รังไข่เป็นอวัยวะที่สำคัญต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิงเป็นอย่างมาก แต่หลายคนก็ยังอาจไม่ทราบแน่ชัดว่า รังไข่ทําหน้าที่อะไร รังไข่มีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงและเซลล์สืบพันธุ์ ทั้งยังควบคุมการปล่อยไข่ในแต่ละเดือน เพื่อให้มีไข่สุกพร้อมสำหรับการผสมกับอสุจิ ผู้หญิงทุกคนควรดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเกี่ยวกับรังไข่ เช่น ซีสต์รังไข่ เนื้องอกรังไข่ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องตัดรังไข่ทิ้ง และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
[embed-health-tool-ovulation]
รังไข่ คืออะไร
รังไข่ (Ovary) คือ อวัยวะขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับปีกมดลูกทั้งสองข้าง จัดเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงและระบบต่อมไร้ท่อ มีรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์และมีตั้งแต่สีเทาอ่อนไปจนถึงสีขาว รังไข่จะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในอุ้งเชิงกรานยึดไว้ให้อยู่กับที่ และจะมีเอ็นที่เรียกว่า โอวาเรียน ลิกาเมนต์ (Ovarian Ligament) คอยยึดรังไข่ไว้กับมดลูก โดยทั่วไป รังไข่จะมีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร หรืออาจขยายตัวถึง 6 เซนติเมตร ทั้งนี้ ขนาดของรังไข่จะสัมพันธ์กับอายุ ยิ่งอายุมากขึ้น รังไข่ก็จะยิ่งเล็กลง และอาจมีขนาดเพียง 2 เซนติเมตรหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
รังไข่ทําหน้าที่อะไร
รังไข่เป็นอวัยวะสำคัญในกระบวนการสืบพันธุ์และผลิตฮอร์โมน มีหน้าที่ผลิตและเก็บรักษาไข่ หลั่งฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจน (Estrogen) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะของเพศหญิง เช่น พัฒนาการของเต้านม รูปร่าง และขนตามร่างกาย นอกจากนี้ ฮอร์โมนเพศหญิงยังมีหน้าที่ควบคุมรอบประจำเดือน ภาวะเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์
อาการที่เป็นสัญญาณว่ารังไข่ผิดปกติ
อาการที่เป็นสัญญาณว่ารังไข่มีปัญหา อาจแตกต่างไปในแต่ละคน โดยอาจมีดังนี้
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องอืด
- มีแรงกดที่ช่องท้อง หรือกดท้องส่วนล่างแล้วรู้สึกเจ็บ
- คลื่นไส้ หรือ อาเจียน
- มีประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีตกขาว
- มีอาการปวดประจำเดือน
- มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ
- มีภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation) อาจทำให้มีอาการขาดประจำเดือนครั้งละหลาย ๆ เดือนหรือประจำเดือนมาเพียงไม่กี่ครั้งใน 1 ปี
ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับรังไข่ที่ควรใส่ใจ
ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับรังไข่ อาจมีดังนี้
-
ซีสต์รังไข่หรือถุงน้ำในรังไข่ (Cystic Ovary)
เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการและหายไปได้เอง แต่หากถุงน้ำในรังไข่มีขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ ท้องอืด รู้สึกถึงแรงกดในช่องท้อง อีกทั้งถุงน้ำในรังไข่ยังอาจทำให้เกิดภาวะรังไข่บิดขั้ว (Ovarian torsion) จนเลือดไปเลี้ยงรังไข่ไม่เพียงพอ หรือเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่แตก (Cyst rupture) จนทำให้ปวดท้องรุนแรงและมีเลือดออกภายในอุ้งเชิงกราน
เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) มากเกินไป ส่งผลให้มีถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมากภายในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อีกทั้งฮอร์โมนที่แปรปรวนยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการปล่อยไข่ของรังไข่ ทำให้การตกไข่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่เลย อาจส่งผลให้มีบุตรยาก หากพบในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด และอาจนำไปสู่การสูญเสียทารกในครรภ์ได้
-
โรคมะเร็งรังไข่
โรคมะเร็งรังไข่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกคน มักพบในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่ก็อาจทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป โรคมะเร็งรังไข่อาจทำให้มีอาการท้องบวม ท้องอืด ปวดท้อง หรือรู้สึกถึงแรงกดภายในช่องท้องและบริเวณอุ้งเชิงกราน ไม่อยากอาหาร เป็นต้น การรักษาทำได้ด้วยการผ่าตัดและเคมีบำบัด ซึ่งประสิทธิภาพของการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
-
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency)
พบในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี เกิดขึ้นเมื่อรังไข่เสื่อมสภาพก่อนกำหนดและหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ประวัติคนในครอบครัว การผ่าตัดรังไข่ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ร้อนวูบวาบ ตั้งครรภ์ยาก ช่องคลอดแห้ง เหงื่อออกตอนกลางคืน
เป็นการติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงส่วนบน เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ โพรงมดลูก มักเกิดจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ ส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแสบเมื่อถ่ายปัสสาวะ มีเลือดออกทางช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือในช่วงที่ไม่เป็นประจำเดือน เป็นต้น การรักษาด้วยการรับยาปฏิชีวนะตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เสียหายระยะยาวได้
-
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
เป็นภาวะที่มีเนื้อเยื่อคล้ายเยื่อโพรงบุมดลูกไปเจริญเติบโตภายนอกมดลูก ทำให้มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์และขณะถ่ายปัสสาวะ ท้องเสียหรือท้องผูกขณะเป็นประจำเดือน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทั้งยังอาจส่งผลให้มีบุตรยากอีกด้วย
วิธีดูแลสุขภาพรังไข่
การดูแลรังไข่ให้แข็งแรง อาจทำได้ด้วยการใส่ใจสุขภาพโดยรวมของตัวเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระชับอุ้งเชิงกราน รักษาน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอนหลับอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอย่างสมดุล เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ยังควรไปตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้คุณหมอและผู้ป่วยวางแผนรักษาได้อย่างทันท่วงที และป้องกันความเสียหายต่ออวัยวะในระบบสืบพันธุ์ได้