backup og meta

ขาลาย เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    ขาลาย เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

    ขาลาย เป็นลักษณะผิวหนังบริเวณขาที่ไม่เรียบเนียน มีจุดด่างดำ แผลเป็น หรือเห็นริ้วรอยต่าง ๆ ชัดเจน เกิดจากสาเหตุหลายประการเช่น ยุงกัด การตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ขาลายไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลต่อความมั่นใจ โดยเฉพาะกับผู้หญิงซึ่งต้องการใส่กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น ทั้งนี้ ขาลายสามารถดูแลและรักษาให้หายได้ รวมถึงสามารถป้องกันได้ ด้วยการรับประทานอาหารซึ่งมีประโยชน์ บำรุงผิวด้วยครีมหรือโลชั่น และดูแลบริเวณที่อยู่อาศัยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

    ขาลาย มีมาจากอะไรบ้าง

    ขาลาย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    • เส้นเลือดขอด เกิดจากการที่มี ฮีโมซิเดอริน (Hemosiderin) หรือสารชนิดหนึ่งในร่างกาย ซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสะสมใต้ผิวหนังมากเกินไป ทำให้เห็นเป็นเส้นเลือดขอดบริเวณขา เรียกว่า รอยฮีโมซิเดอริน (Hemosiderin Staining) เส้นเลือดขอดบริเวณขา เกิดจากภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง หรือการที่เลือดไม่สามารถไหลกลับไปยังหัวใจผ่านหลอดเลือดดำที่ขาได้จนคั่งอยู่และเห็นเป็นเส้นเลือดขอด
    • แมลงกัดหรือต่อย โดยเฉพาะยุงกัด มักทำให้เกิดตุ่มบวมและอาการคันตามมา โดยเมื่อแผลยุงกัดหายมักเห็นเป็นรอยดำหรือแผลเป็นบนผิวหนัง หรือเมื่อเผลอเกาบริเวณยุงกัด อาจทำให้เกิดเป็นรอยขีดข่วนและรอยดำได้
    • เซลลูไลท์ (Cellulite) หรือไขมันใต้ผิวหนังที่สะสมมากเกินไปจนทำให้ผิวหนังไม่เรียบเนียน ตะปุ่มตะป่ำ คล้ายเปลือกส้ม หรือที่เรียกว่าผิวเปลือกส้ม มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
    • แสงแดด การเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดเป็นเวลานานโดยไม่ทาครีมกันแดด สามารถทำให้ผิวไหม้ โทนสีผิวไม่สม่ำเสมอ หรือเป็นตุ่มผดร้อนบนผิวหนัง แม้จะเป็นบริเวณขาก็ตาม หากไม่ดูแลรักษาก็อาจทำให้เกิดรอยหมองคล้ำ รอยด่างดำ ขาลายได้
    • การตั้งครรภ์ เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขณะตั้งครรภ์ สามารถทำให้ผิวหนังขยายออก และเห็นเป็นรอยแดงหรือขาว บริเวณต้นขา หรือหน้าท้องได้
    • สเตียรอยด์ การใช้ยาสเตียรอยด์ในรูปแบบครีมเป็นระยะเวลานานในบริเวณเดิมของร่างกาย สามารถทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวบางลง เหี่ยวย่น รอยด่างขาว หรือเห็นเป็นรอยแตกลายได้

    ขาลาย รักษาได้อย่างไรบ้าง

    ขาลาย สามารถรักษาให้ดีขึ้น รอยต่าง ๆ จางลง หรือหายไปได้ หากดูแลตัวเอง ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    วิธีรักษาขาลายเนื่องจากเส้นเลือดขอด

    • ทาครีม ซึ่งมีสารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นส่วนผสม เนื่องจากสารชนิดนี้อาจช่วยในการยับยั้งการสร้างเม็ดสีของผิวหนังได้ ทำให้บริเวณขาลายที่เป็นรอยสีเข้มแลดูจางลง
    • ใช้แสงเลเซอร์ เพื่อทำให้รอยเข้มบนผิวหนังบริเวณขามีสีจางลงซึ่งอาจต้องเข้ารับการฉายเลเซอร์ซ้ำหลายครั้งเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

    วิธีรักษาขาลายเนื่องจากยุงกัด

    • ทาครีม ซึ่งมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ สารไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อลดการอักเสบจากยุงกัด ในขณะที่ยังมีอาการแดงและคัน และทายากลุ่มไฮโดรควิโนน เพื่อรักษารอยดำ

    วิธีรักษาขาลายเนื่องจากเซลลูไลท์

  • นวดบริเวณขา เพื่อให้เซลลูไลท์ที่สะสมอยู่กระจายตัว และถูกรีดไปบริเวณรอบ ๆ ทำให้ผิวหนังดูเรียบเนียนและกระชับขึ้น การนวดเซลลูไลท์อาจทำด้วยมือหรือใช้เครื่องมือ และในช่วงแรก ผู้เข้ารับการรักษาอาจพบอาการปวดระบม ทั้งนี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุว่าการรักษาเซลลูไลท์ด้วยการนวด จะเห็นผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น
  • รักษาเซลลูไลท์ด้วยแสงเลเซอร์โดยคุณหมอจะสอดอุปกรณ์ขนาดเล็กเข้าไปฉายแสงเลเซอร์ใต้ผิวหนังเพื่อทำให้เซลลูไลท์แตกตัวและขณะเดียวกันช่วยกระตุ้นการสร้างโปรตีนคอลลาเจนอันช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง
  • สลายเซลลูไลท์ด้วยความเย็นที่อุณหภูมิติดลบ (Cryolipolysis) เป็นนวัตกรรมกำจัดไขมันส่วนเกินโดยการแช่แข็งเซลล์ไขมันและทำให้เซลล์ไขมันตายและเสื่อมสลายในร่างกายไปตามธรรมชาติ ควรเข้ารับการรักษาหลายครั้งต่อเนื่อ และมักเห็นผลภายใน 2-3 เดือน
  • วิธีรักษาขาลายเนื่องจากแสงแดด

    • หากขาลายเกิดจากแสงแดดที่แผดเผาผิวหนังจนไหม้ อาจรอให้ผิวบริเวณที่ไหม้หายเอง โดยใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการไหม้ อาจใช้เจลว่านหางจระเข้ทาบริเวณที่ไหม้เพื่อช่วยฟื้นฟูผิวให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ผดร้อนจากแสงแดดก็มักจะหายไปเองเช่นกันหลังหลบเข้าไปอยู่ในบริเวณที่อากาศเย็นลง ทั้งนี้ หากผดร้อนมีอาการรุนแรงควรทาน้ำมันลาโนลิน แอนไฮดรัส (Lanolin Anhydrous) หรือยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ

    วิธีรักษาขาลายเนื่องจากการตั้งครรภ์

    • โดยปกติ รอยแตกลายบนผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ จะค่อย ๆ จางลง หลังจากการคลอดบุตรแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจทาครีมมอยส์เจอไรซ์เซอร์ที่มีส่วนผสมของกรดแลคติก (Lactic Acid) กลีเซอรีน (Glycerin) หรือ กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังและฟื้นฟูสภาพผิวให้ดีขึ้นได้

    วิธีรักษาขาลายเนื่องจากการใช้สเตียรอยด์

    • อาการผิวบางหรือเหี่ยวย่นเพราะใช้ยาสเตียรอยด์มักจะยากต่อการรักษา แต่สามารถดูแลตัวเองได้ โดยการหยุดใช้ยา และหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรือเสียหายได้
    • รอยแตกของผิวหนังหรือขาลายเนื่องจากยาสเตียรอยด์ อาจหายไปเองได้เมื่อปรับลดปริมาณของยาที่ใช้ นอกจากนี้ รอยแตกดังกล่าว อาจรักษาได้โดยใช้แสงเลเซอร์จี้บริเวณที่เป็น เพื่อกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการเลือกใช้แสงเลเซอร์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวหนัง

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันขาลาย

    ขาลาย สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อและผิวหนังกระชับ และไม่ควรลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วฮวบฮาบจนเกินไป เพื่อป้องกันผิวหนังแตกลายเป็นผิวเปลือกส้ม
    • ทาครีมหรือโลชั่น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ควรมีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoid) วิตามินอี กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ซึ่งมักมีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังและลดเลือนริ้วรอย ป้องกันขาลายได้อีกวิธีหนึ่ง
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรืออุดมด้วยโปรตีน สังกะสี และวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินอี ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนเพิ่มความเรียบเนียนของผิวหนัง
    • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ บ้าน ด้วยการเปลี่ยนน้ำในภาชนะต่าง ๆ เช่น อ่างเลี้ยงปลา แจกันดอกไม้ ทุก ๆ 5 วัน รวมทั้งหาทางกำจัดหลุมบ่อที่อาจทำให้น้ำขังและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลดจำนวนยุงที่ทำให้เกิดแผลยุงกัดและทำให้ขาลาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา