backup og meta

วิธีรักษาอาการแสบช่องคลอด ทำได้อย่างไรบ้าง

วิธีรักษาอาการแสบช่องคลอด ทำได้อย่างไรบ้าง

อาการแสบร้อนช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพบางประการที่ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยทั่วไป วิธีรักษาอาการแสบช่องคลอด จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาเภสัชกรหรือพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

[embed-health-tool-bmi]

อาการแสบช่องคลอด เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

อาการแสบช่องคลอด อาจเกิดจากหลายสาเหตุต่อไปนี้

  • ภาวะวัลโวดีเนีย (Vulvodynia)

เป็นภาวะปวดบริเวณช่องคลอดเรื้อรังที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นที่เกี่ยวกับการสัมผัส เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกเจ็บบริเวณช่องคลอด บางครั้งอาจปวดลามไปทั่วอวัยวะเพศและทวารหนัก

  • อาการระคายเคืองช่องคลอด

อาการระคายเคืองช่องคลอดจากการใช้สิ่งของที่ทำให้ช่องคลอดระคายเคืองเช่น ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัยแบบแผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด น้ำยาซักผ้า สเปรย์กำจัดขน ครีม สบู่ กระดาษชำระที่มีน้ำหอม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอด รวมถึงการสวนล้างช่องคลอด อาจทำให้ช่องคลอดและบริเวณโดยรอบระคายเคือง และมีอาการแสบช่องคลอดได้

  • โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)

เกิดจากภายในช่องคลอดมีแบคทีเรียชนิดไม่ดีอย่างแบคทีเรียแอนแอโรบส์ (Anaerobes) มากเกินไป ส่งผลให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล และทำให้มีอาการแสบ คัน ระคายเคืองช่องคลอด ร่วมกับมีตกขาวเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีขาวจขุ่น ที่อาจส่งกลิ่นเหม็นคาว

  • โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis)

มักเกิดจากเชื้อแคนดิดา แอลบิแคนส์ (Candida albicans) อาจทำให้เกิดอาการช่องคลอดและปากช่องคลอดแสบร้อนหรือบวมแดง มีตกขาวเป็นก้อนแป้งที่ไม่มีกลิ่น แต่จะรู้สึกคัน ระคายเคือง และอาจรู้สึกแสบหรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือถ่ายปัสสาวะ

  • โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease หรือ STD)

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่อไปนี้ อาจทำให้เกิดอาการแสบช่องคลอด

  • โรคหนองในเทียม (Chlamydia) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) อาจทำให้เจ็บหรือแสบร้อนขณะถ่ายปัสสาวะ
  • โรคหนองใน (Gonorrhea) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) อาจทำให้คันปากช่องคลอด เจ็บหรือแสบขณะถ่ายปัสสาวะ
  • โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว และอาจทำให้มีอาการแสบร้อนช่องคลอด
  • โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ทำให้มีอาการคัน ระคายเคือง แสบร้อนช่องคลอด
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection หรือ UTI)

เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่ออวัยวะหลายส่วนในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้มีอาการปวดหรือแสบร้อนเวลาปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน

เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงจะทำให้ผนังช่องคลอดบางและแห้งลง และอาจทำให้มีช่องคลอดระคายเคือง คัน และอาการแสบช่องคลอดเนื่องจากมีของเหลวหล่อเลี้ยงน้อยลง โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน มีความต้องการทางเพศลดลง อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ

วิธีรักษาอาการแสบช่องคลอด

วิธีรักษาอาการแสบช่องคลอด สามารถทำได้ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • อาการแสบช่องคลอดจากภาวะวัลโวดีเนีย อาจรักษาด้วยการทาเจลหล่อลื่นก่อนการมีเพศสัมพันธ์ รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งให้ กายภาพบำบัด การบำบัดทางจิตวิทยาและการรับคำปรึกษา การผ่าตัด เป็นต้น
  • อาการแสบช่องคลอดจากการระคายเคือง อาจรักษาและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยการหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และงดการสวนล้างช่องคลอด สำหรับผู้ที่มีอาการจากการใช้ถุงยางอนามัยแนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเลือกชนิดถุงยางอนามัยที่เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้ง่าย
  • อาการแสบช่องคลอดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บางครั้งโรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอาจหายไปได้เอง แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรไปพบคุณหมอและรับการรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันจนหมดตามปริมาณและระยะเวลาที่คุณหมอสั่ง เพื่อควบคุมปริมาณแบคทีเรียและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • อาการแสบช่องคลอดจากการติดเชื้อรา อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ครีม ขี้ผึ้ง ยาเหน็บ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • อาการแสบช่องคลอดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านปรสิต (Antiparasitic drugs) หรือยาอื่น ๆ ตามโรคที่เป็นสาเหตุ ทั้งนี้ ควรรักษาให้หายโดยเร็ว เพราะหากปล่อยไว้นานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease หรือ PID) ภาวะมีบุตรยาก
  • อาการแสบช่องคลอดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยผู้ป่วยควรใช้ยาติดต่อกันให้หมดตามที่คุณหมอสั่งแม้ว่าอาการจะหายไปแล้วก็ตาม เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไป ป้องกันเชื้อดื้อยาและการกลับมาเป็นอีกในภายหลัง
  • อาการแสบช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน อาจรักษาได้ด้วยการใช้เอสโตรเจนชนิดเม็ดหรือครีมเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณช่องคลอด และการทามอยส์เจอร์ไรเซอร์บริเวณอวัยวะเพศภายนอก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ลดการระคายเคือง และอาจช่วยลดอาการแสบช่องคลอดได้

วิธีป้องกันอาการแสบช่องคลอด

การดูแลช่องคลอดและอวัยวะเพศด้วยวิธีเหล่านี้ อาจช่วยป้องกันอาการแสบช่องคลอดได้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม เช่น ผ้าอนามัย กระดาษชำระ สเปรย์ระงับกลิ่นช่องคลอด
  • งดสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล จนติดเชื้อได้ง่าย
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่า และทำความสะอาดบริเวณภายนอกด้วยสบู่ที่ไม่มีน้ำหอม
  • สวมกางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี และควรเปลี่ยนกางเกงในใหม่ทุกวัน
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หากอวัยวะเพศแห้ง ควรทาเจลหล่อลื่นก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดการเสียดสีและการระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการแสบช่องคลอดจะดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณที่มีอาการคัน ระคายเคือง หรือแสบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bacterial vaginosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bacterial-vaginosis/symptoms-causes/syc-20352279#:~:text=Bacterial%20vaginosis%20is%20a%20type,affect%20women%20of%20any%20age. Accessed April 18, 2023

Vaginal Itching, Burning, and Irritation. https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-itching-burning-irritation. Accessed April 18, 2023

Vulvodynia (vulval pain). https://www.nhs.uk/conditions/vulvodynia/. Accessed April 18, 2023

Urinary Tract Infection. https://www.cdc.gov/antibiotic-use/uti.html. Accessed April 18, 2023

Vaginal Yeast Infections. https://www.webmd.com/women/guide/understanding-vaginal-yeast-infection-basics. Accessed April 18, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคเริมเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา