backup og meta

คันช่องคลอด ฉี่บ่อย เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    คันช่องคลอด ฉี่บ่อย เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไร

    ผู้หญิงหลายคนอาจประสบกับปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น คันช่องคลอด ฉี่บ่อย ช่องคลอดมีกลิ่น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศได้ไม่ดี การตั้งครรภ์ ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อีกทั้งอาการคันช่องคลอด ฉี่บ่อย ยังอาจเป็นสัญญาณเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อแบคทีเรีย หากสังเกตพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติบริเวณช่องคลอด ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    คันช่องคลอด ฉี่บ่อย เกิดจากอะไร

    ภาวะสุขภาพที่อาจทำให้มีอาการคันช่องคลอด ฉี่บ่อย มีดังนี้

    โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)

    โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease หรือ STD) ที่พบบ่อย เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว ซึ่งเป็นปรสิตขนาดเล็กที่มักทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง เช่น ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก ท่อปัสสาวะ โดยเชื้อนี้จะแพร่กระจายได้เมื่อองคชาตสัมผัสกับช่องคลอด ทั้งนี้ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงก็เสี่ยงติดเชื้อทางช่องคลอดได้เช่นกัน หากเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดแล้วไม่รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้อวัยวะภายในระคายเคือง และเสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม การติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิส ทั้งยังอาจแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ด้วย

    การติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดระยะแรกมักไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ แต่อาการจะเริ่มปรากฏให้เห็นหลังจากติดเชื้อแล้วหลายวันหรือหลายสัปดาห์ โดยอาการที่พบ อาจมีดังนี้

  • มีอาการคัน แสบร้อน แดง ที่อวัยวะเพศ
  • ฉี่บ่อยกว่าปกติ
  • รู้สึกแสบขณะฉี่
  • มีตกขาวปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นสีใส สีขาว สีเทา สีเหลือง หรือสีเขียว
  • ตกขาวอาจส่งกลิ่นเหม็น
  • มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • วิธีรักษา โรคพยาธิในช่องคลอดอาจรักษาได้ด้วยการให้ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของโปรโตซัว โดยควรกินยาติดต่อกันจนหมดแม้ว่าจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และควรให้คู่นอนไปพบคุณหมอด้วยเช่นกัน เมื่ออาการหายไปแล้ว ควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปอีกอย่างน้อย 7-10 วันเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายเชื้อในภายหลัง และควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อแล้ว

    นอกจากนี้ ภาวะสุขภาพอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ก็อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของช่องคลอด เช่น คันช่องคลอด ฉี่บ่อย ได้เช่นกัน

    • โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection หรือ UTI) มักเกิดขึ้นเมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะและอาจแพร่กระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปวดฉี่บ่อย แสบอวัยวะเพศขณะฉี่ ฉี่ส่งกลิ่นเหม็น ปวดบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน อ่อนเพลีย ทั้งนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดปริมาณแบคทีเรีย
    • โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis) เกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) ซึ่งเป็นเชื้อยีสต์ที่พบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ในช่องคลอด ในช่องปาก แต่หากเชื้อราแคนดิดาภายในช่องคลอดและปากช่องคลอดเจริญเติบโตมากเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการคันช่องคลอด เจ็บแสบอวัยวะเพศขณะฉี่ มีตกขาวเป็นก้อนคล้ายแป้งสีขาวหรือสีเหลืองข้น โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาต้านเชื้อรา
    • โรคช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) เกิดจากช่องคลอดมีแบคทีเรียชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปจนทำให้ปริมาณแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล ส่งผลให้มีอาการคันภายนอกช่องคลอด ช่องคลอดส่งกลิ่นเหม็นคาวโดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์หรือขณะเป็นประจำเดือน มีของเหลวสีเทา สีเขียว หรือสีเหลืองไหลออกจากช่องคลอด รู้สึกแสบขณะฉี่ ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย

    หากพบว่ามีอาการคันบริเวณช่องคลอด ฉี่บ่อย เวลาปวดฉี่แล้วต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ ไม่สามารถกลั้นฉี่ได้ แต่เมื่อฉี่แล้วกลับไม่สุดหรือฉี่ออกมาได้เพียงเล็กน้อย แสบอวัยวะเพศขณะฉี่ อาจหมายถึงมีการติดเชื้อทั้งในระบบทางเดินปัสสาวะและการติดเชื้อราในช่องคลอดพร้อม ๆ กัน เนื่องจากอาการคันอวัยวะเพศเป็นอาการที่พบบ่อยเมื่อติดเชื้อในช่องคลอด ส่วนความผิดปกติเวลาฉี่เป็นอาการทั่วไปของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

    การติดเชื้อทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกันอาจเป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคอื่น ๆ เนื่องจากยาปฏิชีวนะอาจทำให้ปริมาณแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล ส่งผลให้เชื้อยีสต์เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ จนอาจเกิดการติดเชื้อราภายในช่องคลอดร่วมด้วยในภายหลัง เพื่อความแน่ใจควรไปพบคุณหมอเพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้อาการลุกลามรุนแรง หรือเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อที่ติดต่อกันได้ไปยังบุคคลอื่น

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการคันช่องคลอด ฉี่บ่อย

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ อาจทำได้ดังนี้

    • ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว อาจช่วยให้ฉี่ได้บ่อยขึ้น ซึ่งจะทำให้แบคทีเรียถูกขับออกทางฉี่ก่อนเกิดการติดเชื้อ
    • ถ่ายปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้นกว่าของผู้ชาย ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคหรือแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า
    • ควรซับอวัยวะเพศให้แห้งสะอาดทุกครั้งหลังอาบน้ำและขับถ่าย โดยใช้ทิชชู่หรือผ้าขนหนูสะอาดเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันบริเวณอวัยวะเพศอับชื้นจนเกิดการสะสมของเชื้อรา และป้องกันแบคทีเรียจากทวารหนักแพร่กระจายของไปยังช่องคลอดและท่อปัสสาวะ
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้บริเวณช่องคลอดระคายเคือง เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด แป้ง สเปรย์ระงับกลิ่น น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด (Vaginal douching) เพราะอาจทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุลจนเกิดการติดเชื้อได้
    • เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากผ้าอนามัยเต็มเร็ว เช่น ในวันมามาก เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและลดการอับชื้น
    • หากใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดบางชนิด เช่น หมวกครอบปากมดลูก (Cervical diaphragm) ถุงยางอนามัยที่ไม่เคลือบสารหล่อลื่น ถุงยางอนามัยที่เคลือบสารฆ่าเชื้ออสุจิ แล้วทำให้ช่องคลอดระคายเคือง หรือมีปัญหาแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล ควรเปลี่ยนไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา