ข้อบ่งใช้
ยา ไซโคลสปอริน (ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย) ใช้สำหรับ
ยา ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ใช้เพื่อป้องกันการต่อต้านอวัยวะใหม่ในผู้ที่ทำการปลูกถ่ายตับ ไต หรือหัวใจ มักใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อให้อวัยวะใหม่นั้นทำงานได้อย่างเป็นปกติ ยาไซโคลสปอริน ยังใช้เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ขั้นรุนแรง (severe rheumatoid arthritis) และสภาวะของผิวบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง (severe psoriasis) ยาไซโคลสปอรินนั้นอยู่ในกลุ่มของยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressants) ทำงานโดยชะลอระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ ป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมที่ข้อต่อ (ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) และป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมที่ผิวหนัง (ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน) สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคอักเสบข้อรูมานอด์ มักจะใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาอื่น หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่สามารถบรรเทาอาการได้
ยา ไซโคลสปอริน ยังอาจใช้เพื่อป้องกันการต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น (เช่น กระจกตาหรือตับอ่อน) หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก นอกจากนี้ยังอาจใช้รักษาอาการที่อาจจะดีขึ้น หากมีการส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้ม เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
วิธีการใช้ยา ไซโคลสปอริน (ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย)
ยาไซโคลสปอรินมีทั้งยาสำหรับฉีดและยาสำหรับรับประทาน
ให้ยาไซโคลสปอรินเข้าทางหลอดเลือดดำตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือวันละครั้ง นานกว่า 2-6 ชั่วโมง หากคุณใช้ยาไซโคลสปอรินเองที่บ้าน ควรเรียนรู้วิธีการเตรียมตัวและใช้ยาจากแพทย์ ก่อนใช้ยาควรตรวจสอบหาฝุ่นละอองหรือการเปลี่ยนสีของยา หากมีไม่ควรใช้ยานั้น ควรเรียนรู้วิธีการเก็บรักษาและการกำจัดอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย
หากให้ยาไซโคลสปอรินเข้าทางหลอดเลือดดำ หนึ่งในส่วนผสมของยานี้อย่างน้ำมันละหุ่งโพลีออกซิเอทิเลต (polyoxyethylated castor oil) อาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงแต่พบได้ยาก หากคุณใช้ยานี้เองที่บ้าน ควรเตรียมตัวในการรักษาตัวเองตามที่แพทย์กำหนด หากเกิดอาการแพ้ขึ้น
หากใช้ยาแบบรับประทาน รับประทานยาไซโคลสปอรินโดยปกติ คือวันละครั้ง ในเวลาเดียวกันทุกวัน หรือตามที่แพทย์กำหนด อาจรับประทานพร้อมกับอาหาร หรือแยกต่างหาก แต่ควรเลือกทางใดทางหนึ่งตลอดไป ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ ระดับของยาไซโคลสปอรินในเลือด การทำงานของไต และการตอบสนองต่อการรักษา ควรทำตามตารางการใช้ยาอย่างเคร่งครัด
เพื่อเพิ่มรสชาติของยาน้ำ อาจผสมยากับนม นมช็อกโกแลต หรือน้ำส้ม ใช้กระบอกยาเพื่อตวงยาใส่ลงไปในแก้วนมหรือน้ำส้ม คนให้เข้ากันแล้วดื่มทันที ควรใช้ถ้วยแก้วไม่ใช่แบบโฟมพลาสติก เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับยาครบ ควรเติมน้ำลงไปในแก้ว คนให้เข้ากันแล้วดื่มซ้ำ
ใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำ ควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
ยาไซโคลสปอรินจะทำงานได้ดีที่สุด หากมีปริมาณของยาในร่างกายที่ระดับคงที่ ดังนั้น จึงควรใช้ยาโดยเว้นระยะเวลาให้เท่ากัน
หากคุณใช้ยาไซโคลสปอริน เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบ อาจต้องใช้เวลานานกว่า 4-8 สัปดาห์ กว่าจะสังเกตเห็นอาการที่ดีขึ้น และใช้เวลานานกว่า 4 เดือน กว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากยา
หากคุณใช้ยาไซโคลสปอรินเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน อาจต้องใช้เวลานานกว่า 2-4 สัปดาห์ กว่าจะสังเกตเห็นอาการที่ดีขึ้น และใช้เวลานานกว่า 4 เดือน กว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากยา ขนาดยาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นระหว่างการรักษา แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาเป็นเวลา 6 สัปดาห์ หรือใช้ยาในขนาดยาสูงสุดที่แนะนำแล้ว หากคุณใช้ยาไซโคลสปอรินเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องกันเกิน 1 ปี เว้นแต่แพทย์จะสั่ง
การเก็บรักษายา ไซโคลสปอริน (ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย)
ยาไซโคลสปอรินควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไซโคลสปอรินบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไม่ควรทิ้งยาไซโคลสปอรินลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำ ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง
ข้อควรระวังและคำเตือน
ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา ไซโคลสปอริน (ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย)
ก่อนใช้ยาไซโคลสปอริน
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ต่อยาไซโคลสปอริน ยาไซโคลสปอริน (ชนิดปรับโครงสร้าง) และยาอื่นๆ หรือส่วนประกอบที่ไม่ออกฤทธิ์ของยาแคปซูลหรือสารละลายไซโคลสปอรินหรือไซโคลสปอริน (ชนิดปรับโครงสร้าง) สอบถามเภสัชกรถึงรายชื่อของส่วนประกอบที่ไม่ออกฤทธิ์ทั้งหมด
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ หรือวางแผนที่จะใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง วิตามิน และอาหารเสริมต่างๆ โดยเฉพาะยาอะไซโคลเวียร์ (acyclovir) อย่าง โซไวแรกซ์ (Zovirax) ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) อย่าง ไซโลพริม (Zyloprim) ยาอะมิโอดาโรน (amiodarone) อย่าง คอร์ดาโรน (Cordarone) ยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (angiotensin-converting enzyme inhibitors) เช่น ยาเบนาซีพริล (benazepril) อย่าง โลเทนซิน (Lotensin) ยาแคปโตพริล (captopril) อย่างคาโพเทน (Capoten) ยาอีนาลาพริล (enalapril) อย่างวาโซเทค (Vasotec) ยาโฟซิโนพริล (fosinopril) อย่าง โมโนพริล (Monopril) ยาลิซิโนพริล (lisinopril) อย่าง พรินวิล (Prinivil) หรือเซสทริล (Zestril) ยาโมเอซิพริล (moexipril) อย่าง ยูนิวาสก์ (Univasc) ยาเพอรินโดพริล (perindopril) อย่าง เอสออน (Aceon) ยาควินาพริล (quinapril) อย่าง แอคคูพริล (Accupril) ยารามิพริล (ramipril) อย่าง อัลเทส (Altace) และยาทรานโดลาพริล (trandolapril) อย่าง มาวิก (Mavik) ยาในกลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (angiotensin II receptor antagonists) เช่น ยาแคนดีซาร์แทน (candesartan) อย่าง อะทาแคนด์ (Atacand) ยาอิโพรซาร์แทน (eprosartan) อย่าง เทเวเทน (Teveten) ยาเออร์บีซาร์แทน (irbesartan) อย่าง อะวาโพร (Avapro) ยาลอซาร์แทน (losartan) อย่าง โคซาร์ (Cozaar) ยาโอล์มีซาร์แทน (olmesartan) อย่าง เบนิคาร์ (Benicar) ยาเทลมิซาร์แทน (telmisartan) อย่าง ไมคาร์ดิส (Micardis) และยาวาลซาร์แทน (Valsartan) อย่าง ไดโอแวน (Diovan) ยาต้านเชื้อราบางชนิด เช่น ยาฟลูโคนาโซล (fluconazole) อย่าง ไดฟลูแคน (Diflucan) และยาไอทราโคนาโซล (itraconazole) อย่าง สโปรานอกซ์ (Sporanox) ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) อย่างไซโทรแมกซ์ (Zithromax) ยาโบรโมคริปทีน (bromocriptine) อย่าง พาร์โลเดล (Parlodel) ยาในกลุ่มแคลเซียมชาแนลบล็อกเกอร์ (calcium channel blockers) เช่น ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) อย่าง คาร์ดิเซม (Cardizem) ยานิคาร์ดิปีน (nicardipine) อย่าง คาร์เดน (Cardene) และยาเวราพามิล (verapamil) อย่าง คาแลน (Calan) ยาคาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) อย่าง เทเกรทอล (Tegretol) ยาลดระดับของคอเลสเตอรอลหรือยาในกลุ่มสแตติน (statins) เช่น ยาอะทอร์วาสแตติน (atorvastatin) อย่าง ไลปิทอร์ (Lipitor) ยาฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) อย่าง เลสคอล (Lescol) ยาโลวาสแตติน (lovastatin) อย่าง เมวาคอร์ (Mevacor) ยาปราวาสแตติน (pravastatin) อย่าง ปราวาคอล (Pravachol) และยาซิมวาสแตติน (simvastatin) อย่าง โซคอร์ (Zocor) ยาคลาริโทรมัยซิน (clarithromycin) อย่าง ไบอาซิน (Biaxin) ยาดาลโฟพริสทิน (dalfopristin) ร่วมกับยาควินูพริสทิน (quinupristin) อย่างไซเนอร์ซิด (Synercid) ยาดานาซอล (danazol) ยาไดจอกซิน (digoxin) อย่าง ลานอกซิน (Lanoxin) ยาขับปัสสาวะ (diuretics) หรือยาขับน้ำ (water pills) บางชนิด เช่น ยาอะมิโลไรด์ (amiloride) อย่าง ไมดามอร์ (Midamor) ยาสไปโรโนแลคโตน (spironolactone) อย่าง อัลแดคโทน (Aldactone) และยาไตรแอมเทอรีน (triamterene) อย่าง ดยาไซด์ (Dyazide) ยาอิริโทรมัยซิน (erythromycin) ยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV protease inhibitors) เช่น ยาอินดินาเวียร์ (indinavir) อย่าง ไครซิแวน (Crixivan) ยาเนวฟินนาเวียร์ (nelfinavir) อย่าง ไวราเซป (Viracept) ยาริโทนาเวียร์ (ritonavir) อย่าง นอร์เวียร์ (Norvir) ในเคลทรา (in Kaletra) และยาซาควินาเวียร์ (saquinavir) อย่าง ฟอร์โทวาส (Fortovase) ยาอิมมาตินิบ (imatinib) อย่าง กลีเวค (Gleevec) ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) อย่าง รีแกลน (Reglan) ยาเมทิลเพรดนิโซโลน (methylprednisolone) อย่าง เมดรอล (Medrol) ยานาฟซิลลิน (nafcillin) ยาออกทรีโอไทด์ (octreotide) อย่าง แซนโดสแตติน (Sandostatin) ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน ยาออริสแตท (orlistat) อย่าง เซนิคาล (Xenical) ยาฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) ยาเฟนิโทอิน (phenytoin) อย่าง ดิลแลนทิน (Dilantin) อาหารเสริมโพแทสเซียม ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) อย่าง เพไดอาเพรด (Pediapred) ยารีพาไกลไนด์ (repaglinide) อย่าง พรานดิน (Prandin) ยาไรฟาบูดิน (rifabutin) อย่าง ไมโคบูทิน (Mycobutin) ยาไรแฟมพิน (rifampin) อย่างไรฟาดิน (Rifadin) หรือไรแมคเทน (Rimactane) ยาซัลฟินไพราโซน (sulfinpyrazone) อย่าง แอนทูเรน (Anturane) ยาเทอร์บินาฟีน (terbinafine) อย่างลามิซิล (Lamisil) และยาทิโคลพิดีน (ticlopidine) อย่าง ไทซิลิด (Ticlid) แพทย์อาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด
- หากคุณกำลังใช้ยาไซโรลิมัส (sirolimus) อย่าง ราพามูน (Rapamune) ควรรับประทาน 4 ชั่วโมงหลังจากที่รับประทานยาไซโคลสปอริน หรือยาไซโคลสปอริน (ชนิดปรับโครงสร้าง)
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับสมุนไพรที่คุณกำลังใช้โดยเฉพาะสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ท (St. John’s wort)
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณเป็นหรือเคยเป็นโรคดังต่อไปนี้ ได้แก่ ระดับคอเลสเตอรอลต่ำ ระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ สภาวะใดๆ ที่ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ลำบากขึ้น หรือโรคตับ
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หากคุณตั้งครรภ์ระหว่างการใช้ยาไซโคลสปอริน โปรดแจ้งแพทย์ในทันที ยาไซโคลสปอรินทั้ง 2 ชนิด สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเร็วเกินไปได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตร
- อย่ารับวัคซีนโดยไม่ปรึกษากับแพทย์
- ยาไซโคลสปอรินอาจทำให้เนื้อเยื่อส่วนเกินโตขึ้นในเหงือกได้ ควรแปรงฟันด้วยความระมัดระวังและไปหาทันตแพทย์เป็นประจำระหว่างการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง
ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา
ยาไซโคลสปอรินจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้
- A= ไม่มีความเสี่ยง
- B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
- C= อาจจะมีความเสี่ยง
- D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
- X= ห้ามใช้
- N= ไม่ทราบแน่ชัด
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของการใช้ยาไซโคลสปอริน (ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย)
รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันทีหากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้
- เป็นไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดร่างกาย มีอาการของไข้หวัดใหญ่ มีแผลที่ปากหรือลำคอ น้ำหนักลด
- เกิดความเปลี่ยนแปลงในสภาพจิตใจ มีปัญหากับการพูดหรือการเดิน การมองเห็นลดลง (อาจเริ่มเป็นช้าๆ แล้วอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว)
- มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย ผิวซีด สับสนหรืออ่อนแรง
- รู้สึกเวียนศีรษะหรือหายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว มีปัญหากับการรวบรวมสมาธิ
- มีอาการปวดที่หล้งส่วนล่างหรือด้านข้าง มีเลือดปนในปัสสาวะ มีอาการปวดหรือแสบร้อนเวลาปัสสาวะ
- ปัสสาวะน้อยกว่าปกติหรือไม่ปัสสาวะเลย น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีอาการบวม ร้อน แดง หรือน้ำเหลืองเยิ้มที่ผิวหนัง
- อาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด
- มีอาการชัก
- ระดับโพแทสเซียมสูง (หัวใจเต้นช้า ชีพจรอ่อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกเหน็บชา)
- คลื่นไส้ ปวดกระเพาะส่วนบน คัน เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีคล้ำ อุจจาระสีดินเหนียว ดีซ่าน (ดวงตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง)
- ความดันโลหิตสูงจนอันตราย (ปวดหัวอย่างรุนแรง มองเห็นไม่ชัด มีเสียงพึมพัมในหู วิตกกังวล ปวดหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นไม่เท่ากัน)
ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่ามีดังนี้
- มีอาการบวมหรือปวดที่เหงือก
- ปวดหัวในระดับเบา
- ปวดท้อง ท้องผูก ท้องร่วงในระดับเบา
- มีอาการสั่นเทา กล้ามเนื้อกระตุก เหน็บชา
ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร
ปฏิกิริยาของยา
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ยาไซโคลสปอรินอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่าคุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาแคสโปฟังกิน (Caspofungin) ยาโคลทาร์ (coal tar) ยาอีเซทิไมบ์ (ezetimibe) ยาซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone) ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ยาเทมไซโรลิมัส (temsirolimus) ยาเทอร์ไบนาฟีน (terbinafine) ยาที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงหรือเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นๆ เช่น นาทาลิซูแมบ (natalizumab) ริทูซิแมบ (rituximab) โทฟาซิทินิบ (tofacitinib) ยาที่ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับไตรุนแรงขึ้น เช่น อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) ยาปฏิชีวนะอะมิโนไกลโคไซด์ (aminoglycoside antibiotics) อย่าง โทบรามัยซิน (tobramycin) แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) โคลชิซิน (colchicine) เมลฟาแลน (Melphalan) แรนิทิดีน (ranitidine) ยาซัลฟ่า (sulfa) อย่าง ซัลฟาเมทอกซาโซน (Sulfamethoxazole) แวนโคมัยซิน (vancomycin) ยาที่อาจเพิ่มระดับของโพแทสเซียมอย่าง อาหารเสริมโพแทสเซียม ยาขับน้ำอย่างอะมิโลไรด์ (amiloride) หรือสไปโรโนแลกโทน (spironolactone)
ยาอื่นอาจส่งผลกระทบต่อการกำจัดยาไซโคลสปอรินออกจากร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของยานี้ได้ เช่น อัลโลพูรินอล (allopurinol) อะมิโอดาโรน (amiodarone) ยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturate) อย่างฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) โบซีพรีเวียร์ (Boceprevir) โบเซนแทน (Bosentan) ยาในกลุ่มแคลเซียมชาแนลบล็อกเกอร์ (calcium channel blockers) อย่างดิลไทอะเซม (Diltiazem) ไนเฟดิปีน (nifedipine) เวราพามิล (verapamil) ไซเมทิดีน (Cimetidine) ยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV protease inhibitors) อย่างอินดินาเวียร์ (Indinavir) อิมมาตินิบ (imatinib) ยาฮอร์โมนเพศชายสังเคราะห์ อย่างดานาซอล (Danazol) เมทิลเทสโทสเตอโรน (Methyltestosterone) เมทิลเพรดนิโซโลน (methylprednisolone) เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) มิฟีพริสโตน (Mifepristone) นาฟซิลลิน (Nafcillin) เนฟาโซโดน (nefazodone) ออกทรีโอไทด์ (octreotide) ออริสแตท (orlistat) ควินูพริสทิน (quinupristin) ดาลโฟพริสทิน (dalfopristin) ยาไรฟามัยซิน (Rifamycin) อย่างไรแฟมพิน (rifampin) หรือไรฟาบูทิน (rifabutin) ยาต้านชักบางชนิด อย่างคาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) หรือเฟนิโทอิน (phenytoin) สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ท (St. John’s wort) เทลาพริเวียร์ (telaprevir) ทิโคลพิดีน (Ticlopidine) และอื่นๆ
ยานี้อาจชะลอการกำจัดยาอื่นออกจากร่างกายซึ่งส่งผลประทบต่อการทำงานของยานั้นได้ เช่น อะลิสคิเรน (Aliskiren) แอมบริเซนแทน (ambrisentan) ไดจอกซิน (digoxin) โดรเนดาโรน (dronedarone) รีพาไกลไนด์ (Repaglinide) โทลเทโรดีน (tolterodine) ยาในกลุ่มสแตติน (statins) อย่างอะทอร์วาสแตติน (atorvastatin) โลวาสแตติน (lovastatin) พิทาวาสแตติน (pitavastatin) โรซูวาสแตติน (rosuvastatin) ซิมวาสแตติน (simvastatin) ยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ เช่นอะซาไธโอพรีน (azathioprine) เมโธเทรกเซท (methotrexate) ไซโรลิมัส (Sirolimus) และอื่นๆ
อย่าใช้สารทดแทนเกลือที่มีโพแทสเซียมขณะที่ใช้ยานี้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์
ยาไซโคลสปอรินอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- เกรฟฟรุตหรือน้ำเกรฟฟรุต
ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น
ยาไซโคลสปอรินอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะ
- มีอาการแพ้ต่อน้ำมันละหุ่งโพลีออกซิเอทิเลต อย่าง ครีโมฟอร์ อีแอล (Cremophor® EL) ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการนี้
- ภาวะโลหิตจาง
- ปัญหาเกี่ยวกับเลือดออก
- โรคทางสมอง เช่น มีพยาธิสภาพที่สมอง (encephalopathy)
- โรคมะเร็ง
- ปัญหาเกี่ยวกับตาหรือการมองเห็น เช่นภาวะขั้วประสาทตาบวม (papilloedema)
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia)
- ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะกรดยูริคในเลือดสูง (Hyperuricemia)
- โรคไต
- โรคตับ
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังก่อนเป็นโรคมะเร็ง (Precancerous)
- เคยมีอาการชัก
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง อาจทำให้อาการแย่ลง
- ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ (Hypocholesterolemia)
- ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพยาธิสภาพที่สมอง
- การติดเชื้อ อาจลดความสามารถในการต่อสู้กับการติดเชื้อของร่างกาย
ขนาดยา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
ขนาดยาไซโคลสปอรินสำหรับผู้ใหญ่
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ – ป้องกันการต่อต้าน
- 2-4 มก./กก./วัน หยอดยาเข้าหลอดเลือดดำวันละครั้งนานกว่า 4-6 ชั่วโมง หรือ
- 1-2 มก./กก. หยอดยาเข้าหลอดเลือดดำวันละสองครั้งนานกว่า 4-6 ชั่วโมง หรือ
- 2-4 มก./กก./วัน หยอดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง
- ยาแคปซูล : 8-12 มก./กก./วัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
- ยาสารละลาย: 8-12 มก./กก. รับประทานวันละครั้ง
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
- ยาไซโคลสปอรินรูปแบบสำหรับอิมัลชัน (emulsion) : 5 มก./กก./วัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง หากเป็นไปได้ควรหยุดใช้ยาแก้อักเสบ เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงการเป็นพิษต่อไต ขนาดยาสูงสุดของขนาดยา 5 มก./กก./วัน และแนะนำว่าระดับการเพิ่มขึ้นของยาในเซรั่มครีอะตินีน (Creatinine) ไม่ควรเกินกว่า 30% จากค่าพื้นฐานเพื่อลดผลการเป็นพิษต่อไต
- ยาไซโคลสปอรินแบบแคปซูล – ขนาดยาเริ่มต้น : 1.25 มก./กก. รับประทานวันละสองครั้ง
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อโรคลำไส้อักเสบชนิดมีแผล (Ulcerative Colitis) – มีอาการ
- เมื่อดื้อต่อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) : 4 มก./กก./วัน หยอดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาที่ดื้อยา (Refractory plaque-type psoriasis) : ยาไซโคลสปอรินรูปแบบสำหรับอิมัลชัน : 2.5 มก./กก./วัน แบ่งรับประทานในขนาดที่เท่ากัน 2 ครั้ง
- ยาไซโคลสปอรินรูปแบบแคปซูล – ขนาดยาเริ่มต้น : 1.25 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง
ขนาดยาไซโคลสปอรินสำหรับเด็ก
ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ – ป้องกันการต่อต้าน
- ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ : 2-4 มก./กก./วัน หยอดยาเข้าหลอดเลือดดำวันละครั้งนานกว่า 4-6 ชั่วโมง หรือ
- 1-2 มก./กก. หยอดยาเข้าหลอดเลือดดำวันละสองครั้งนานกว่า 4-6 ชั่วโมง หรือ
- 2-4 มก./กก./วัน หยอดยาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง
- ยาแคปซูล : 8-12 มก./กก./วัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
- ยาสารละลาย : 8-12 มก./กก. รับประทานวันละครั้ง
รูปแบบของยา
ความแรงและรูปแบบของยา มีดังนี้
- ยาสารละลายสำหรับรับประทาน : 100 มก./มล.
- ยาแคปซูลสำหรับรับประทาน : 25 มก. 100 มก.
- ยาสำหรับหยอดเข้าหลอดเลือดดำ : 50 มก./มล.
กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด
หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที
อาการของการใช้ยาเกินขนาดมีดังนี้
- ผิวหรือดวงตาเป็นสีเหลือง
- มีอาการบวมที่แขน มือ เท้า ข้อเท้า หรือขาส่วนล่าง
กรณีลืมใช้ยา
หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]