backup og meta

ระวัง!!! อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ในช่วงหน้าร้อน หากไม่อยากท้องเสีย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด ตอนนี้

    ระวัง!!! อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ในช่วงหน้าร้อน หากไม่อยากท้องเสีย

    ในช่วงหน้าร้อนที่มีอากาศร้อนจัดแบบนี้ หลายคนอาจจะสังเกตเห็นได้ว่า อาหารต่าง ๆ มักจะมีการเน่าเสียได้ง่ายยิ่งขึ้น และส่งผลให้ผู้ที่ไม่ระวังตัว เผลอรับประทานและทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษหรืออาการท้องเสียอย่างรุนแรง อย่างเช่น ข่าวที่มีคนรับประทานขนมจีบแล้วเกิดอาการท้องเสียจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล ซ้ำยังมีผู้เสียชีวิตจากอาการท้องเสียนี้อีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาแนะนำให้ทุกคนรู้กับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หากไม่อยากมีอาการ ท้องเสียในหน้าร้อน

    ปัญหาเกี่ยวกับอาหารที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

    การที่อาหารบูดและเน่าเสียนั้น เกิดจากการที่เชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย ล่องลอยอยู่ในอากาศ ตกกระทบลงในอาหาร และทำการเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนทำให้อาหารเกิดการเน่าเสีย

    ในช่วงหน้าร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว และมีอุณภูมิสูงนั้น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ จึงส่งผลให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้เร็วขึ้นกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ

    นอกจากปัญหาเรื่องอาหารเน่าบูดเพราะมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในอาหารแล้ว อาหารอาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคและปรสิต เนื่องจากการตอมของแมลงวัน หรืออยู่ในอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบได้เช่นกัน

    หากเรารับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไป อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง อาหารเป็นพิษ และหากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำมากเกินไป จนกลายเป็นอาการช็อค หรือมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหากไม่อยาก ท้องเสียในหน้าร้อน

    อาหารที่ใส่กะทิ

    กะทินั้นขึ้นชื่อเรื่องเสียง่าย เพียงแค่วางไว้นอกตู้เย็น ไม่เกินครึ่งวันก็บูดเสีย เต็มไปด้วยเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ดังนั้น อาหารที่ใส่กะทิ เช่น แกงเขียวหวาน แกงข่าไก่ หรือขนมหวานกะทิต่าง ๆ จึงเสียง่าย และควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทาน หรือเลือกรับประทานอาหารที่มั่นใจว่าปรุงสุกและสดใหม่เท่านั้น

    อาหารประเภทยำ

    อาหารประเภทยำ ไม่ว่าจะเป็น ยำวุ้นเส้น ยำข้อไก่ มักจะใช้วิธีการเตรียมวัตถุดิบโดยการลวก แถมส่วนใหญ่ยังลวกรวมกันในหม้อใบเดียวอีกด้วย การลวกนั้นจะผ่านความร้อนแค่เพียงชั่วครู่ ไม่ทันได้ฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในอาหาร เมื่อทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

    นอกจากนี้ อาหารประเภทที่คล้าย ๆ กัน เช่น ส้มตำ ก็มักจะใส่พวก ปูดอง หรือปลาร้าดิบ ๆ ที่ไม่ผ่านการทำให้สุกมาก่อน อาหารพวกนี้อาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน

    อาหารหมักดอง

    อาหารหมักดอง เช่น แหนม หน่อไม้ดอง หรือกะปิ อากาศร้อนที่ร้อนจัดจะทำให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้ดี ยิ่งโดยเฉพาะหากการบรรจุภัณฑ์ไม่สะอาดเพียงพอ และเก็บรักษาได้ไม่ดีพอ ก็จะยิ่งทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอาการท้องเสียได้หากรับประทานเข้าไป

    ข้าวราดแกง

    ร้านอาหารที่ขายข้าวราดแกงส่วนใหญ่แล้วมักจะทำอาหารในปริมาณมาก ๆ ตั้งไว้ เมื่อมีคนสั่งจึงค่อยตักราดข้าว อาหารที่ทำทิ้งไว้เหล่านี้มีโอกาสเจอกับเชื้อโรคหรือแมลงวันมาตอมได้สูง ยิ่งโดยเฉพาะอากาศร้อน ๆ อาจทำให้เชื้อโรคยิ่งเติบโตได้ดี ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการรับประทานข้าวราดแกง ควรเลือกร้านที่สะอาด ปลอดภัย และมั่นใจว่าทำอาหารสดใหม่ทุกวัน ไม่มีของค้างคืน

    อาหารทะเล

    อาหารทะเลนั้นมักจะมีเชื้อโรคและจุลินทรีย์แฝงอยู่มาก ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนยิ่งมีโอกาสบูดเสียได้ง่าย อีกทั้งหลาย ๆ คนก็มักจะชอบรับประทานอาหารทะเลแบบดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาหารเป็นพิษได้ง่าย

    น้ำแข็ง

    พวกน้ำแข็งป่นจากร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน มักจะมีความสกปรกและปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์อยู่มาก ยิ่งโดยเฉพาะในหน้าร้อนที่เรารับประทานน้ำแข็งกันเยอะ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการกินน้ำแข็งที่ไม่สะอาดจนเกิดอาการท้องเสียได้

    การป้องกันอาการท้องเสียจากอาหารในช่วงหน้าร้อน

  • เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก สดใหม่ ไม่ค้างคืน
  • ภาชนะที่ใส่อาหารเหลือ ควรมีฝาปิด มิดชิด และเก็บไว้ในตู้เย็น
  • สำหรับอาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2-4 ชั่วโมง หากจะรับประทาน ควรอุ่นให้ร้อนก่อนกิน
  • ก่อนกินอาหาร สังเกตและดมดูก่อนว่า มีฟองอากาศ มีกลิ่นเหม็นบูด หรือมีรสชาติเปรี้ยวผิดปกติหรือไม่ หากมีแสดงว่าอาหารนั้นเสียแล้ว ไม่ควรรับประทาน
  • อาหารบางประเภท เช่น ยำ ส้มตำ ควรรับประทานให้หมดในคราวเดียว อย่าเก็บไว้กินในภายหลัง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด ตอนนี้

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา