backup og meta

ซิฟิลิส เกิดจาก อะไร และควรอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซิฟิลิสอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    ซิฟิลิส เกิดจาก อะไร และควรอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซิฟิลิสอย่างไร

    หลายคนอาจทราบกันดีว่าซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็อาจยังมีข้อสงสัยว่า ซิฟิลิส เกิดจาก อะไร หรือสามารถติดต่อจากทางอื่นได้อีกหรือไม่ แล้วจะมีวิธีการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซิฟิลิสอย่างไร เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเองและผู้อื่น ดังนั้น การทราบถึงที่มาของการเกิดโรค จึงอาจช่วยป้องกันการติดโรค และอาจช่วยในการดูแลรักษาตัวเองหรือผู้ป่วย นอกจากนี้ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นซิฟิลิส ยังอาจช่วยให้ปฏิบัติกับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

    ซิฟิลิส เกิดจาก อะไร

    ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจแบ่งออกได้เป็นระยะ ดังนี้

    • ซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary Syphilis) เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มแสดงสัญญาณ โดยอาจมีแผลเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นบริเวณที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้ และแผลจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์
    • ซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary Syphilis) เมื่อเวลาผ่านไปอาจสังเกตเห็นผื่นแต่ไม่มีอาการคันเกิดขึ้นทั่วร่างกาย และอาจมีแผลคล้ายหูดเกิดขึ้นในปากหรืออวัยวะเพศ นอกจากนี้ บางคนยังอาจมีอาการผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ เจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองบวมร่วมด้วย โดยอาการอาจหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์หรือเป็น ๆ หาย ๆ
    • ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Syphilis) หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเข้าสู่ระยะที่ไม่แสดงอาการ แต่ร่างกายยังคงมีเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายและสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจเลือก ซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้โรคลุกลามจนเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยไม่รู้ตัว
    • ซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis) เป็นระยะสุดท้ายที่รุนแรงที่สุด หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจนถึงระยะนี้ อาจก่อให้เกิอดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคซิฟิลิสทำลายสมอง เส้นประสาท ดวงตา หัวใจ หลอดเลือด ตับ กระดูกและข้อ

    โดยสาเหตุหลัก ๆ ของซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พัลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจได้รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมทั้งช่องทางอื่น ๆ เช่น

    • แบคทีเรียเข้าทางบาดแผล รอยถลอกทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือก
    • การจูบ
    • การออรัลเซ็กส์
    • การส่งต่อระหว่างคุณแม่และทารกในครรภ์

    อย่างไรก็ตาม ซิฟิลิสไม่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศหรือทางน้ำได้ และเมื่อรักษาซิฟิลิสจนหายแล้วก็จะไม่กลับมาเป็นซ้ำ นอกจากว่าจะไปติดเชื้อซ้ำจากผู้อื่น

    การป้องกันซิฟิลิส

    ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการแพร่กระจายของซิฟิลิส จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ

    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครติดเชื้ออยู่บ้าง ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีที่สุด เพราะถุงยางอนามัยสามารถครอบปิดบริเวณอวัยวะเพศที่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้ขาดสติและนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ตั้งใจและไม่ปลอดภัย

    การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซิฟิลิส

    ซิฟิลิสไม่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศหรือทางน้ำ ดังนั้น หากอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นซิฟิลิสก็สามารถใช้ห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ เสื้อผ้า เครื่องใช้ในการรับประทานอาหาร สระว่ายน้ำ หรืออ่างน้ำร้อนร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยและความสะอาดควรแยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่นเสมอ เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้ออื่น ๆ ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายได้ จึงควรตรวจสุขภาพของตัวเองและคู่นอนเป็นประจำ เพื่อจะได้ทำการรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา