Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD คือ ภาวะทางสุขภาพจิตที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองหลังจากประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง สามารถพบได้ในคนทุกเพศวัย ผู้ที่มีภาวะนี้อาจเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า หันไปใช้สารเสพติด หรือเกิดความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคแพนิค PTSD จึงเป็นอีกหนึ่งภาวะสุขภาพที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง
[embed-health-tool-bmi]
PTSD คือ อะไร
โรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ PTSD คือ ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการประสบหรือพบเห็นสถานการณ์สะเทือนขวัญที่คุกคามชีวิต ภาวะนี้พบได้บ่อยในทหารผ่านศึกหรือผู้อพยพที่ต้องทุกข์ทนกับบาดแผลในจิตใจที่รุนแรง ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่เคยมีประสบการณ์การถูกทอดทิ้งหรือถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเพศ ร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ ก็อาจประสบกับ PTSD ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เด็กและวัยรุ่นอาจมีความเสี่ยงในการเกิด PTSD มากกว่าผู้ใหญ่ที่เคยประสบกับเรื่องเครียดหรือบาดแผลทางจิตใจแบบเดียวกัน อีกทั้งการตอบสนองต่อการบาดแผลทางจิตใจของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันด้วย
สาเหตุของ PTSD คือ อะไร
ผู้คนที่ประสบกับเหตุการณ์ที่สะเทือนจิตใจอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองหลากหลาย ทั้งอาการช็อก โมโห วิตกกังวล หวาดกลัว หรือแม้แต่ความรู้สึกผิดในใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และความรู้สึกในแง่ลบเหล่านั้นมักจะเลือนลางไปเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แต่เนื่องจากคนเรามีความสามารถในการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงแตกต่างกันไป ทำให้ในบางครั้งเหตุการณ์เหล่านั้นสามารถนำไปสู่ภาวะ PTSD ที่ผู้ป่วยจะยังคงติดอยู่กับความรู้สึกแย่ ๆ และความรู้สึกนั้นอาจท่วมท้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในด้านการทำงาน การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการเข้าสังคม
นอกจากนี้ ความช่วยเหลือและการสนับสนุนของคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ก็อาจทำให้เกิด PTSD ได้เช่นกัน หากผู้ที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาได้รับการสนับสนุนที่ดี ก็อาจไม่เป็น PTSD หรือมีอาการของ PTSD ในระดับที่ไม่รุนแรง
ตัวอย่างเหตุการณ์รุนแรงที่อาจทำให้เกิด PTSD
- ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว
- อุบัติเหตุ เช่น รถชน เครื่องบินชน พลัดตกจากที่สูง
- การเจ็บป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต
- การข่มขืน การลวนลาม การทำร้ายร่างกาย การเข้าไปอยู่สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- การเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง การเห็นผู้อื่นบาดเจ็บอย่างหนัก ถูกทำร้ายทางเพศ หรือเสียชีวิตอย่างไม่เป็นไปตามธรรมชาติ หรือการรับรู้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รัก
บางครั้ง PTSD อาจไม่ได้เกิดจากการประสบกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเพียงแค่ครั้งเดียว แต่อาจเกิดจากการอยู่ในสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างต่อเนื่อง เช่น การมีวัยเด็กที่เลวร้าย การถูกผู้ปกครองหรือคนในบ้านทอดทิ้ง การอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ โดยเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตอย่าง PTSD มักเกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การทำร้ายร่างกาย การข่มขืน มากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ
อาการของ PTSD คือ อะไร
อาการของ PTSD มักจะเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง ทั้งนี้ ในบางรายก็อาจไม่มีอาการจนเวลาผ่านไปหลายปีแล้ว ซึ่งความรุนแรงและระยะเวลาของโรคอาจแตกต่างไปในแต่ละคน บางคนอาจมีอาการดีขึ้นภายใน 6 เดือน ในขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลานานเป็นปี
กลุ่มอาการ PTSD อาจแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- การหวนระลึกถึง (Reliving)
เป็นการคิดวนเวียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา อาจเห็นภาพหลอน ฝันร้าย รู้สึกเหมือนตัวเองกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำอีกครั้ง ทั้งยังอาจรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับสิ่งของหรือวันเวลาที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น เช่น รู้สึกเศร้าในวันครบรอบเหตุการณ์ในปีต่อ ๆ มา มีปฏิกิริยาทางร่างกายหรือจิตใจเมื่อพบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น
- อาการกลัวและหลีกเลี่ยง (Avoiding)
บุคคลที่เป็น PTSD อาจหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่คิดถึงเหตุการณ์ หรือไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้นึกถึงเรื่องราวไม่ดีที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การแยกตัวและความเหินห่างกับคนคุ้นเคยอย่างครอบครัว เพื่อน รวมไปถึงการหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยโปรดปราน
- ภาวะตื่นตัวสูง (Increased arousal)
มีอาการตื่นตกใจง่าย ตึงเครียด ฉุนเฉียว นอนหลับยาก สะดุ้งตื่นในตอนกลางคืน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ จนส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิต การนอน การทำงาน การกินอาหาร การตั้งสมาธิจดจ่อ
- การมีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative cognitions and mood)
มีความคิดเชิงลบต่อโลกหรือต่อตัวเอง หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชื่นชอบ และอาจหลงลืมเรื่องราวสะเทือนใจที่เกิดขึ้น อาการเหล่านี้อาจทำให้บุคคลนั้นรู้สึกแปลกแยกหรือแยกตัวออกจากเพื่อนหรือครอบครัว
หากผู้ป่วย PTSD และคนรอบข้างไม่สามารถตระหนักได้ว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพจิตและไม่ไปรับการรักษาอย่างเหมาะสม ภาวะนี้อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า การทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงการคิดฆ่าตัวตายได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า อีกทั้งความทุกข์และความวิตกกังวลในระยะยาวยังอาจทำให้เกิดอาการแพนิค (Panic attack) เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก มือสั่น เหงื่อแตก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หรือเกิดโรคพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ (Eating disorder)
ผู้ที่เป็น PTSD อาจพยายามกดความเจ็บปวดของตัวเองด้วยการหันไปพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด ที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในภายหลัง การรับรู้สัญญาณของภาวะ PTSD และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและเรียกคืนชีวิตปกติของผู้ป่วยกลับมาได้
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PTSD จนกว่าจะผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน หากเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้วผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองยังไม่สามารถฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ อาการมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อย ๆ จนกระทบต่อความสามารถในการทำงานและการใช้ชีวิต และแน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากการประสบเหตุการสะเทือนใจรุนแรงจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากการใช้สารเสพติด ความเจ็บป่วย หรือปัจจัยอื่น ๆ ควรไปพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย พูดคุยเกี่ยวกับอาการ และวางแผนรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว