backup og meta

Toxic คืออะไร และวิธีรับมือเมื่ออยู่ในสถานการณ์ Toxic

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    Toxic คืออะไร และวิธีรับมือเมื่ออยู่ในสถานการณ์ Toxic

    Toxic คือ คำที่มีความหมายว่า เป็นพิษ แต่อาจมีความหมายถึงผู้ที่แสดงความคิดและพฤติกรรมไม่ดีต่อผู้อื่นโดยที่อาจไม่รู้ตัวหรือตั้งใจ ทำให้บุคคลที่โดนกระทำไม่อยากอยู่ใกล้หรือเข้าสังคมกับคนกลุ่มนี้ แต่หากจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็ควรศึกษาถึงวิธีการรับมือกับพฤติกรรมหรือคำพูดที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้รู้สึกหดหู่ ไม่มีความสุข เครียดและวิตกกังวล

    Toxic คืออะไร

    ปัจจุบัน คำว่า Toxic มักใช้เพื่อบ่งบอกถึงพฤติกรรมและความคิดเห็นเชิงลบที่บางคนอาจแสดงออกมาทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจส่งผลไม่ดีต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรมการหึงหวงมากผิดปกติ พฤติกรรม การนินทาลับหลังผู้อื่น การเอาแต่ใจยึดถือแต่ความคิดของตัวเอง Toxic นั้นไม่ถือเป็นโรคทางจิต แต่ปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจบางอย่างอาจส่งผลให้แสดงพฤติกรรมไม่ดีใส่ผู้อื่น เช่น ถูกละเลย ปัญหาในครอบครัว บาดแผลทางจิตใจที่เคยพบเจอมาแล้วจดจำไปแสดงต่อกับผู้อื่น ซึ่งหากไม่ปรับตัวลดความ Toxic ที่กระทำต่อผู้อื่นลงก็อาจส่งผลให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าและใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุขได้

    ปัญหา Toxic ที่พบได้บ่อย

    ปัญหา Toxic ที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

    • Toxic People (บุคคลที่เป็นพิษ)

    บุคคลที่เป็นพิษ คือ กลุ่มบุคคลที่มีลักษณะชอบเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางไม่รับฟังผู้อื่น เอาแต่ใจ ชอบได้รับความสนใจ อิจฉาริษยา มองโลกในแง่ลบ โดยจะแสดงพฤติกรรม ความคิด และคำพูดออกมาในเชิงลบที่ไม่สนใจความรู้สึกคนรอบข้างว่าจะรู้สึกอย่างไร เช่น การพูดจาดูถูก การพูดจาใส่ร้าย การนินทาและชักจูงผู้อื่นให้ร่วมต่อต้านบุคคลที่ตัวเองไม่ชอบ การอยู่ร่วมกับบุคคลกลุ่มนี้จึงอาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อย กระทบกระเทือนต่อจิตใจ วิตกกังวลและอาจกลัวการเข้าสังคมได้

    • Toxic Social media (โซเชียลมีเดียเป็นพิษ)

    โซเชียลมีเดียเป็นพิษ คือ การเสพข้อมูลเชิงลบและความคิดเห็นในสื่อโซเชียลจากบุคคลที่เป็นพิษหลากหลายช่องทางมากเกินไป จนอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ คิดมาก รู้สึกวิตกกังวล รู้สึกคุณค่าในตัวเองลดลงและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า มักพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นและผู้ที่ทำงานด้านการผลิตสื่อ

    • Toxic Family (ครอบครัวที่เป็นพิษ)

    ครอบครัวที่เป็นพิษ ไม่ได้หมายถึงพ่อหรือแม่เพียงเท่านั้น แต่อาจรวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย ที่แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดบางอย่างที่ส่งผลในด้านลบต่อความรู้สึก เช่น การบังคับให้ทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ การต่อว่าด้วยคำหยาบคายโดยไม่มีเหตุผล ไม่เคยให้การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษา การล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย การนำคนในครอบครัวไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น จนทำให้คนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ไม่ดีต่อกันและไม่มีความสุขเมื่ออยู่ร่วมกัน

    • Toxic Relationship (ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ)

    ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ คือ การอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดีหรือเชิงลบ ด้วยพฤติกรรมและคำพูด เช่น การต่อว่า การถกเถียงด้วยอารมณ์รุนแรง การนอกใจ การโกหก การผิดสัญญา จนทำให้เกิดการบั่นทอน เบื่อหน่ายในความสัมพันธ์ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย จนรู้สึกว่าไม่มีความสุข หดหู่ ซึมเศร้า และอาจกลัวในการมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ได้

    • Toxic Work Environment (สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นพิษ)

    สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นพิษ อาจหมายถึงบุคคลในที่ทำงาน หน้าที่การงาน หรือบรรยากาศการทำงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เช่น ถูกกดดันจนเกินไป การไม่เติบโตในหน้าที่การงาน เวลาการทำงานไม่สมดุล เพื่อนร่วมงานและเจ้านายไม่ดี จนส่งผลให้รู้สึกบั่นทอน เบื่อหน่าย เครียด หมดเรี่ยวแรงในการทำงานและไม่อยากตื่นเช้ามาทำงาน

    วิธีรับเมื่ออยู่ในสถานการณ์ Toxic

    วิธีรับเมื่ออยู่ในสถานการณ์ Toxic อาจทำได้ดังนี้

    • การเผชิญหน้ากับบุคคลที่เป็นพิษ พูดคุยและแสดงความรู้สึกให้อีกฝ่ายทราบอย่างชัดเจนว่าไม่ชอบในพฤติกรรมหรือคำพูดใด ๆ ถ้าหากอีกฝ่ายไม่ได้ตั้งใจกระทะ อาจเป็นการให้โอกาสให้ได้กล่าวคำขอโทษ อธิบายและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
    • กำหนดขอบเขตต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นพิษ เพื่อไม่ให้รุกล้ำเรื่องส่วนตัวมากเกินไป โดยอาจจำกัดเวลาที่อยู่ร่วมกันและพูดคุยเฉพาะเรื่องที่เป็นเท่านั้น
    • เอาตัวเองออกจากสถานการณ์หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน งานที่ทำและคนรัก เช่น หลีกเลี่ยงการสนทนาหัวข้อที่ทำให้มีการถกเถียง ตัดจบบทสนทนา เพื่อลดการได้รับพฤติกรรมและคำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจ
    • จำกัดเวลาการเล่นโซเชียลหรือกีดกันกลุ่มบุคคลในโซเชียลที่เป็นพิษ เพื่อป้องกันไม่ให้เสพข้อมูลในเชิงลบมากเกินไป
    • ใช้เวลากับตัวเองให้มากขึ้นด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น นอนหลับ วาดรูป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา