backup og meta

ตุ่มซิฟิลิส เป็นแบบไหน รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    ตุ่มซิฟิลิส เป็นแบบไหน รักษาได้อย่างไร

    ตุ่มซิฟิลิส เป็นตุ่มที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคซิฟิลิส (Syphilis) ในระยะที่ 2 โรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease หรือ STD) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบได้บ่อยในผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศเสี่ยงสูงหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การรักษาทำได้ด้วยการรับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อออกจากร่างกาย ทั้งนี้ การไปพบคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้โรคไม่พัฒนาเข้าสู่ระยะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้อีกด้วย

    ซิฟิลิส คืออะไร

    ซิฟิลิส คือ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อจะแฝงอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลาหลายปี และอาจทราบได้ว่าเป็นโรคนี้จากการมีตุ่มซิฟิลิสขึ้นตามร่างกาย โรคนี้ไม่สามารถหายได้เองและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อกำจัดเชื้อออกจากร่างกายและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง หัวใจ ดวงตา ระบบประสาท เสียหายได้

    ซิฟิลิส อาการ เป็นอย่างไร

    อาการของการติดเชื้อซิฟิลิส อาจมีดังนี้

    • มีตุ่มขึ้นตามร่างกาย
    • อ่อนเพลีย
    • มีไข้
    • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
    • ผมร่วง
    • ต่อมน้ำเหลืองโต

    หากการติดเชื้อรุนแรงและลามไปยังระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการต่อไปนี้

    • คอแข็ง
    • ปวดศีรษะ
    • สูญเสียการได้ยิน
    • มีปัญหาเกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย
    • เป็นอัมพาต

    ตุ่มซิฟิลิส มีลักษณะอย่างไร

    ระยะของโรคซิฟิลิส อาจแบ่งออกได้ดังนี้

    โรคซิฟิลิสระยะแรก (Primary syphilis)

    ในระยะแรกหรือช่วง 2-12 สัปดาห์แรกของการติดเชื้อซิฟิลิส ผู้ป่วยจะเกิดแผลเปื่อยหรือที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) ที่อวัยวะเพศหรือที่ริมฝีปาก ตามตำแหน่งที่มีการติดเชื้อ แผลริมแข็งจะมีขนาดเล็ก นูนกว่าผิวหนังโดยรอบ และไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อาจมีแผลเดียวหรือหลายแผล และอาจหายเองไปภายในไม่กี่สัปดาห์ ไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยคุณหมอ เชื้อจะยังคงแฝงตัวอยู่ในร่างกาย เพียงแต่ไม่แสดงอาการให้เห็นเท่านั้น

    โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 หรือระยะตุ่มซิฟิลิส (Secondary syphilis)

    หลังจากแผลเริมแข็งในระยะแรกหายไปประมาณ 1-6 เดือน โรคซิฟิลิสจะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่ผู้ป่วยจะมีตุ่มซิฟิลิสขึ้นตามลำตัวและอาจกระจายไปทั่วร่างกาย รวมไปถึงฝ่ามือและฝ่าเท้า ตุ่มซิฟิลิสจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ แตกเป็นแผลน้ำเหลือง มักไม่ทำให้เกิดอาการคัน และบางครั้งตุ่มก็อาจจางจนไม่สังเกตเห็น ตุ่มซิฟิลิสมักเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักลดลง ในช่วงนี้ผู้ติดเชื้อจะแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก

    หากไม่ได้รับการรักษา โรคซิฟิลิสจะเข้าสู่ระยะแฝงตัว (Latent syphilis) ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการแสดงให้เห็น (แต่บางรายก็อาจมีอาการของระยะที่ 2 กำเริบเป็นครั้งคราว) และอาจอยู่ในระยะนี้ได้นานถึง 20 ปี หากยังไม่ได้รับการรักษาอีก โรคจะพัฒนาเข้าสู่ระยะสุดท้าย (Late syphilis) ที่เชื้อจะทำลายอวัยวะภายใน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

    ซิฟิลิส รักษาได้อย่างไร

    การรักษาโรคซิฟิลิสสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน (Penicillin) ชนิดฉีดหรือชนิดรับประทาน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลิน คุณหมออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอื่น ๆ เช่น ยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines) ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)

    ทั้งนี้ คุณหมออาจพิจารณาระยะเวลาในการรักษาตามระยะและอาการของโรค และผู้ป่วยจะต้องรับยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่คุณหมอแนะนำแม้ว่าอาการและตุ่มซิฟิลิสจะหายไปแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา จากนั้นคุณหมอจะนัดตรวจเลือดเพื่อให้แน่ใจว่าหายติดเชื้อแล้ว ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น และควรแจ้งให้ผู้ที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดด้วยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทราบ บุคคลนั้นจะได้ไปตรวจหาโรคซิฟิลิส

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิส

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิส อาจทำได้ดังนี้

    • ใช้ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
    • หากมีพฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงสูง ควรเข้ารับการตรวจหาโรคซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เป็นประจำ
    • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
    • สอบถามประวัติทางเพศจากคู่นอนคนใหม่ก่อนทำกิจกรรมทางเพศ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา