backup og meta

อาการก่อนเมนส์มา กับ ท้อง แตกต่างกันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/10/2023

    อาการก่อนเมนส์มา กับ ท้อง แตกต่างกันอย่างไร

    อาการก่อนเมนส์มา กับ ท้อง ของผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ล้วนเป็นภาวะที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย จึงทำให้มีอาการบางประการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น อยากอาหาร ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ท้องผูก จนอาจทำให้สับสนได้ว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นอาการก่อนเมนส์มา หรือเกิดจากการตั้งท้องกันแน่ การเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างอาการก่อนเมนส์มากับท้อง อาจช่วยให้สามารถรับมือและดูแลตัวเองได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

    ลักษณะของอาการก่อนเมนส์มา

    กลุ่มอาการก่อนเมนส์มา หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS หรือ Premenstrual Syndrome) อาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

    อาการทางร่างกาย

    • ปวดศีรษะ
    • คัดตึงเต้านม
    • ปวดท้อง
    • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
    • ปวดตามข้อต่อ
    • มือและเท้าบวม
    • เป็นสิว
    • น้ำหนักขึ้น
    • ท้องผูกหรือท้องเสีย

    อาการทางอารมณ์

    • วิตกกังวล เครียด
    • ซึมเศร้า
    • ร้องไห้ง่าย
    • อารมณ์แปรปรวน
    • นอนไม่หลับ
    • ไม่อยากอยู่กับคนเยอะ ๆ
    • รู้สึกว่าเรื่องต่าง ๆ ถาโถมจนรับมือไม่ไหว หรือควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้

    อาการทางพฤติกรรม

    • ขี้ลืม
    • ไม่มีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้นาน
    • เหนื่อยง่าย
    • หิวง่าย รับประทานอาหารมากกว่าปกติ
    • ไวต่อสัมผัส กลิ่นหรือรสชาติของอาหารบางชนิดมากกว่าปกติ

    สัญญาณของการตั้งท้องระยะแรก

    อาการของผู้ที่ตั้งท้องระยะแรก อาจมีดังนี้

    อาการทางร่างกาย

    • ปวดศีรษะ
    • เวียนศีรษะ เป็นลม
    • คัดตึงบริเวณเต้านม หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น
    • อ่อนเพลีย
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • เป็นตะคริว
    • อาหารไม่ย่อย
    • มีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณน้อย (เลือดล้างหน้าเด็ก)
    • เมนส์ไม่มาตามปกติ
    • ปวดหลังส่วนล่าง

    อาการทางอารมณ์

    • อารมณ์แปรปรวน
    • หงุดหงิดง่าย
    • ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย

    อาการทางพฤติกรรม

    • อยากอาหารมากกว่าปกติ
    • ท้องผูก
    • เบื่ออาหารที่เคยชอบ
    • ถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

    อาการก่อนเมนส์มา กับ ท้อง แตกต่างกันอย่างไร

    อาการก่อนเมนส์มากับอาการของการตั้งท้องระยะแรกคล้ายคลึงกัน จนอาจทำให้สับสนว่าเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ อีกทั้งอาการที่แสดงออกยังอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งนี้ อาจแยกความแตกต่างของภาวะที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

    ปวดท้อง

    อาการปวดท้องก่อนเมนส์มา มักปวดบริเวณท้องและหลังส่วนล่างก่อนเมนส์มาประมาณ 24-48 ชั่วโมง อาจปวดน้อยลงเมื่อเริ่มเป็นเมนส์ และหายปวดเมื่อเมนส์รอบนั้น ๆ หมด อาการปวดท้องก่อนเมนส์มาเกิดจากมดลูกหดตัวเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้น เนื่อเยื่อ และเลือด ออกมาเป็นเมนส์ ในขณะที่คนท้องจะปวดท้องน้อย (ท้องส่วนล่างไล่ตั้งแต่สะดือลงไปถึงขอบบนของกระดูกเชิงกราน) หรือหลังส่วนล่างเล็กน้อย เนื่องจากมดลูกขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก

    สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ อาการปวดท้องในช่วงตั้งท้องระยะแรกอาจเป็นสัญญาณอันตราย หากปวดท้องร่วมกับมีอาการเลือดออกจากช่องคลอด ควรไปพบคุณหมอโดยเร็ว

    คัดตึงเต้านม

    ความเปลี่ยนแปลงของเต้านมที่ทำให้รู้สึกเจ็บเต้านม เต้านมบวมและเซนซิทีฟมากกว่าปกติ เป็นอาการที่พบได้บ่อยทั้งในช่วงก่อนเป็นเมนส์และช่วงตั้งท้อง แต่อาการคัดตึงเต้านมในช่วงก่อนเป็นเมนส์มักจะเกิดก่อนเมนส์มาและหายไปเมื่อหมดเมนส์ในรอบนั้น ส่วนคนท้องระยะแรกจะรู้สึกคัดตึงเต้านมและรู้สึกว่าเต้านมแข็งเมื่อสัมผัส บริเวณรอบหัวนมอาจแสบหรือเจ็บ บางคนอาจมองเห็นเส้นเลือดสีฟ้าอย่างชัดเจนที่ผิวหนังบริเวณหน้าอก อาการคัดเต้านมของคนท้องอาจเกิดขึ้นหลังปฏิสนธิประมาณ 1-2 สัปดาห์

    มีจุดเลือดออกจากช่องคลอด

    ผู้หญิงมักไม่มีจุดเลือดออกจากช่องคลอดก่อนเป็นเมนส์ แม้ในวันแรกของการเป็นเมนส์ ปริมาณเลือดอาจน้อยกว่าปกติแต่ส่วนใหญ่จะเพิ่มปริมาณในวันต่อไป และเมนส์จะมาประมาณ 4-5 วัน

    ส่วนคนท้องระยะแรกอาจมีเลือดออกจากช่องคลอด ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ กะปริบกะปรอย หรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้หลอดเลือดฝอยแตกและมีเลือดปริมาณเล็กน้อยไหลออกจากช่องคลอดอาการนี้พบได้บ่อย มักเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 10-14 วันหลังการปฏิสนธิ

    อ่อนเพลีย

    ความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีส่วนทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยได้ง่าย สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงก่อนเมนส์มา อาการนี้มักหายไปเมื่อมีเมนส์วันแรก ๆ แต่ในบางรายที่เมนส์มามาก อาจรู้สึกอ่อนเพลียมากจนกระทั่งหมดรอบเดือน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจางได้ ในขณะที่คนท้องจะรู้สึกอ่อนเพลียในช่วงอายุครรภ์ 2-3 เดือนแรก แต่บางรายก็อาจมีอาการอ่อนเพลียตลอดอายุครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากร่างกายผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อส่งสารอาหารไปยังทารกที่กำลังเจริญเติบโต

    อารมณ์แปรปรวน

    ความรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย ซึมเศร้า หรือสะเทือนใจกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ล้วนเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงก่อนเมนส์มาและผู้หญิงที่อยู่ในช่วงตั้งท้องระยะแรก ซึ่งเป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อาการอารมณ์แปรปรวนของผู้หญิงที่อยู่ในช่วงก่อนเป็นเมนส์จะหายไปเมื่อเริ่มเป็นเมนส์ แต่หากยังคงมีอาการดังกล่าวและเมนส์ยังคงไม่มาในเดือนนั้น อาจเป็นสัญญาณของการตั้งท้อง ควรตรวจสอบด้วยการใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเพื่อยืนยันผล

    อยากอาหาร

    ช่วงก่อนเมนส์มา ผู้หญิงอาจรู้สึกหิวบ่อยขึ้นและอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงาน เช่น ช็อกโกแลต น้ำตาล ของหวาน อาหารรสเค็ม ส่วนคนท้องมักจะอยากอาหารที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารรสเปรี้ยว ของหมักดอง และอาจไม่อยากรับประทานอาหารประเภทอื่นเลย นอกจากนี้ ยังอาจไม่ชอบอาหารบางชนิดเป็นพิเศษ แม้จะเป็นอาหารที่เคยชอบก่อนตั้งท้องก็ตาม บางครั้งคนท้องอาจมีอาการอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ หรือสิ่งของที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เหล็ก โคลน ซึ่งอาจเกิดจากร่างกายต้องการสารอาหารอย่างธาตุเหล็ก และสังกะสี เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์

    ท้องผูก

    ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเป็นเมนส์และช่วงที่ตั้งท้อง ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง จนอาจทำให้ท้องผูกได้ ซึ่งอาจแยกความแตกต่างระหว่างอาการท้องผูกช่วงก่อนมีเมนส์กับท้องผูกเนื่องจากตั้งท้องได้ ดังนี้

    • อาการท้องผูกของผู้หญิงในช่วงเป็นเมนส์ มักเกิดในช่วงก่อนและระหว่างเป็นเมนส์ ร่วมกับมีอาการปวดท้องน้อย หงุดหงิด อ่อนเพลีย อยากอาหาร อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
    • อาการท้องผูกที่เป็นสัญญาณของการตั้งท้อง มักมีอาการท้องผูกในช่วง 2 ไตรมาสแรก หรือในช่วง 6 เดือนแรกระหว่างตั้งท้อง ร่วมกับมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ประจำเดือนขาด คัดเต้านม ปวดปัสสาวะบ่อย เป็นต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา