backup og meta

อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไร

อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไร

อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจเกิดจากร่างกายไม่สามารถลำเลียงเลือดไปยังสมองได้ตามปกติ ทำให้เนื้อสมองบางส่วนไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารเพียงพอ ส่งผลให้เซลล์สมองเสียหายและถูกทำลายอย่างรวดเร็ว อาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ล้มลงกระทันหัน พูดลำบาก สับสนมึนงง สายตาพร่ามัว ผู้ที่มีมีอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ควรถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสียหายถาวรและการเสียชีวิตได้

[embed-health-tool-bmi]

สาเหตุของ อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ

อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ มักเกิดจากหลอดเลือดตีบตันหรือหลอดเลือดสมองมีลิ่มเลือดอุดกั้นจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังเนื้อสมองส่วนต่าง ๆ ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะเลือดออกในเนื้อสมองและภาวะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง ที่ทำให้มีเลือดคั่งสะสมและกดอัดเนื้อเยื่อสมอง แต่อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเนื่องจากมีภาวะเลือดออกในสมองเป็นกรณีที่พบได้น้อยกว่ากรณีแรก โดยปกติแล้วเลือดจะลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังเซลล์สมอง หากสมองได้รับเลือดไม่เพียงพอนำไปใช้เป็นพลังงาน จะทำให้เซลล์สมองตายและเสียหายถาวร หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจมีดังนี้

  • พันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อาจเสี่ยงเกิดอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอได้มากกว่าคนทั่วไป
  • อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงเกิดอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
  • การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสกับควันบุหรี่มือสองจะได้รับสารพิษในบุหรี่อย่างนิโคติน (Nicotin) ที่ส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายรวมไปถึงบริเวณเนื้อสมองได้น้อยลง
  • ภาวะความดันโลหิตสูง หากมีระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจทำให้หลอดเลือดที่นำออกซิเจนไปยังเส้นประสาทบางส่วนในสมองถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
  • ภาวะคอเลสเตอรอลสูง เมื่อมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง อาจทำให้ไขมันไปอุดตันหลอดเลือดแดง ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติ
  • การใช้ฮอร์โมน การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การบำบัดด้วยฮอร์โมน (Hormone therapies) ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ

อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นอย่างไร

อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจะมีลักษณะที่แตกต่างไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับว่าสมองส่วนไหนที่ได้รับเลือดไม่เพียงพอ อาการที่พบอาจมีดังนี้

  • มีปัญหาในการพูดและทำความเข้าใจ ผู้ที่มีอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ พูดไม่ชัด ติดอ่าง หรืออาจมีอาการสับสนมึนงง สูญเสียความทรงจำกะทันหัน ไม่เข้าใจคำพูดของคู่สนทนา
  • อัมพาตหรืออาการชา อาจมีอาการอ่อนแรงหรือชาบริเวณร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน เช่น ใบหน้า มือ ขา แขน เท้า
  • มีปัญหาด้านการมองเห็น อาจมีอาการสายตาพร่ามัวฉับพลัน อาจเกิดกับตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • ปวดศีรษะ อาจมีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน และหมดสติอย่างรวดเร็ว
  • ไม่สามารถทรงตัวได้ อาจเวียนศีรษะจนล้มลงและไม่สามารถเดินหรือประคองตัวได้ตามปกติ

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ

เมื่อเกิดอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายลำเลียงเลือดไปยังสมองบางส่วนได้น้อยลง ทำให้เนื้อเยื่อสมองไม่ได้รับสารอาหารและออกซิเจนที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ส่งผลให้เซลล์สมองค่อย ๆ ตายในไม่กี่นาที และมักมีอาการตาพร่ามัว ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดลำบาก เป็นต้น โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจสร้างความเสียหายต่อเนื้อสมองอย่างถาวรได้ ทั้งนี้ หากนำตัวส่งโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่นาน ก็อาจช่วยลดความเสียหายของสมองและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
  • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack หรือ TIA) เป็นภาวะที่มีอาการเดียวกับโรคหลอดเลือดสมอง แต่อาจรุนแรงน้อยกว่า โดยจะมีอาการไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากเกิดอาการเกิน 1 ชั่วโมงอาจทำให้พิการถาวรได้ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวอาจเป็นสัญญาณว่าการไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์สมองเกิดปัญหา และเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ในภายหลัง หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

วิธีป้องกัน อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ

วิธีป้องกัน อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจทำได้ดังนี้

  • ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด คาร์ไบไฮเดรตไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท และรับประทานยาที่ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงบ่อยเกินไป เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันเต็มส่วน เพื่อลดการสะสมของคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด
  • เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง อีกทั้งการเลิกบุหรี่ยังดีต่อสุขภาพโดยรวมของตัวเองและคนรอบข้าง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ เล่นเทนนิส เล่นแบดมินตัน อาจช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ช่วยลดความเครียด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะคอเลสเตอรอลสูง
  • เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือจำกัดปริมาณการดื่มให้เหมาะสม ไม่เกิน 1-2 แก้ว/วันหรือ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ คนรอบข้างควรสอบถามผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการตามแบบทดสอบที่เรียกว่า FAST ดังต่อไปนี้ หากพบว่ามีอาการเข้าข่ายทั้งหมด ควรพาไปพบคุณหมอทันที

  • F – Face : ขอให้ผู้ป่วยยิ้ม ให้สังเกตว่าปากเบี้ยวหรือมุมปากตกผิดปกติหรือไม่
  • A – Arm : ขอให้ผู้ป่วยยกแขนทั้งสองข้างขึ้น ให้สังเกตว่าไม่สามารถยกแขนข้างใดข้างหนึ่งขึ้นสูงหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่
  • S – Speech : ขอให้ผู้ป่วยลองพูดทวนประโยคง่าย ๆ 1 ประโยค ให้สังเกตว่าพูดตะกุกตะกัก พูดลำบาก พูดไม่ชัดหรือไม่
  • T – Time : คือ เวลาที่ควรพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ไม่ควรเกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง (270 นาที) หลังมีอาการครั้งแรก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stroke. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stroke/symptoms-causes/syc-20350113. Accessed January 17, 2023

Stroke – Symptoms. https://www.nhs.uk/conditions/stroke/symptoms/. Accessed January 17, 2023

Stroke Signs and Symptoms. https://www.webmd.com/stroke/guide/understanding-stroke-symptoms. Accessed January 17, 2023

Symptoms of stroke. https://www.stroke.org.uk/what-is-stroke/what-are-the-symptoms-of-stroke. Accessed January 17, 2023

Stroke Signs and Symptoms. https://www.cdc.gov/stroke/signs_symptoms.htm#:~:text=Call%209%2D1%2D1%20immediately,headache%20with%20no%20known%20cause. Accessed January 17, 2023

โรคหลอดเลือดสมอง รู้ได้เร็ว รักษาได้ทัน. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87/. Accessed January 17, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เส้นเลือดในสมองตีบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ภาวะสมองเสื่อมหรือ Dementia คืออะไร และป้องกันได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา