ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น วิธีแก้ คือ การใช้ยารักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็น เช่น การติดเชื้อรา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีวิธีแก้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยดูแลรักษาช่องคลอดให้มีสุขภาพดี และไม่มีกลิ่นเหม็น อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบอาการผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุของช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
สาเหตุของช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น อาจมีดังนี้
- การติดเชื้อราในช่องคลอด เกิดจากเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ที่เจริญเติบโตมากเกินไป โดยอาจมีสภาพแวดล้อมที่อับชื้นเป็นตัวกระตุ้น เช่น การไม่ซับบริเวณภายนอกอวัยวะเพศให้แห้ง เหงื่อออกมาก จนอาจนำไปสู่ภาวะช่องคลอดอักเสบ ที่ทำให้ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น แสบร้อนช่องคลอดโดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์ มีผื่นแดง ตกขาวเหลวเป็นน้ำ
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด โดยอาจมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น เช่น การสวนล้างช่องคลอด การเปลี่ยนคู่นอนหลายคน ส่งผลให้ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น แสบร้อนช่องคลอด คันช่องคลอด และมีตกขาวสีเทาหรือสีเขียว
- การแพ้สารเคมี เช่น สารเคมีจากสบู่ น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผ้าอนามัยแบบสอด ห่วงอนามัย และกระดาษชำระ ที่อาจส่งผลให้ช่องคลอดระคายเคือง ทำให้ช่องคลอดอักเสบจนช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคพยาธิในช่องคลอด เริม หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต ซึ่งอาจได้รับมาจากคู่นอนระหว่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือจากการสัมผัสกับผิวหนังและสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อโดยตรง
- การดูแลสุขอนามัยไม่ดี เช่น การสวมกางเกงชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป การเลือกวัสดุกางเกงชั้นในที่ระบายอากาศไม่ดี อับชื้น และการไม่ทำความสะอาด หรือซับช่องคลอดให้แห้ง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตมากเกินไป จนส่งผลให้ช่องคลอดเสียสมดุล ระคายเคือง ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น บางคนอาจมีอาการคันระคายเคืองรุนแรงและตกขาวผิดปกติร่วมด้วย
ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น วิธีแก้มีอะไรบ้าง
ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น วิธีแก้อาจมีดังนี้
1. ยารักษา
ยารักษาช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย หากภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียส่งผลให้ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น วิธีแก้คือการใช้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานหรือแบบฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ตัวอย่างยาที่ใช้ อาจมีดังนี้
- เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เป็นยาในรูปแบบเม็ดและแคปซูล โดยรับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน โดยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่ใช้ยา และควรใช้ยาตามคุณหมอสั่ง
- คลินดามัยซิน (Clindamycin) โดยมีทั้งแบบชนิดสอดช่องคลอด หรือแบบรับประทาน โดยควรใช้ตามคุณหมอสั่ง
ยารักษาการติดเชื้อรา หากการติดเชื้อราส่งผลให้ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น วิธีแก้คือการใช้ยาต้านเชื้อราที่มีในรูปแบบครีม และยาเหน็บ เพื่อช่วยต้านเชื้อรา หยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ลดอาการแสบร้อนและอาการคันในช่องคลอด ตัวอย่างยาที่ใช้ อาจมีดังนี้
- ไทโอโคนาโซล (Tioconazole)
- โคลไทรมาโซล (Clotrimazole)
- บูโตโคนาโซล (Butoconazole)
ยาต้านไวรัส หากการติดเชื้อไวรัสส่งผลให้ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น วิธีแก้คือการใช้ยาต้านไวรัส เช่น แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ซึ่งเป็นยาในรูปแบบรับประทานที่ใช้ต้านไวรัสบางชนิด เช่น โรคงูสวัด โรคเริม
2. ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
- ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการสวมถุงยางอนามัยและหลีกเลี่ยงการมีคู่นอนจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง
- หากสังเกตว่ามีอาการแพ้ ควรเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผ้าอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและอักเสบ
- ควรล้างอวัยวะเพศให้สะอาดและซับให้แห้ง โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันแบคทีเรียจากทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด
- สวมกางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี โดยควรเลือกที่ทำจากผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงการสวมกางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เพราะหากมีน้ำหนักเกินมาตรฐานอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
อาการผิดปกติบริเวณช่องคลอด ที่ควรพบคุณหมอ
อาการผิดปกติ ที่ควรพบคุณหมอ มีดังนี้
- ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
- อาการคันช่องคลอดรุนแรง
- มีตุ่มขึ้นรอบ ๆ ช่องคลอด
- ตกขาวผิดปกติ เช่น สีเขียว สีเทา สีเหลือง เป็นก้อนหนา หรือมีเลือดปะปน
- เจ็บแสบช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์และปัสสาวะ
- มีไข้ หนาวสั่น และปวดอุ้งเชิงกราน