backup og meta

พัฒนาสมอง เพิ่มพูนความจำ ป้องกันสมองเสื่อม ได้ง่ายๆ ด้วยการ บริหารสมอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/06/2020

    พัฒนาสมอง เพิ่มพูนความจำ ป้องกันสมองเสื่อม ได้ง่ายๆ ด้วยการ บริหารสมอง

    เราทุกคนอาจจะรับรู้กันดีอยู่แล้วถึงความสำคัญของการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อเพื่อช่วยรักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรง แต่หลายคนอาจจะมองข้ามถึงความสำคัญของการ บริหารสมอง เพื่อช่วยรักษาคงสภาพของสมอง ให้ยังคงแข็งแรง ปราดเปรื่อง และไม่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา

    ทำไมเราจึงควร บริหารสมอง

    สมองของเรานั้นก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ ที่จะเสื่อมถอย และสูญสลายไปตามกาลเวลา หากเราไม่คอยใช้งานมันอยู่เสมอ เปรียบเหมือนกับผู้ป่วยติดเตียงที่สูญเสียกล้ามเนื้อไปเพราะไม่ได้ใช้งาน ดังนั้น หากเราไม่ต้องการให้สมองฝ่อ สูญเสียความสามารถในการงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันความเสียหายต่อระบบประสาทเนื่องจากอายุ และชะลอการสูญเสียความทรงจำ คุณก็ควรที่จะออกกำลังกายสมอง ด้วยการบริหารสมองอย่างถูกวิธี

    การบริหารสมอง จะช่วยพัฒนาความจำ การโฟกัส หรือการทำงานของสมองตามปกติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อคุณมีอายุเพิ่มมากขึ้น สมองก็จะเริ่มเสื่อมสภาพลง อะไรที่เคยจำได้ก็เริ่มลืมเลือน จากที่เคยคิดอย่างว่องไวก็จะเชื่องช้าลง การบริหารสมองจะช่วยลับสมองให้กลับมามีความคมชัด สามารถคิดได้ฉับไว และชะลอการเสื่อมสภาพของสมองที่เกิดขึ้นตามอายุ ทำให้เราไม่หลงๆ ลืมๆ แม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม

    การบริหารสมองทำได้แค่เฉพาะวัยเด็กจริงเหรอ

    หลายคนมักจะมีความเชื่อที่ว่า การบริหารสมองนั้นทำได้แค่เฉพาะขณะที่คุณยังเป็นเด็ก และสมองกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเท่านั้น แต่ความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นักวิทยาศาสต์ได้ทำศึกษาค้นพบว่า สมองของมนุษย์นั้น มีความสามารถอันน่าอัศจรรย์ ในการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้แต่ในช่วงวัยสูงอายุ

    เราเรียกความสามารถของสมองนี้ว่า “ความยืดหยุ่นของสมอง” (Neuroplasticity) หมายถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของสมองได้อย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต หากคุณทำการกระตุ้นสมองอย่างถูกวิธี สมองของคุณก็จะสามารถสร้างทางเดินประสาทใหม่ ปรับเปลี่ยนเส้นทางเชื่อมต่อที่มีอยู่เดิม ปรับเปลี่ยน และตอบสนองในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้สมองยังคงมีความคมชัด ลดการเสื่อมของสมอง แม้ว่าจะมีอายุที่มากขึ้น

    เทคนิคในการบริหารสมอง

    เกมลับสมอง

    เกมลับสมองต่างๆ เช่น จิ๊กซอว์ เกมไขปริศนา อักษรไขว้ หรือปัญหาเชาว์ เกมที่ทำให้คุณได้มีโอกาสในการใช้สมองเพื่อขบคิดไขปัญหาเหล่านี้ จะเป็นตัวลับสมองชั้นดี ที่ช่วยให้คุณได้บริหารสมองด้วยการ ได้ฝึกคิด และฝึกแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้เราได้ใช้สมองมากยิ่งขึ้น และทำให้สมองไม่เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วอีกด้วย

    ทดสอบความจำ

    ลองสร้างลิสต์รายการต่างๆ เช่น รายการของที่ต้องซื้อ สิ่งของที่ต้องทำ แล้วพยายามจำรายการเหล่านั้นให้หมด และไปซื้อของ หรือทำตามรายการเหล่านั้นให้ถูกต้องโดยไม่ต้องดูลิสต์เหล่านั้นอีกครั้ง คุณอาจเริ่มจากการลิสต์รายการเพียงเล็กน้อย ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณและความยากมากขึ้นในภายหลัง

    ฟังเพลง

    มีงานวิจัยในปี 2017 ที่พบว่า เสียงเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน และมีความสุข จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแก้ไขปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าการอยู่ในห้องเงียบๆ ดังนั้นการเปิดฟังเพลงเบาๆ จะช่วยให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คุณได้ใช้ความคิด และช่วยในการบริหารสมองของคุณได้ดีขึ้น

    ลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัด

    ลองเริ่มฝึกใช้มือข้างที่ไม่ถนัด เช่น หากคุณเป็นคนถนัดขวา ให้ลองพยายามเขียนหรือวาดรูปอะไรก็ได้ด้วยมือข้างซ้ายแทน เพราะการใช้มือข้างที่ไม่ถนัดนั้นจะเป็นการท้ายทายความสามารถของสมอง และช่วยให้สมองของคุณได้ทำงานมากยิ่งขึ้น

    นั่งสมาธิ

    การทำสมาธิ ผ่อนลมหายใจ เป็นวิธีในการบริหารสมองที่ได้ประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก มีงานวิจัยที่พบว่า การทำสมาธิสามารถช่วยให้ระบบประสาทภายในสมอง ได้พัฒนาเส้นทางสื่อประสาทใหม่ๆ เพิ่มทักษะในการสังเกตการเรียนรู้ และเพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจ ทำให้สมองและจิตใจสงบ นอกจากนี้งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่าการทำสมาธินั้นจะช่วยให้เราสามารถโฟกัส ให้ความสนใจ และจำสิ่งต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

    เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

    มีงานวิจัยที่พบว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น ฝึกเล่นเครื่องดนตรี ฝึกซ่อมของ หรือประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของสมอง เพิ่มการทำงานของสมอง และช่วยให้สมองของคุณสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

    เรียนภาษาเพิ่มเติม

    จากการศึกษาวิจัยในปี 2012 พบว่า ผู้ที่ใช้ภาษามากกว่า 2 ภาษาขึ้นไป สามารถช่วยให้มีความจำดีขึ้น พัฒนาทักษะทางด้านมิติสัมพันธ์ หรือการมองเห็นรับรู้อย่างรอบด้าน ทั้งยังช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษาเปลี่ยนไปมา 2 ภาษาอย่างคล่องแคล่วยังช่วยชะลอความเสื่อมถอยของสมองได้อีกด้วย

    เข้าสังคม

    มีงานวิจัยในปี 2019 ที่พบว่า ผู้ที่เข้าสังคมเป็นประจำ นั้นจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยเข้าสังคม การเข้าสังคมนั้นจะใช้งานสมองหลายๆ ส่วนพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การเล่นกีฬาเป็นทีม หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น เป็นการฝึกบริหารสมองที่มีประสิทธิภาพ

    Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา