backup og meta

ลิ้นคนเป็นเอดส์ มีลักษณะอย่างไรบ้าง

ลิ้นคนเป็นเอดส์ มีลักษณะอย่างไรบ้าง

ลิ้นคนเป็นเอดส์ หมายถึง ลิ้นของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง ส่งผลให้เสี่ยงติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น เชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งทำให้เป็นเชื้อราในช่องปาก หรือเชื้อเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งเป็นสาเหตุของเริมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงบริเวณลิ้นและในช่องปากด้วย

[embed-health-tool-ovulation]

เอดส์ คืออะไร

เอดส์ (AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นอาการในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยผู้ป่วยจะมีระดับเม็ดเลือดขาว CD4 (Cluster of Differentiation 4) ที่มีหน้าที่ควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ในระดับต่ำกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้ ระดับ CD4 ในคนทั่วไปจะเท่ากับ 500-1,400 เซลล์/เลือด 1 มิลลิลิตร ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ระดับ CD4 จะลดลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือประมาณ 200 เซลล์/เลือด 1 มิลลิลิตร หรือต่ำกว่า

ลิ้นคนเป็นเอดส์ มีลักษณะอย่างไร

เมื่อติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจะมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติบริเวณลิ้นและในช่องปากที่พบได้ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อในระยะแรก ๆ เนื่องจากระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ลดลง โดยมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  • เชื้อราในปาก เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกิดจากเชื้อราที่ชื่อว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ อาการของเชื้อราในช่องปาก ได้แก่ สูญเสียสัมผัสรับรส เกิดตุ่มบวมนิ่มหรือแผลพุพองบนลิ้นหรือเพดานปาก หากมีอาการรุนแรงจะทำให้รับประทานหรือกลืนอาหารลำบาก
  • ฝ้าขาว เกิดจากเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) ที่พบได้ในร่างกายมนุษย์เพิ่มจำนวนผิดปกติเมื่อภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง เช่น เมื่อติดเชื้อเอชไอวี โดยจะเห็นเป็นผื่นหรือปื้นสีขาวอยู่ด้านข้างลิ้น ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่ไม่สามารถใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นเพื่อกำจัดฝ้าขาวได้
  • เริมช่องปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ หากติดเชื้อที่ลิ้น เริมช่องปากจะทำให้รู้สึกแสบหรือคันบริเวณลิ้น ตามด้วยมีตุ่มน้ำใสหรือแผลพุพองเกิดขึ้น
  • หูดช่องปาก เป็นความผิดปกติในช่องปากที่พบได้ไม่บ่อยนักในผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แพพพิลโลมา (Human Papilloma virus หรือ HPV) บนลิ้นหรือในช่องปาก โดยมีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อสีชมพูอ่อน มีผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ

จูบกับคนเป็น เอดส์ จะติดเชื้อเอชไอวีไหม

การจูบกับผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะทำให้ติดเชื้อไปด้วย เพราะเชื้อเอชไอวีไม่แพร่กระจายผ่านน้ำลาย แต่แพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งอื่น ๆ อย่างน้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น เลือด น้ำนม หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอด อย่างไรก็ตาม หากมีแผลในช่องปาก ควรหลีกเลี่ยงการจูบเพราะอาจติดเชื้อได้

นอกจากนี้ เชื้อราในช่องปากและฝ้าขาวไม่สามารถแพร่เชื้อผ่านการจูบ แต่เริมและหูดช่องปาก สามารถแพร่เชื้อผ่านการจูบและการมีเพศสัมพันธ์ทางปากได้

วิธีดูแลช่องปากเมื่อติดเชื้อเอชไอวี

สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (American Dental Association) แนะนำว่า ภาวะแทรกซ้อนในช่องปากของผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รักษาความสะอาดของช่องปากอยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งควรใช้เวลาอย่างต่ำ 2 นาที
  • ขัดฟัน โดยใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดคราบหินปูนและเศษอาหารในช่องปากและตามซอกฟัน
  • รับประทานยาต้านเอชไอวีตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Oral thrush. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/oral-thrush/symptoms-causes/syc-20353533. September 9, 2022

HIV/AIDS & Oral Health. https://www.nidcr.nih.gov/health-info/hiv-aids#:~:text=Some%20of%20the%20most%20common,tongue)%2C%20and%20dental%20caries. September 9, 2022

Oral Herpes. www.webmd.com/a-to-z-guides/oral-herpes. September 9, 2022

Leukoplakia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/leukoplakia/diagnosis-treatment/drc-20354411. September 9, 2022

Oral Herpes. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/herpes-hsv1-and-hsv2/oral-herpes. September 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/03/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวี

กระเทียม เสริมภูมิคุ้มกัน ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้จริงหรือไม่ 


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา