backup og meta

ปวดหัวข้างเดียว เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

ปวดหัวข้างเดียว เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

ปวดหัวข้างเดียว เป็นอาการที่อาจพบได้บ่อย โดยอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสมอง เซลล์ประสาท กะโหลกศีรษะ หรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น หูอักเสบ ความผิดปกติของสายตา โพรงจมูกอักเสบ อุบัติเหตุ ดังนั้น จึงควรสังเกตความรุนแรงของอาการปวดหัวข้างเดียวอยู่เสมอ หากอาการแย่ลงควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-heart-rate]

ปวดหัวข้างเดียว เกิดจากอะไร

อาการปวดหัวข้างเดียวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากปัจจัยภายในร่างกายหรือปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดอาการ ดังนี้

ปัจจัยภายในร่างกาย

  • ความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง
  • ความผิดปกตินอกเหนือจากสมอง เช่น หูอักเสบ ความผิดปกติของสายตา โพรงจมูกอักเสบ ความดันโลหิตสูง ไมเกรน ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อ
  • สภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า
  • การออกกำลังกายและการมีเพศสัมพันธ์อย่างหนัก
  • ความเหนื่อยล้าและความอ่อนเพลีย
  • การรับประทานของเย็นจัด
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ปัจจัยภายนอกร่างกาย

การกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะอย่างรุนแรง เช่น รถชน หกล้ม อาจส่งผลทำให้สมอง กะโหลกศีรษะ หรือเซลล์ประสาทบางส่วนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียวได้

ปวดหัวข้างเดียว อันตรายหรือไม่

ปวดหัวข้างเดียว เป็นอาการปวดหัวเพียงข้างใดข้างหนึ่งที่อาจพบได้บ่อย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไมเกรน ความเครียด ความผิดปติในสมอง ความผิดปกติของหู สายตาหรือจมูก โดยอาการปวดหัวข้างเดียวอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เป็น ๆ หาย ๆ และสามารถหายได้เอง หรือบางอาการอาจเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังเป็นเวลานานและเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการปวดหัวข้างเดียว หากมีอาการต่อไปนี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัย

  • อาการปวดหัวข้างเดียวรุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • อาการปวดหัวข้างเดียวอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะหากอาการปวดหัวรุนแรงจนทำให้ตื่นกลางดึก
  • อาการปวดหัวข้างเดียวที่เกิดขึ้นจากการได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ เช่น อุบัติเหตุ หกล้ม
  • อาการปวดหัวข้างเดียวที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการทางร่างกายอื่น ๆ เช่น ไอ มีไข้ แน่นหน้าอก อ่อนล้า อ่อนเพลีย
  • อาการปวดหัวข้างเดียวที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น อาการชัก ความจำ การมองเห็น การได้ยิน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ควรระวังผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพราะอาจมีแนวโน้มเกิดอาการปวดหัวข้างเดียวได้อย่างเฉียบพลัน

ประเภทของอาการปวดหัวข้างเดียว

อาการปวดหัวข้างเดียวอาจมี 4 ประเภท โดยอาจมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) เป็นอาการปวดหัวข้างเดียวที่มีความรุนแรงมาก อาจปวดด้านในหรือรอบ ๆ ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากจนต้องตื่นกลางดึก
  2. ปวดหัวข้างเดียวเรื้อรัง (Hemicrania Continua) เป็นอาการปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบริเวณด้านใดด้านหนึ่งของศีรษะ โดยอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งบางคนอาจมีอาการน้ำมูกไหลและน้ำตาไหลร่วมด้วย
  3. อาการปวดศีรษะครึ่งซีกเป็นพัก ๆ (Paroxysmal Hemicrania) มีอาการคล้ายกับอาการปวดหัวแบบเรื้อรัง แต่อาการปวดหัวข้างเดียวจะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นกว่า
  4. ปวดหัวระยะสั้นร่วมกับอาการตาแดงและน้ำตาไหล (Short-lasting Unilateral Neuralgiform Headache Attacks With Conjunctival Injection And Tearing หรือ SUNCT) และ ปวดหัวระยะสั้นร่วมกับความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Short-lasting Unilateral Neuralgiform Headache Attacks With Cranial Autonomic Symptoms หรือ SUNA) เป็นอาการปวดหัวข้างเดียวที่มีสาเหตุมาจากการฉีกขาดของเยื่อบุตา หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นร่วมกับอาการน้ำตาไหลและน้ำมูกไหล

อาการปวดหัวข้างเดียว

อาการปวดหัวข้างเดียวที่อาจพบได้บ่อย มีดังนี้

  • อาการปวดที่เกิดขึ้นภายในหรือภายนอกรอบ ๆ ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจปวดกระจายไปยังศีรษะ ใบหน้า และคอ
  • อาการปวดหัวเกิดขึ้นข้างเดียว
  • อาการกระสับกระส่าย มึงงง สับสน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการปวดเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
  • อาการปวดอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานตั้งแต่ 15 นาที ถึง 3 ชั่วโมง
  • อาการปวดอาจเกิดขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ ใน 1 วัน
  • อาการปวดมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืน จนอาจรบกวนการนอนหลับ หรือทำให้ตื่นกลางดึก
  • อาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล บวมรอบดวงตา เปลือกตาหย่อน คัดจมูก น้ำมูกไหล เหงื่อแตกที่หน้าผากหรือใบหน้าข้างที่ได้รับผลกระทบ
  • ใบหน้าที่สีแดงหรือซีด

การรักษาอาการปวดหัวข้างเดียว

การรักษาอาการปวดหัวนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น อาจทำได้ดังนี้

ปวดหัวข้างเดียวที่เกิดจากไมเกรน

สามารถใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ทริปแทน (Triptans) ลาสมิดิทัน (Lasmiditan) ไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) ยาต้านอาการคลื่นไส้ (Anti-Nausea Drugs) ยาโอปิออยด์ (Opioid)

ปวดหัวข้างเดียวที่เกิดจากอาการปวดหัวคลัสเตอร์

  • การรักษาแบบออกฤทธิ์เร็ว ได้แก่ การสูดดมออกซิเจนบริสุทธิ์ การฉีดยาทริปแทน การใช้ยาออคทรีโอไทด์ (Octreotide) การฉีดยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน
  • การรักษาเชิงป้องกัน ได้แก่ ตัวบล็อกช่องแคลเซียม ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยาลิเธียมคาร์บอเนต (Lithium Carbonate) การใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Noninvasive Vagus Nerve Stimulation หรือ VNS) การฉีดยาชาบล็อกเส้นประสาท

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cluster headache. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/symptoms-causes/syc-20352080. Accessed January 16, 2023

Cluster headache-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/diagnosis-treatment/drc-20352084. Accessed January 16, 2023

Headache: When to worry, what to do. https://www.health.harvard.edu/pain/headache-when-to-worry-what-to-do. Accessed January 16, 2023

Short Lasting Unilateral Neuralgiform Headache. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK559088/#:~:text=Short%2Dlasting%20unilateral%20neuralgiform%20headache,condition%20has%20been%20updated%20recently. Accessed January 16, 2023

เรื่องของการปวดหัวข้างเดียว. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/เรื่องของการปวดหัวข้าง/. Accessed January 16, 2023

อาการปวดศีรษะข้างเดียว. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/อาการปวดศีรษะข้างเดียว/. Accessed January 16, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดหัวข้างขวา สาเหตุ อาการ และการรักษา

ปวดหัวข้างซ้าย สาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 19/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา