backup og meta

เห็นหนังสือแล้วขอลา ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่อาจเป็นอาการของ โรคกลัวหนังสือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    เห็นหนังสือแล้วขอลา ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่อาจเป็นอาการของ โรคกลัวหนังสือ

    “ถ้าจะให้อ่านหนังสือ ฉันขอตายดีกว่า’ บางครั้งนั่นอาจไม่ใช่แค่ความรู้สึกขี้เกียจ แต่อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะไม่แน่ว่าคุณอาจกำลังมีอาการของโรคกลัวหนังสืออยู่ก็เป็นได้ วันนี้ Hello คุณหมอ ขอพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับอาการและความกลัวแบบแปลก ๆ อย่าง โรคกลัวหนังสือ กันค่ะ

    โรคกลัวหนังสือ (Bibliophobia) คืออะไร

    สภาวะของโรคกลัวหนังสือ หรือก็คืออาการความรู้สึกที่ไม่ปกติต่อหนังสือ อาจมีอาการหวาดกลัว และไม่อยากอยู่ใกล้หนังสือ ไปจนถึงเกลียดที่จะต้องอ่านหนังสือ แต่ไม่ใช่ว่าอาการนี้จะเป็นกับหนังสือทุกเล่ม บางคนมีอาการแค่กับหนังสือบางประเภทเท่านั้น เช่น นิทานสำหรับเด็ก หนังสือประวัติศาสตร์ หรือหนังสือเรียน อาการกลัวหนังสือนั้น อาจทำให้รู้สึกลำบากใจ เหมือนว่ากำลังถูกบังคับให้ต้องอ่านหนังสือ ไม่อยากแม้แต่จะแตะต้องหนังสือ และหากจะต้องเข้าไปอยู่ในห้องสมุด ก็จะรู้สึกวิตกกังวลขึ้นมาเสียอย่างนั้น

    อาการของ โรคกลัวหนังสือ เป็นอย่างไร

    อาการของโรคกลัวหนังสือนั้น คล้ายกับอาการกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ อย่าง กลัวผี กลัวงู หรือโรคกลัวรู คือ มีอาการตัวสั่น เหงื่อออกมากผิดปกติ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว และวิตกกังวลกับสภาพแวดล้อมตรงหน้า

    ทำไมคนเราถึงเป็นโรคกลัวหนังสือ

    โรคกลัวหนังสือมีการกล่าวถึง และปรากฏขึ้นในหนังสือเมื่อศตวรรษที่ 18 ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่เชื่อกันว่าความกลัวประเภทนี้มีที่มาจากข้อจำกัดในการอ่านหนังสือ ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง ความอิจฉาริษยา และความหวาดกลัว แต่ในปัจจุบัน มีการสันนิษฐานว่าความกลัวหนังสือ น่าจะมีที่มาและสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

    ประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต

    เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการทางด้านการอ่านที่ช้า ทำให้ความสามารถในการอ่านหนังสือ รวมถึงการเรียนรู้บกพร่องกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน อาจถูกครูบังคับให้อ่านหนังสือหน้าชั้นเรียนเมื่อไม่สามารถทำได้ดีตามมาตรฐาน จึงถูกหัวเราะหรือดูถูก และอาจเกินเลยไปจนถึงขั้นมีการบูลลี่เกิดขึ้น จึงอาจเป็นปมของความทรงจำที่เลวร้ายและส่งผลมายังปัจจุบัน

    ความไม่รู้หนังสือ

    ความไม่รู้หนังสือ จะเพราะการขาดโอกาส หรือเพราะพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่บกพร่องก็ตาม สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกอับอาย และขาดความเชื่อมั่น จนกระทั่งสะสมเป็นความกลัวขึ้นในใจ

    ระดับของความสนใจ

    ไม่ใช่คนทุกคนที่จะสนใจอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน หรือประเภทเดียวกัน ทุกคนมีความชอบที่แตกต่างกัน หนังสือบางเล่มอาจอยู่เหนือระดับความเข้าใจ และไม่อยู่ในขอบข่ายของความน่าสนใจ จึงไม่แปลกที่จะไม่ถูกหยิบออกมาอ่าน 

    มีวิธีรักษาอาการดังกล่าวหรือไม่

    ความเกลียดกลัวหนังสือ เป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะถ้าหากอาการนี้เป็นในเด็ก ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องให้ลูกได้รับการรักษาที่เหมาะสม คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตอาจแนะนำให้เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านหนังสือ นักบำบัดอาจเริ่มให้อ่านหนังสือจาก 2-3 หน้า แล้วค่อย ๆ ยกระดับการอ่านขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิดใจรับหนังสือ เพื่อที่จะสามารถคลายความวิตกกังวลทั้งหมดที่มี และมีความมั่นใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับหนังสือได้

    อย่างไรก็ตาม ควรทำความเข้าใจว่า ความเกลียดกลัวหนังสือ กับความขี้เกียจนั้นแตกต่างกัน ผู้ที่มีอาการทางสุขภาพจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา เพื่อที่จะได้มีทัศนคติที่ดี ส่งเสริมพัฒนาการด้านการอ่านให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าหากเป็นเพราะความขี้เกียจ ให้สลัดความรู้สึกนั้นทิ้งแล้วหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านก่อนที่คะแนนสอบของคุณอาจจะทำให้คุณเกิดความเครียดขึ้นมาได้

    Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา