คำจำกัดความ
ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ คืออะไร
ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ (Thumb arthritis) เกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนจากปลายกระดูกที่ประกอบขึ้นเป็นข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือ หรือที่เรียกว่า ข้อต่อคาร์โปเมตาคาร์ปอล (carpometacarpal หรือ CMC) เกิดสึกหรอ
ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง อาการบวม ไร้เรี่ยวแรง รวมถึงขอบเขตของการเคลื่อนไหวที่ลดลง ทำให้กิจกรรมง่ายๆ อย่างการหมุนลูกบิดประตู หรือเปิดขวด กลายเป็นเรื่องยาก การรักษาข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบมักจะใช้ยาร่วมกับการใส่เฝือก หากข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบพบได้บ่อยแค่ไหน
ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
อาการแรกเริ่มและเกิดขึ้นบ่อยที่สุด หากข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ ก็คือ อาการเจ็บปวด ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ฐานนิ้วหัวแม่มือ เมื่อคุณยึด จับ บีบวัตถุ หรือออกแรงกดโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ
สัญญาณหรืออาการอื่นอาจรวมถึง
- อาการบวม เมื่อย หรือกดเจ็บที่ฐานนิ้วหัวแม่มือ
- แรงที่ใช้บีบหรือจับวัตถุลดลง
- เคลื่อนไหวนิ้วได้จำกัด
- ข้อต่อที่ฐานนิ้วหัวแม่มือบวมหรือใหญ่ขึ้น
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการตามรายละเอียดด้านบนหรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์
ร่างกายคนแต่ละคนแสดงอาการแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ แผลหรืออาการบาดเจ็บที่มือในอดีต อาจส่งผลให้ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบได้
ในข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือทั่วไป กระดูกอ่อนจะป้องกันบริเวณส่วนปลายของกระดูก ทำหน้าที่กันกระแทก และทำให้กระดูกเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่นเมื่อต้องกระทบกับกระดูกชิ้นอื่น
ในผู้ป่วยที่ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ กระดูกข้อต่อที่ป้องกันบริเวณส่วนปลายของกระดูกจะสึกหรอ และพื้นผิวของกระดูกที่เรียบจะขรุขระขึ้น กระดูกจึงเสียดสีกัน และส่งผลให้เกิดความฝืดและความเสียหายของข้อต่อ
ความเสียหายของข้อต่ออาจส่งผลให้เกิดกระดูกใหม่ข้างๆ กระดูกเดิม (กระดูกงอก) ซึ่งอาจทำให้เกิดเนื้องอกที่สังเกตเห็นได้บริเวณข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ เช่น
- เป็นผู้หญิง
- อายุมากกว่า 40 ปี
- เป็นโรคอ้วน
- โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น เอ็นข้อหย่อน (joint ligament laxity) ข้อต่อผิดรูป
- อาการบาดเจ็บนิ้วหัวแม่มือ เช่น กระดูกหัก เคล็ดขัดยอก
- โรคที่เปลี่ยนรูปร่างปกติและการทำงานของกระดูกอ่อน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ – แม้ว่าโรคข้อเข่าเสื่อมจะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบบ่อยที่สุด แต่โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็อาจส่งผลต่อข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือได้เช่นกัน โดยมักจะก่อให้เกิดความรุนแรงน้อยกว่าที่ข้อต่ออื่นของมือ
- กิจกรรมและงานที่ต้องใช้แรง จากข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือเป็นอย่างมาก
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
ระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์จะถามเกี่ยวกับอาการและตรวจข้อต่อที่บวมหรือมีก้อน
แพทย์อาจจับข้อต่อพร้อมหมุนนิ้วหัวแม่มือ และกดลงมาหากระดูกข้อมือ หากการเคลื่อนไหวทำให้เกิดเสียง ความเจ็บปวด หรือรู้สึกเหมือนกระดูกร้าว ก็มีแนวโน้มว่ากระดูกอ่อนจะสึก และกระดูกกำลังเสียดสีกันอยู่
โดยปกติแล้ว การเอ็กซเรย์อาจช่วยให้เห็นสัญญาณของข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบได้ เช่น
- กระดูกงอก
- กระดูกอ่อนสึกหรอ
- พื้นที่ในช่องข้อลดลง
การรักษาข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
อาการข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบในระยะแรก แพทย์จะใช้วิธีรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดหลายอย่างผสมผสานกัน แต่หากนิ้วหัวแม่มือของคุณบวมอย่างรุนแรง คุณอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา วิธีการรักษาข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบโดยทั่วไป เช่น
การเข้าเฝือก
เฝือกช่วยหนุนข้อต่อ และจำกัดการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือและข้อมือ คุณอาจใส่เฝือกเฉพาะเวลากลางคืน หรือตลอดทั้งวันก็ได้
เฝือกสามารถช่วย
- ลดความเจ็บปวด
- ส่งเสริมการจัดวางท่าของข้อต่อที่เหมาะสม ระหว่างที่คุณกำลังทำสิ่งต่างๆ
- ให้ข้อต่อได้พัก
การใช้ยา
เพื่อลดความเจ็บปวด แพทย์อาจแนะนำยาเหล่านี้
- ยาแก้ปวดที่ขายตามร้านขายยา เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (acetaminophen) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยานาพรอกเซน (naproxen) อย่างเช่น อะลีฟ (Aleve)
- ยาแก้ปวดที่จ่ายโดยแพทย์ เช่น ยาเซเลโคซิบ (celecoxib) ยาทรามาดอล (tramadol)
การฉีดยา
หากยาแก้ปวดและเฝือกไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดสารคอร์ติโรคสเตียรอยด์ (corticosteroid) ที่ออกฤทธิ์นานที่ข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือ ยาฉีดคอร์ติสเตียรอยด์อาจลดความเจ็บปวดได้ชั่วคราว และลดอาการบวม
การผ่าตัด
หากคุณไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น หรืองอนิ้ว ยืดนิ้วไม่ได้ แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด ทางเลือกในการผ่าตัดได้แก่
- ผ่าตัดเชื่อมข้อต่อ (arthrodesis) กระดูกในข้อต่อที่ผิดปกติจะได้รับการเชื่อมต่อถาวร ข้อต่อที่ได้รับการเชื่อมต่อจะสามารถรับน้ำหนักได้โดยไม่เจ็บปวด แต่จะขาดความยืดหยุ่น
- การปรับตำแหน่งกระดูก (reposition) กระดูกในข้อต่อที่ผิดปกติจะได้รับการปรับตำแหน่งใหม่ เพื่อช่วยให้ข้อต่อที่ผิดปกติกลับคืนรูป
- ผ่าตัดกระดูกออก เป็นการผ่าเอากระดูกชิ้นหนึ่งในข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือหรือที่เรียกว่ากระดูกทราพีเซียม (trapezium) ออก
- ศัลยกรรมตกแต่งข้อ (arthroplasty) เป็นการผ่าตัดข้อต่อที่ผิดปกติทั้งหมด หรือบางส่วนออก แล้วแทนที่ด้วยข้อต่อที่ปลูกถ่ายมาจากเส้นเอ็น
การผ่าตัดเหล่านี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล หลังการผ่าตัด คุณอาจใส่เฝือกหรือเครื่องดามที่นิ้วหัวแม่มือ หรือข้อมือ ไม่เกินหกสัปดาห์ เมื่อถอดเฝือกออก คุณอาจใช้กายภาพบำบัด เพื่อให้คุณกลับมามีแรงที่มือ และเคลื่อนไหวได้
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณจัดการกับอาการข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
- เปลี่ยนเครื่องมือเครื่องใช้ คุณอาจต้องซื้อเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ มาใช้ เพื่อไม่ให้นิ้วหัวแม่มือต้องออกแรงมาก เช่น ที่เปิดขวด เครื่องช่วยไขกุญแจ ซิปที่ออกแบบมาเพื่อผู้ที่มีแรงแขนจำกัด หากลูกบิดประตูที่ใช้อยู่เป็นแบบต้องใช้แรงบิดเยอะ ก็ควรเปลี่ยนใหม่ให้เป็นแบบใช้แรงน้อยกว่า
- การประคบเย็น การประคบเย็นที่ข้อต่อเป็นเวลา 5-15 นาที วันละหลายๆ ครั้ง จะช่วยลดอาการบวม และความเจ็บปวดจากอาการข้อนิ้วหัวแม่มืออักเสบได้
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หรือการรักษา เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด