backup og meta

เห็ด สารพัดประโยชน์ ทั้งอร่อย และดีต่อสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 09/12/2020

    เห็ด สารพัดประโยชน์ ทั้งอร่อย และดีต่อสุขภาพ

    เห็ด มีด้วยกันหลากหลายชนิด มีตั้งแต่ชนิดที่หาซื้อได้ง่ายและเราน่าจะเคยบริโภคกันบ่อย ๆ เช่น เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดเข็มทอง ไปจนถึงเห็ดราคาแพง ที่ไม่ได้หามาบริโภคกันได้ง่าย ๆ อย่างเห็ดทรัฟเฟิล แต่ไม่ว่าจะเป็นเห็ดราคาถูกหรือราคาแพง ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยกันทั้งนั้น รับรองเลยว่า หากคุณทราบประโยชน์ของเห็ดจากบทความนี้แล้ว จะต้องอยากบริโภคอาหารเมนูเห็ดมากขึ้นแน่นอน

    คุณค่าทางโภชนาการของเห็ด

    เห็ดนั้นมีด้วยกันหลายชนิด แต่โดยทั่วไปแล้ว เห็ด 1 ถ้วย (96 กรัม) ให้พลังงานประมาณ 21.1 กิโลแคลอรี่ และให้วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ดังนี้

    สารอาหาร ปริมาณที่พบในเห็ด ปริมาณแนะนำต่อวัน
    โปรตีน (กรัม) 3 46-56
    คาร์โบไฮเดรต (กรัม) 3.1 (รวมน้ำตาล 1.9 กรัม) 130
    แคลเซียม (มิลลิกรัม) 2.9 1,000-1,300
    เหล็ก (มิลลิกรัม) 0.5 8-18
    แมกนีเซียม (มิลลิกรัม) 8.6 310-420
    ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) 82.6 700-1,250
    โพแทสเซียม (มิลลิกรัม) 305 4,700
    โซเดียม (มิลลิกรัม) 4.8 2,300
    สังกะสี (มิลลิกรัม) 0.5 8-11
    ทองแดง (ไมโครกรัม) 305 890-900
    ซีลีเนียม (ไมโครกรัม) 8.9 55
    วิตามินซี (มิลลิกรัม) 2 65-90
    วิตามินดี (มิลลิกรัม) 0.2 15
    โฟเลต (ไมโครกรัมอีคิวาเล้นท์) 16.3 400
    โคลีน (มิลลิกรัม) 16.6 400-550
    วิตามินบี 3 หรือไนอาซิน (มิลลิกรัม) 3.5 14-16

    นอกจากสารวิตามินและแร่ธาตุข้างต้นแล้ว ในเห็ดยังมีไฟเบอร์ และมีวิตามินบีอีกหลายชนิด ทั้งวิตามินบี 1 (ไทอามีน) วิตามินบี 2 (โรโบฟลาวิน) วิตามินบี 5 (กรดแพนโทเทนิก) วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12

    ประโยชน์สุขภาพของเห็ด

    ช่วยบำรุงหัวใจ

    ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าสารอาหารหลายชนิดในเห็ด โดยเฉพาะวิตามินซี และโพแทสเซียม อาจช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดของเราแข็งแรงขึ้นได้ โดยโพแทสเซียมจะช่วยทำให้ระดับความดันโลหิตเป็นปกติ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคความดันโลหิตสูง

    นอกจากนี้งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ. 2016 ยังชี้ว่า ผู้ที่ขาดวิตามินซีจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น เราจึงควรหันมาบริโภควิตามินซีให้เพียงพอ และเห็ดก็เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่มีทั้งโพแทสเซียมและวิตามินซีซึ่งดีต่อสุขภาพหัวใจเป็นอย่างมาก

    ช่วยป้องกันมะเร็ง

    วิตามินและแร่ธาตุในเห็ด เช่น วิตามินซี ซีลีเนียม โคลีน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายถูกอนุมูลอิสระทำลาย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งบางชนิดได้ด้วย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และไม่ใช่แค่ลดความเสี่ยงมะเร็งได้เท่านั้น เพราะสารต้านอนุมูลอิสระในเห็ดยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ (Alzeimer) โรคข้ออักเสบ ได้อีกด้วย

    ช่วยลดความเสี่ยงเบาหวาน

    เห็ดเป็นแหล่งไฟเบอร์อีกหนึ่งชนิดที่หาได้ง่ายมาก และการบริโภคไฟเบอร์อย่างพอเพียงก็ส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ด้วย โดยผลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2018 เผยว่า คนที่บริโภคไฟเบอร์ในปริมาณมากมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยลง และเมื่อคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วบริโภคไฟเบอร์ ก็สามารถช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ด้วย

    หากคุณอยากควบคุมน้ำตาลในเลือดในอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้กินเห็ดร่วมกับถั่ว ผักสด ข้าวกล้อง และธัญพืชเต็มเมล็ด เพราะอาหารเหล่านี้ไม่ใช่แค่ดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความเสี่ยงเบาหวาน แต่ยังดีต่อสุขภาพโดยรวมของคุณด้วย

    เห็ด 4 ชนิดที่ขึ้นชื่อเรื่องประโยชน์สุขภาพ

    เห็ดหลินจือ

    เห็ดหลินจือถูกใช้ในวงการแพทย์แผนจีนมาอย่างยาวนาน และได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรจีนที่มีคุณค่าทางยาสูงมาก เห็ดหลินจืออุดมไปด้วยสารที่เรียกว่า กรดกาโนเดอริก (Ganoderic acid) ที่มีฤทธิ์ช่วยลดคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือด และช่วยลดความดันโลหิต นอกจากนี้ ในเห็ดหลินจือยังมีสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านไวรัส และต้านมะเร็ง กินแล้วจึงส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันด้วย

    เห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะ

    เห็ดชิตาเกะ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ เห็ดหอม ถือเป็นแหล่งวิตามินดีชั้นยอด ทั้งยังอุดมไปด้วยสารเลนติแนน (Lentinan) ที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย และช่วยต้านมะเร็งได้ด้วย

    เห็ดนางรม

    เห็ดนางรมเป็นเห็ดที่มีโปรตีนและวิตามินบีสูง แถมยังไม่มีคอเลสเตอรอล จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือต้องการควบคุมปริมาณไขมันในเลือด นอกจากนี้ งานวิจัยในปี ค.ศ. 2004 ชิ้นหนึ่งยังพบว่า การกินเห็ดนางรมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไขมันในเลือดสูงจากการกินยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้

    เห็ดไมตาเกะ

    เห็ดไมตาเกะได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งเห็ด เพราะนอกจากจะนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาหลายประการด้วย เช่น มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีฤทธิ์ต้านไวรัส ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยควบคุมความดันโลหิต อีกทั้งงานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่า การบริโภคเห็ดไมตาเกะส่งผลดีต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วย

    วิธีเลือกซื้อเห็ดให้ได้ของดีมีคุณภาพ

    • เวลาเลือกซื้อเห็ด ควรเลือกเห็ดที่เนื้อแน่น แห้ง ไม่ช้ำ และไม่ควรเลือกเห็ดที่ดูเปียก ลื่น มีเมือก หรือเหี่ยวเฉา
    • หลังจากซื้อเห็ดมาแล้ว แนะนำเก็บเห็ดไว้ในถุงกระดาษที่เปิดปากถุงเอาไว้ แล้วนำไปแช่ตู้เย็น ถุงกระดาษจะช่วยดูดซับความชื้นและไม่ทำให้เห็ดเสีย อย่าเก็บเห็ดไว้ในถุงพลาสติก เพราะความชื้นจะถูกกักเก็บไว้ในถุงจนทำให้เห็ดเสียก่อนเวลาอันควรได้ และที่สำคัญคือ คุณไม่ควรล้างเห็ดก่อนนำมาแช่ตู้เย็น แต่ควรล้างทำความสะอาดเห็ดต่อเมื่อจะนำไปประกอบอาหารเท่านั้น

    ความเสี่ยงสุขภาพที่มาพร้อมการบริโภคเห็ด

    แม้เห็ดจะเป็นพืชสารพัดประโยชน์ และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู แต่เราก็ต้องบริโภคเห็ดอย่างระมัดระวังด้วย เพราะเห็ดอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพบางประการได้ เช่น

    ภาวะอาหารเป็นพิษ

    หากเห็ดที่คุณกินปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน (Campylobacter jejuni) อาจทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ จนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดเกร็งท้อง ยิ่งหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย ก็อาจทำให้เจ็บป่วยรุนแรงได้ เช่น การติดเชื้อของทารกในครรภ์ การแท้งลูก

    ปฏิกิริยาภูมิแพ้

    สปอร์ของเห็ดบางชนิดอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงในบางคนได้ โดยเฉพาะในคนที่เป็นภูมิแพ้เชื้อรา สปอร์ของเห็ดมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “สปอร์เชื้อรา” และสปอร์นี้มักจะฟุ้งกระจายในอากาศเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง หากผู้ที่มีอาการแพ้เชื้อราสัมผัสกับสปอร์เห็ดหรือสปอร์เชื้อราเข้า ก็มีโอกาสที่ภูมิแพ้จะกำเริบ จนทำให้มีอาการจาม น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ไอ คันที่ดวงตา จมูก และในลำคอ เป็นต้น และภูมิแพ้เชื้อรายังอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด หรือโรคปอดได้ด้วย

    นอกจากนี้ บางคนยังอาจเป็นโรคแพ้เห็ด คือกินเห็ดเข้าไปแล้วไปกระตุ้นให้เกิดผื่นผิวหนัง ลมพิษ อาการระคายเคืองผิวหนัง หรือบางคนอาจมีอาการปากบวม คอบวม จนหายใจลำบาก หรืออาจถึงขั้นเกิดภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) จนทำให้ความดันโลหิตลดฮวบ หายใจไม่อิ่มหรือหายใจถี่ และหมดสติ ภาวะนี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ฉะนั้น หากเกิดภาวะดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการรักษาฉุกเฉินทันที

    อาการทางจิต

    เห็ดชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเห็ดวิเศษ (Magic mushroom) หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในชื่อ “เห็ดขี้ควาย” มีสารประกอบ “โซโลไซบิน” (Psilocybin) ซึ่งมีฤทธิ์หลอนประสาท หากคุณเผลอกินเห็ดชนิดนี้เข้าไป อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอน (เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว) มีอาการหลงผิด คือเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง แสดงพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง วิงเวียน หรือตื่นตระหนกได้ด้วย

    โดยทั่วไปแล้ว อาการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นหลังกินเห็ดชนิดนี้เข้าไปประมาณ 20 นาที และอาการอาจคงอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมง แต่หากอาการคงอยู่นานกว่านั้น หากคุณพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวเผลอกินเห็ดชนิดนี้เข้าไป แนะนำให้รีบเข้าพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 09/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา