backup og meta

รู้สึกกลัว ใจหวิว ไร้สาเหตุ คุณเป็น โรคแพนิค หรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 29/03/2021

    รู้สึกกลัว ใจหวิว ไร้สาเหตุ คุณเป็น โรคแพนิค หรือเปล่า

    หากคุณมีอาการใจสั่น กลัวเหตุการณ์บางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ไม่สามารถห้ามตัวเองได้ แถมยังรู้สึกทรมานมากขึ้นด้วย นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคแพนิค (Panic Disorder)’ แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะโรคนี้รักษาได้

    โรคแพนิค (Panic Disorder) คืออะไร

    ถ้าใครไม่รู้จักโรคนี้ฟังอาการดูแล้ว อาจจะรู้สึกแปลกนิดหน่อย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคนี้ อาการเหล่านี้น่ากลัวไม่ใช่น้อยเลย อาการที่ว่าคือ

    1. อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก ตัวสั่น รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หายใจขัดข้อง ไม่สบายท้อง ปั่นป่วนในท้อง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม อาการเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาทีแล้วค่อย ๆ หายไป
    2. เกิดความกังวลว่าตนเองกำลังจะเป็นอะไรไปรึเปล่า บางคนรู้สึกเหมือนว่าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บางคนอาจจะคิดว่าตนเองกำลังมีอาการของโรคหัวใจ และกำลังจะตายรึเปล่า
    3. บางคนอาจพยายามโทรหาคนที่ใกล้ชิด เพื่อให้พาไปโรงพยาบาล แต่พอไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ตรวจดูกลับไม่พบความผิดปกติอะไร หัวใจเต้นเป็นปกติดี ยิ่งทำให้งงไปกันใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น พอกลับบ้านมาไม่กี่วันก็มีอาการแบบเดิมอีก
    4. บางคนไม่กล้าอยู่คนเดียว เพราะกลัวว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก แล้วถ้าเป็นอะไรไปจะไม่มีใครช่วยได้

    อาการแบบนี้จริง ๆ แล้วสามารถพบได้ในหลายโรค เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคไมเกรน โรคลมชักบางประเภท และสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้สารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการเช่นนี้ ซึ่งสารกระตุ้นที่พบบ่อยก็คือ คาเฟอีน แต่ถ้าตรวจไม่พบอาการผิดปกติจากโรคเหล่านี้ คุณก็อาจจะเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder)

    สาเหตุการเกิดโรคแพนิค

    โรคนี้มักเกิดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและสามารถเกิดร่วมกับโรคอื่นได้ เช่น โรคซึมเศร้า สาเหตุของโรคนี้เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำงานผิดปกติไป ถ้าจะเปรียบเหมือนรถยนต์ก็เรียกได้ว่าเครื่องยนต์กำลังทำงานรวนไป เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายส่วน อาการที่เกิดขึ้นจึงเกิดหลายอย่างพร้อมกันทั้งการเต้นของหัวใจ การหายใจ การออกของเหงื่อ ฯลฯ การทำงานของระบบดังกล่าวต้องอาศัยสารเคมีในสมองเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการทำงาน

    อาการของโรคแพนิค

    โรคแพนิค หรือบางคนอาจเรียกว่า “โรคตื่นตระหนก’ เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้ว และพบไม่น้อยเลย แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก แม้กระทั่งเมื่อเป็นโรค ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิด อาจไม่ทราบด้วยว่า อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้น เป็นอาการของโรคแพนิคที่รักษาได้ อาการของโรคแพนิคนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทันหรือไม่เต็มอิ่ม บางรายอาจวิงเวียน ท้องไส้ปั่นป่วน มือเท้าเย็นชารู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้ จากนั้นจะเริ่มรู้สึกกลัวเหมือนตัวเองกำลังจะตาย หรือจะเป็นบ้า อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มที่และสงบลงในเวลาประมาณ 10 นาที บางรายอาจนานกว่านั้น แต่มักไม่เกิน 1 ชั่วโมง และจะเป็นซ้ำ ๆ โดยมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้  แพทย์ก็มักตรวจไม่พบความผิดปกติ และมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียดหรือคิดมาก

    ผลกระทบต่อร่างกายหากไม่ได้รับการรักษา

    หากไม่ได้รับการรักษาและอธิบายให้เข้าใจ ตัวโรคจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยจะทรมานจากอาการและดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลา กลัวที่จะต้องอยู่ในที่ที่ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือได้เมื่อมีอาการ ทำให้ไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว หรือกลัวที่จะทำกิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้อาการแพนิคกำเริบขึ้นทันที  เช่น  ข้ามสะพานลอย ขึ้นลิฟต์ หรือขับรถ และอาจพบภาวะอื่น ๆ ตามมา ที่พบบ่อยคือ ภาวะซึมเศร้าจากการมีอาการและไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ กลัวว่าจะตายจากโรค ทำให้ผู้ป่วยเริ่มท้อแท้

    การรักษาโรคแพนิค

    ยาที่ใช้รักษามี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ  คือ

    1. ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เมื่อเกิดอาการขึ้นมา ให้รีบกินแล้วอาการจะหายทันที เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อ ยากล่อมประสาท หรือยาคลายกังวล  ยาประเภทนี้ ถ้ากินติดต่อกันนาน ๆ จะเกิดการติดยาและเลิกยาก
    2. ยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น จะต้องกินต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล สามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว เพราะยาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง  ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า  แต่จะไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย

    สำหรับการรักษาด้วยยา ในช่วงแรก ๆ  แพทย์จะให้ยาทั้ง 2 กลุ่ม คือ เนื่องจากยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น  ยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ จึงต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็วควบคู่กันไปด้วย เมื่อยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้นได้ผล แพทย์จะลดการกินยาที่ออกฤทธิ์เร็วให้น้อยลง เมื่อผู้ป่วย “หายสนิท’ คือ ไม่มีอาการเลย มักให้กินยาต่อไปอีก 8-12 เดือน เพื่อป้องกันการกลับมาของอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อหยุดยาไปแล้วสักพัก ก็ไม่เป็นไร แค่เริ่มต้นรักษาเหมือนเดิม

    วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดอาการแพนิคกำเริบ

  • หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ  และบอกตัวเองว่าอาการไม่อันตราย แค่ทรมานแต่เดี๋ยวก็หาย
  • มียาที่แพทย์ให้พกติดตัวไว้ กินเมื่ออาการเป็นมาก
  • ฝึกการผ่อนคลายอื่นๆ  เช่น  ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ทำงานอดิเรกต่าง ๆ ที่ช่วยให้มีความสุข
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 29/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา