backup og meta

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีบทบาทสำคัญอย่างไร

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีบทบาทสำคัญอย่างไร

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วยรังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก ปากมดลูก และช่องคลอด ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะแตกต่างกันออกไป การดูแลสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงอาจทำได้โดยการเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งท่อนำไข่ เป็นต้น

[embed-health-tool-ovulation]

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง คืออะไร

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง คือ ส่วนสำคัญของกระบวนการสืบพันธุ์ ที่มีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก โดยมีต่อมใต้สมองที่คอยสร้างฮอร์โมนเพศที่ช่วยกระตุ้นให้รังไข่เกิดการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน และนำส่งไปยังท่อนำไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิจากฝ่ายชาย จนกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวที่เยื่องบุโพรงมดลูก และเกิดเป็นการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกและไหลออกมาเป็นประจำเดือน

ส่วนประกอบของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

ส่วนประกอบของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีดังนี้

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงภายนอก

  • แคมนอก หรือ แคมใหญ่ (Labia Majora) คือ เนื้อเยื่อผิวหนังที่มีลักษณะเป็นกลีบ 2 กลีบ อยู่บริเวณหัวหน่าวจนถึงปากช่องคลอด มีขนอวัยวะเพศปกคลุม
  • แคมใน หรือ แคมเล็ก (Labia Minora) คือ เนื้อเยื่อผิวหนังที่มีลักษณะเหมือนแคมใหญ่แต่มีขนาดที่เล็กกว่า อยู่ด้านในแคมใหญ่ ล้อมรอบบริเวณปากช่องคลอด ทำหน้าที่ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าสู่อวัยวะสืบพันธุ์ด้านใน
  • คลิตอริส หรือ ปุ่มกระสัน (Clitoris) คือ อวัยวะที่ถูกแคมเล็กปกคลุม มีลักษณะเป็นปุ่มเล็ก ๆ ที่ไวต่อความรู้สึก เมื่อสัมผัสอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ทำให้ผู้หญิงไปถึงจุดสุดยอดได้
  • ต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s Gland) คือต่อมที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดทั้งสองด้าน มีหน้าที่ผลิตสารหล่อลื่นภายในช่องคลอด เพื่อช่วยลดการเสียดสีที่อาจส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงภายใน

  • ท่อปัสสาวะ (Urethra) คือ ท่อที่เชื่อมต่อกับกระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่เป็นทางผ่านให้น้ำปัสสาวะไหลสู่ภายนอก
  • ช่องคลอด (Vagina) คือ ช่องกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อกับปากมดลูก ไปจนถึงมดลูก มีหน้าที่เป็นทางผ่านให้อสุจิไปผสมกับไข่ เป็นทางออกของประจำเดือนและทารกในครรภ์ ช่องคลอดเป็นอวัยวะที่มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถขยายได้ใหญ่พอให้ศีรษะและลำตัวของทารกในครรภ์ผ่านได้
  • มดลูก (Uterus) คือ อวัยวะที่อยู่บริเวณกระดูกเชิงกราน มีลักษณะคล้ายลูกแพร์ มีท่อยาว 2 ทางที่เชื่อมต่อกับปีกมดลูกซ้ายและปีกมดลูกขวา และอีกส่วนหนึ่งเชื่อมต่อกับช่องคลอด มดลูกมีบทบาทสำคัญต่อวงจรการเจริญพันธุ์ การสืบพันธุ์ และการคลอดบุตร นอกจากนี้ กล้ามเนื้อมดลูกยังสามารถขยายออกได้เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และสามารถหดกลับสู่ขนาดปกติได้หลังคลอด
  • รังไข่ (Ovaries) มีลักษณะเป็นวงรี ติดกับปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศให้สมดุล โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่กระตุ้นให้ประจำเดือนมาปกติ อีกทั้งยังมีหน้าที่ผลิตไข่ออกมาและลำเลียงผ่านท่อนำไข่ เพื่อเตรียมผสมกับอสุจิ
  • ท่อนำไข่ (Fallopian tubes) คือ ท่อขนาดเล็กที่เชื่อมติดกับมดลูกส่วนบน เป็นทางผ่านให้ไข่ที่สุกแล้วจากรังไข่ เคลื่อนผ่านออกมายังมดลูก เพื่อรอผสมกับตัวอสุจิ

โรคที่พบบ่อยในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

โรคที่พบบ่อยในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีดังต่อไปนี้

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคหูดหงอนไก่ โรคซิฟิลิส การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus: HPV) โรคเอดส์ โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ซึ่งอาจได้รับผ่านทางสารคัดหลั่งในช่องคลอดหรือน้ำอสุจิ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรืออาจได้รับผ่านทางเลือดจากการบริจาคเลือด หรือถ่ายทอดทางแม่สู่ทารกในครรภ์
  • โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease) คือ ภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ส่วนบน เช่น มดลูก ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน รังไข่ ที่อาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องรุนแรง และอาจนำไปสู่ภาวะปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง หรือเกิดผังพืดภายในโพรงมดลูกที่อาจทำให้มีบุตรยากได้ในอนาคต
  • เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis) คือ ภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ในโพรงมดลูก เช่น อุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง เลือดออกในช่องท้อง รอบเดือนเปลี่ยนแปลง
  • มดลูกหย่อน (Prolapsed uterus) คือ ภาวะที่เกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมอุ้งเชิงกรานและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ช่วยยึดมดลูกอ่อนแอลง ส่งผลให้มดลูกหย่อน และอาจยื่นออกมาทางช่องคลอด สามารถเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกช่วงวัย แต่อาจพบได้บ่อยในผู้หญิงหลังจากคลอดบุตรและผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจทำให้ปัสสาวะหรือขับถ่ายลำบาก
  • โรคมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งยังไม่มีสาเหตุแน่ชัดที่ก่อให้เกิดโรคเหล่านี้ แต่อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น โรคอ้วน การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิด การทำฮอร์โมนบำบัด ภาวะไข่ไม่ตกเรื้งรัง ที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดสูง ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนร่างกายไม่สมดุล และอาจส่งผลให้มดลูกไม่สามารถลอกตัวได้ ทำให้เนื้อเยื่อหนาขึ้นผิดปกติจนพัฒนาเป็นมะเร็ง

การดูแลระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

การดูแลระบบสืบพันธุ์เพศหญิง อาจทำได้ดังนี้

  • รับการฉีดวัคซีน อย่างวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำเข้าสู่ภายในอวัยวะเพศ ควรทำความสะอาดแค่บริเวณรอบนอกหลังจากขับถ่าย และใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษชำระเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • เลือกสวมใส่กางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อให้ระบายอากาศและความอับชื้นได้ดี เพราะความอับชื้นเป็นสิ่งกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา ที่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดและช่องคลอดอักเสบได้
  • สังเกตอาการผิดปกติ เช่น อาการคันช่องคลอด ช่องคลอดบวม ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน อวัยวะเพศเป็นแผล เจ็บแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว เทา เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต
  • การออกกำลังกายแบบคีเกล (Kegel) หรือการขมิบช่องคลอด เป็นการออกกำลังกายที่อาจช่วยกระชับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ป้องกันอุ้งเชิงกรานอ่อนแรง ที่อาจทำให้มดลูกหย่อนได้ โดยควรขมิบช่องคลอด 3 รอบ/วัน รอบละ 10 ครั้ง ครั้งละ 5 วินาที
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ควรมีคู่นอนหลายคน
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสารเสพติด เพราะอาจทำให้ควบคุมสติได้ยาก นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • การใช้ยาเพร็พ (Pre-exposure prophylaxis: PREP) ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวี เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะรับเชื้อเอชไอวี โดยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนใช้ และควรใช้ยาเพร็พอย่างต่อเนื่องตามที่คุณหมอกำหนด พร้อมกับเข้ารับการทดสอบหาเชื้อทุก ๆ 3 เดือน นอกจากนี้ ยังมียาเพ็พหรือยาเป๊ป (Post-Exposure Prophylaxis: PEP) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสแบบฉุกเฉินที่ควรใช้ทันทีภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเวลาที่คาดว่าจะได้รับเชื้อ เพื่อช่วยต้านเชื้อไวรัส และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี
  • การตรวจคัดกรองโรคในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงเป็นประจำ เพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และความผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your Guide to the Female Reproductive System. https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/your-guide-female-reproductive-system. Accessed June 14, 2022

Female Reproductive System – Reproductive Health. https://www.cdc.gov/niosh/topics/repro/femalereproductivesystem.html. Accessed June 14, 2022

FEMALE REPRODUCTIVE SYSTEM TERMS. HTTPS://WWW.DMU.EDU/MEDTERMS/FEMALE-REPRODUCTIVE-SYSTEM/. Accessed June 14, 2022

Sexually transmitted diseases (STDs). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sexually-transmitted-diseases-stds/symptoms-causes/syc-20351240. Accessed June 14, 2022

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก.https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=945. Accessed June 14, 2022

Vagina: What’s typical, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/vagina/art-20046562. Accessed June 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/10/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์ ประโยชน์ และข้อควรรู้ เพื่อให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เริมที่อวัยวะเพศหญิง สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/10/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา