อวัยวะเพศหญิง คือ อวัยวะสืบพันธุ์ที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ และรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะเป็นจุดซ่อนเร้นที่อาจมีการสะสมของแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา นำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อ ช่องคลอดอักเสบ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งยังส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเอง และอาจทำให้เกิดปัญหาทางความสัมพันธ์อีกด้วย
ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับ อวัยวะเพศหญิง มีอะไรบ้าง
ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับ อวัยวะเพศหญิง มีดังนี้
1. ช่องคลอดอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) ซึ่งแบคทีเรียที่ไม่ดีนั้นมีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเสียสมดุลของกรด-ด่างในช่องคลอด และมีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียที่ดี ส่งผลทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดขาดความสมดุลจนช่องคลอดเกิดการอักเสบ นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida Albican) เชื้อปรสิต การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงหลังจากเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน การสวนล้างช่องคลอด ใช้สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศภายนอก และภายในช่องคลอดได้ โดยอาจสังเกตได้จากอาการคัน สีของตกขาวผิดปกติ กลิ่นไม่พึงประสงค์ และเจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
วิธีรักษาช่องคลอดอักเสบ
วิธีรักษาช่องคลอดอักเสบ อาจแบ่งตามสาเหตุที่เป็น ดังนี้
- ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจรักษาด้วยยาเม็ดรูปแบบรับประทาน เจล ครีม ยาเหน็บ เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) คลินดามัยซิน (Clindamycin) ทินิดาโซล (Tinidazole) เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อรา อาจรักษาได้ด้วยยาที่คุณหมอแนะนำ โดยมีทั้งรูปแบบครีมทาและยาเหน็บในช่องคลอด เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือในรูปแบบยารับประทาน เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อปรสิตไตรโคโมแนส (Trichomoniasis) คุณหมออาจรักษาด้วยการสั่งจ่ายยา เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) ร่วมกับการรักษาคู่นอนเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ
- ช่องคลอดอักเสบในช่วงวัยหมดประจำเดือน สำหรับผู้ที่เป็นช่องคลอดอักเสบจากสาเหตุนี้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาด้วยยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน ในรูปแบบยาเม็ด ครีม
- ช่องคลอดอักเสบจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้คุณหมอทราบถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดอวัยวะเพศ เพื่อให้คุณหมอพิจารณาการรักษาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง
2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิตที่สามารถติดต่อกันได้จากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อทางปาก ทวารหนัก ช่องคลอด โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีมากกว่า 20 ชนิด เช่น
- โรคเริม
- หนองในแท้
- หนองในเทียม
- โรคซิฟิลิส
- โรคเอดส์
นอกจากนี้สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจทำให้ทารกได้รับเชื้อระหว่างการคลอดผ่านทางช่องคลอด โดยส่วนใหญ่อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจสังเกตได้จาก
- มีไข้
- ปวดท้อง
- สีของตกขาวมีความผิดปกติ และตกขาวมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น สีเขียว สีเหลือง มีลักษณะเป็นฟอง หรือมีเลือดปน
- มีแผล หรือตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
- คันบริเวณอวัยวะเพศหญิง
- รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ รวมถึงระหว่างมีเพศสัมพันธ์
วิธีรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ ส่วนใหญ่อาจใช้ยารักษา ดังต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เพนิซิลลิน (Penicillin) ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต เช่น โรคหนองใน ซิฟิลิส ที่สำคัญในระหว่างการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วัน และเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อเช็กว่ามีแนวโน้มของการติดเชื้ออยู่หรือไม่ หรือมีการติดเชื้ออื่นๆในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วยหรือไม่
- ยาต้านไวรัส สำหรับผู้ที่เป็นเชื้อเริม อาจได้รับยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพื่อบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ
3. อุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ การติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม อาจทำให้มีอาการปวดหน่วงในอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ อาจมีตกขาวปริมาณมากขึ้น และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ และเพิ่มโอกาสการมีภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังในอนาคต
วิธีรักษาอุ้งเชิงกรานอักเสบ
คุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดเข้ากล้ามที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อร่วมกับรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดโดยตรง นอกจากนี้ควรงดมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการรักษา จนกว่าอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบจะหาย
4. มะเร็งช่องคลอด เป็นมะเร็งที่พบได้ยาก ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมีทั้งที่เชื่อว่าสัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส HPV โดยปกติแล้ว มักเกิดจากเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดเป็นเนื้องอก และก่อตัวเป็นก้อนแข็ง ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้
- ตกขาวเป็นน้ำ สีและลักษณะตกขาวเปลี่ยนไป หรือมีเลือดปน
- เลือดออกทางช่องคลอด รู้สึกเจ็บปวดอวัยวะเพศหญิงขณะปัสสาวะ และระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ปวดกระดูกเชิงกราน
- มีก้อนเนื้อในช่องคลอด
วิธีรักษามะเร็งช่องคลอด
วิธีรักษามะเร็งช่องคลอด มีดังนี้
- การผ่าตัด เป็นการกำจัดเนื้องอกในช่องคลอด ในรายที่สามารถผ่าตัดได้ โดยอาจถูกตัดออกเพียงบริเวณที่ได้รับผลกระทบ หรืออาจจำเป็นผ่าตัดระบบสืบพันธุ์ออกทั้งหมด เช่น มดลูก รังไข่ ตามแต่ดุลพินิจของคุณหมอและขนาดของเซลล์มะเร็ง
- การฉายรังสี เป็นการรักษาด้วยการใช้รังสีพลังงานสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำลายเซลล์ หรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ ที่มีสุขภาพดีได้
- เคมีบำบัด อาจใช้ในกรณีที่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลือจากการผ่าตัด ซึ่งอาจรักษาควบคู่กับการฉายรังสี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและฆ่าเซลล์มะเร็ง
5. ถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s Cyst) เกิดจากการที่ต่อมบาร์โธลินที่อยู่บริเวณด้านในช่องคลอด ซึ่งมีหน้าที่ช่วยผลิตสารหล่อลื่นป้องกันช่องคลอดแห้ง เกิดการอุดตัน หรือติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) อาจส่งผลทำให้เกิดซีสต์หรือฝีขนาดเล็ก ตรงอวัยวะเพศด้านนอก มีอาการเจ็บปวดอวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ รู้สึกไม่สบายตัวขณะนั่งหรือเคลื่อนไหว
วิธีรักษาถุงน้ำบาโธลิน
การรักษาถุงน้ำบาโธลิน มีดังนี้
- ผ่าตัดระบายของเหลวที่ติดเชื้อในถุงน้ำต่อมบาร์โธลินออก โดยกรีดบริเวณก้อนหนองหรือถุงน้ำ และเย็บผิวหนังบริเวณขอบของถุงน้ำเพื่อทำการระบายของเหลวออกจนกว่าจะหมด เพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ
วิธีดูแลอวัยวะเพศหญิง
วิธีดูแลอวัยวะเพศหญิง มีดังนี้
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังจากปัสสาวะ ด้วยผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน และเช็ดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังให้แห้ง เพื่อป้องกันการอับชื้น และการติดเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด รวมถึงหลีกเลี่ยงการทาแป้งฝุ่นบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มเสี่ยงในการติดเชื้อ
- เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่น เพื่อดูดซับความชื้น และระบายอากาศได้ดี
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่นำไปสู่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน เริม หูด เอชไอวี
- ออกกำลังกายเพื่อกระชับกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และป้องกันกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ
- เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) และไวรัสอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ตรวจสุขภาพภายใน เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งบริเวณช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก