ต่อมลูกหมากโต สาเหตุ ที่ส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณต่อมลูกหมากและมีปัญหาการปัสสาวะอาจยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มักพบได้มากในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ขณะเดียวกันก็อาจพบได้ในอายุที่ต่ำกว่า 40 ปี เช่นกัน ดังนั้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
[embed-health-tool-bmi]
ต่อมลูกหมากโต สาเหตุ คืออะไร
ต่อมลูกหมากโต อาจมีสาเหตุไม่ชัดเจน แต่คาดว่าเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุลเมื่ออายุมากขึ้น จึงอาจนำไปสู่ภาวะต่อมลูกหมากโต นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ต่อมลูกหมากโตได้เช่นกัน เพราะโรคเรื้อรังเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล โดยขนาดของต่อมลูกหมากนั้นอาจเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไปและควรรีบรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และไตเสียหาย รวมถึงช่วยให้ขับถ่ายสะดวกและผลิตของเหลวหล่อเลี้ยงอสุจิได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากต่อมลูกหมาก เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ที่ห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนบน มีลักษณะคล้ายลูกเกาลัดและความสำคัญในการสร้างของเหลวหรือน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิให้อสุจิแข็งแรงเพียงพอที่จะว่ายเข้าสู่ช่องคลอดไปผสมกับไข่ส่งผลให้มีบุตรง่าย
อาการของต่อมลูกหมากโต
อาการของต่อมลูกหมากโต อาจมีดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อยมากกว่า 8 ครั้ง/วัน หรือปัสสาวะหลายครั้งในช่วงเวลากลางคืน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะติดขัดและปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปวดท้องส่วนล่าง
- มีไข้และหนาวสั่น
วิธีรักษาต่อมลูกหมากโต
วิธีรักษาต่อมลูกหมากโต มีดังนี้
- ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blockers) เช่น ดอกซาโซซิน (Doxazosin) ไซโลโดซิน (Silodosin) อัลฟูโซซิน (Alfuzosin) แทมซูโลซิน (Tamsulosin) พราโซซิน (Prazosin) และเทราโซซิน (Terazosin) เหมาะสำหรับผู้ชายที่ต่อมลูกหมากโตในขนาดเล็ก ใช้เพื่อช่วยให้คลายกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมากผ่อนคลาย ส่งผลให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้นที่อาจเห็นผลหลังจากใช้ยาประมาณ 3-7 วัน และจำเป็นต้องใช้ต่อเนื่องเป็นวลา 3-6 เดือน อย่างไรก็ตามยานี้ไม่อาจช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากลง ผลข้างเคียงเล็กน้อยของยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์มักก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ เป็นลมและอสุจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
- ยากลุ่ม 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5 Alpha Reductase Inhibitor) เช่น ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ดูแทสเทอไรด์ (Dutasteride) ใช้เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศที่ส่งผลให้ต่อมลูกหมากโตและช่วยต่อมลูกหมากที่โตมีขนาดเล็กลง รวมถึงช่วยปรับปรุงการไหลของปัสสาวะบรรเทาอาการปัสสาวะผิดปกติ ซึ่งอาจเห็นผลประมาณ 6 เดือน หลังจากใช้ยา อย่างไรก็ตามยานี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้แรงขับทางเพศลดลง อสุจิไหลกลับเข้าไปในกะรเพาะปัสสาวะ และหย่อยสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจดีขึ้นเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับยาได้
- การใช้ยามากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตัวใดตัวหนึ่ง คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยากลุ่มแอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ ร่วมกับ แอลฟา-บล็อกเกอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาที่อาจช่วยบรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต
- การผ่าตัดส่องกล้องต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate: TURP) โดยคุณหมอจะสอดกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะและผ่าตัดนำชิ้นเนื้อออกทั้งหมดยกเว้นส่วนนอกของต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น
- การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate: TUIP) โดยคุณหมอจะกรีดเปิดต่อมลูกหมากเล็กน้อยและสอดกล้องเข้าไปยังท่อปัสสาวะ จากนั้นจะตัดชิ้นเนื้อเพียงบางส่วนภายในต่อมลูกหมากออก เพื่อช่วยลดแรงกดทับและทำให้ปัสสาวะสะดวกลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- การผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave Thermotherapy: TUMT) โดยคุณหมอจะทำการใส่อิเล็กโทรดผ่านเข้าไปในท่อปัสสาวะจนไปถึงต่อมลูกหมาก และปล่อยคลื่นไมโครเวฟ เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบางส่วนของต่อมลูกหมากออก ที่อาจช่วยให้ต่อมลูกหมากโตหดตัวลง
- การผ่าตัดส่องกล้องด้วยเข็ม (Transurethral Needle Ablation: TUNA) โดยคุณหมอจะสอดเข็มเข้าไปในต่อมลูกหมากและปล่อยคลื่นวิทยุไปที่เข็ม ทำให้เกิดความร้อนเพื่อเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมาก ช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Therapy) รังสีของเลเซอร์ที่ให้พลังงานสูงอาจช่วยกำจัดเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมาก ทำให้บรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต ป้องกันการงอกใหม่ของเนื้อเยื่อและช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาแบบผ่าตัด
การป้องกันต่อมลูกหมากโต
การป้องกันต่อมลูกหมากโต อาจเริ่มจากการดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง และรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืชและเนื้อสัตว์ไร้ไขมันเป็นหลัก เช่น ผักใบเขียว ฟักทอง ส้ม มะละกอ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ถั่วเหลือง ปลาแซลมอน เต้าหู้ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุล รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ชา เพราะอาจส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง ทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง นำไปสู่ต่อมลูกหมากโต
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในปริมาณมากเมื่อต้องเดินทางออกนอกบ้าน เดินทางไกล หรือก่อนเข้านอน เพราะอาจทำให้อั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วและต่อมลูกหมากโตได้