจยังเสี่ยงเป็นแหล่งเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หรือหากเป็นยาปฏิชีวนะที่หมดอายุก็อาจช่วยรักษาการติดเชื้อไม่ได้ จนนำไปสู่อาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงขึ้น หรือทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะได้ด้วย ฉะนั้น หากยาหมดอายุ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าอย่านำมาใช้ เพราะนอกจากยาจะไม่ได้ประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย
ยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ สังเกตได้ยังไงบ้าง
- ยาแคปซูล
- แคปซูลแข็ง หากหมดอายุจะบวมโป่ง อาจมีเชื้อราที่เปลือกแคปซูล ผงยาข้างในเปลี่ยนสี หรือเป็นก้อน
- แคปซูลนิ่ม เปลือกแคปซูลจะเยิ้มเหลว เหนียวกว่าปกติ หรือแคปซูลเปื่อยจนยาไหลออกมาด้านนอก
- ยาเม็ด เม็ดยาจะแตกร่วน สี่เปลี่ยนไป มีจุดเชื้อราขึ้น หากเป็นยาเม็ดเคลือบน้ำตาลอาจเหนียวเยิ้มหรือมีกลิ่นเปลี่ยนไป
- ยาผงแห้ง ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนจนไม่สามารถละลายน้ำได้ และหากที่ผนังขวดบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำเกาะอยู่ ก็แสดงว่ายาไม่เหมาะจะนำไปใช้งานอีกต่อไป
- ยาน้ำเชื่อม เมื่อยาหมดอายุจะขุ่น มีตะกอน ผงตัวยาละลายไม่หมด สี่เปลี่ยนไป รสเปรี้ยวหรือมีกลิ่นบูดเปรี้ยว
- ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคาลาไมน์ ยาลดกรด เมื่อเสื่อมสภาพตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม กลิ่น สี หรือรสเปลี่ยนไป
- ยาหยอดตา จากน้ำใสๆ กลายเป็นน้ำขุ่นๆ หยอดตาแล้วแสบตามากกว่าปกติ
- ยาครีม เนื้อครีมแยกตัว หรือหดตัวเนื่องจากการระเหยของน้ำ หรือสี่เปลี่ยนไป
- ยาเจล เนื้อเจลจากใสเปลี่ยนเป็นขุ่น และไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
- ยาขี้ผึ้ง ของเหลวจะแยกตัวออกมาเคลือบเยิ้มอยู่ที่ผิวหน้าของยา ความข้นหนืดเปลี่ยนไป และมีกลิ่นหืน
ยาเหล่านี้หมดอายุ ยิ่งต้องห้ามใช้เด็ดขาด
- ยากันชัก
- ยาไนโตรกลีเซอรีน
- ยาเตตราไซคลีน
- ยาวาร์ฟาริน
- ยาทีโอฟิลลีน
- ยาไดจอกซิน
- ยาพารัลดีไฮด์
- ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน
- ยาเอพิเนฟรีน
- อินซูลิน
- วัคซีน
- ยาชีววัตถุ
- ผลิตภัณฑ์เลือด
- ยาหยอดตา
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]