backup og meta

ผิวเป็นขุย สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน

ผิวเป็นขุย สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน

ผิวเป็นขุย คือ อาการผิวหนังชั้นนอกสุดลอกออกเป็นขุยสีขาว ปกติแล้วมักเกิดจากภาวะผิวแห้ง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการคันรุนแรง ผื่นแดงเป็นวงกว้าง ตุ่มหนอง แผลพุพอง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคกลาก โรคน้ำกัดเท้า โรคงูสวัด ดังนั้น จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงหรือเกิดการลุกลามไปทั่วทั้งร่างกาย

[embed-health-tool-bmr]

สาเหตุที่ทำให้ผิวเป็นขุย

สาเหตุที่ทำให้ผิวเป็นขุย อาจมีดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสภาพในการกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวลดลง ส่งผลให้ผิวแห้ง ผิวลอก และผิวเป็นขุย
  • สภาพอากาศ เช่น อากาศหนาวเย็น มีลมแรง อาจทำให้ความชุ่มชื้นในผิวลดลง ส่งผลให้เกิดอาการผิวเป็นขุย
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น แพ้สบู่ แพ้ยาสระผม แพ้น้ำยาปรับผ้านุ่ม แพ้ผงซักฟอก แพ้ฝุ่น แพ้เครื่องสำอาง รวมถึงการแพ้อาหารหรือวัตถุต่าง ๆ เช่น แพ้โลหะ แพ้อาหารทะเล แพ้ผักและผลไม้บางชนิด ที่อาจส่งผลให้เกิดผื่นแดง มีอาการคัน ผิวแห้ง และผิวเป็นขุย
  • โรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น คุดทะราด (Yaws) โรคแบคทีเรียกินเนื้อ โรคเรื้อน ที่อาจส่งผลให้ผิวหนังถูกทำลาย เสี่ยงต่อการเกิดแผลพุพอง อาการคัน เจ็บแสบ ผื่นแดง และผิวเป็นขุย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วอาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงที่ส่งผลให้เส้นประสาทเสียหาย แขนขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง
  • โรคผิวหนังติดเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า อาจสังเกตได้จากอาการผื่นเป็นวงแหวน มีขอบแดงและเป็นสะเก็ดรอบ ๆ มีอาการคัน ผิวลอก และผิวเป็นขุย หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้การติดเชื้อลุกลามไปยังบริเวณอื่นและอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
  • โรคผิวหนังติดเชื้อไวรัส เช่น โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคมือเท้าปาก โรคงูสวัด โรคหูด ที่อาจส่งผลให้เกิดตุ่มหนอง ตุ่มแดง เป็นสะเก็ด อาการคัน เจ็บแสบ ผิวเป็นขุย ผิวแห้งลอก และแผลพุพอง หากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ รวมถึงมีไข้ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว

การรักษาผิวเป็นขุย

การรักษาผิวเป็นขุย อาจแบ่งออกตามสาเหตุที่เป็น ดังนี้

  • สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมการดูแลผิวไม่ดี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ ไม่ควรอาบน้ำนานเกิน 10 นาที เพื่อไม่ให้ผิวแห้งเกินไป และไม่ควรขัดถูผิวรุนแรง
  • สำหรับผู้ที่มีผิวเป็นขุยเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ควรดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพผิว เช่น ผัก ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ เนื่องจากเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซีซึ่งมีบทบาทสำคัญช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสื่อมสภาพของเซลล์และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้ผิวมีความยืดหยุ่น และบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสูตรอ่อนโยนจากธรรมชาติ เช่น มอยเจอร์ไรเซอร์ น้ำมันมะพร้าว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือการสัมผัสกับสิ่งที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ และควรรับประทานยาแก้แพ้ เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เพื่อบรรเทาอาการคัน
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาแดพโซน (Dapsone) เพนิซิลลิน (Penicillin) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียและลดการติดเชื้อ นอกจากนี้ อาจได้รับยาต้านอักเสบ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้ออาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังอาจได้รับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก เพื่อหยุดการแพร่กระจายและป้องกันความเสียหายต่อผิวหนังบริเวณอื่น
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อรา อาจรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบนผิวหนัง
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อไวรัส อาจรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และยาที่ช่วยบรรเทาอาการคันและอาการปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen)

การป้องกันผิวเป็นขุย

การป้องกันผิวเป็นขุย อาจทำได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ การรับประทานอาหาร และการสัมผัสกับวัตถุที่อาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ เพราะอาจเสี่ยงให้เกิดผื่นแดงคัน ผิวเป็นขุยและผิวบวมได้
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากน้ำหอมและสารระคายเคือง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง ผิวลอก และผิวเป็นขุย
  • ควรอาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และไม่ควรอาบน้ำนานเกิน 5-10 นาที รวมถึงไม่ควรขัดผิวรุนแรง หรือขัดผิวบ่อยครั้ง เพราะอาจทำให้ผิวหนังบาดเจ็บและสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นของผิว
  • บำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น เช่น และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเอเอชเอ (AHA) และเรตินอยด์ (Retinoid) เพราะอาจกำจัดน้ำมันบนผิว ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวลอก และผิวเป็นขุย โดยสามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง และหากเป็นไปได้ควรเลี่ยงการออกจากบ้านช่วงเวลา 10.00-16.00 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีแดดจัด ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวไหม้ ผิวแห้ง และผิวเป็นขุย
  • เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่เย็นและมีลมแรงควรสวมใส่เสื้อผ้าหนาและปกคลุมผิว แต่เมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดรูป เสื้อผ้าหนา และเสื้อผ้าหลายชั้น เพราะอาจทำให้ร่างกายขับเหงื่อ และอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • ผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารเคมี ควรสวมใส่เสื้อผ้า ถุงมือ และรองเท้าที่ปกคลุมผิว เพื่อลดการสัมผัสกับสารเคมี และควรทำความสะอาดผิวหลังทำงานเสร็จพร้อมกับบำรุงผิวสม่ำเสมอ
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส โรคหัด โรคงูสวัด หรือวัคซีนอื่น ๆ ให้ครบตามกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อหรือเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Fungal Infections of the Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/fungal-infections-skin.Accessed October 12, 2022

Why Do I Have Scaly Skin? https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/scaly-skin.Accessed October 12, 2022

Peeling skin. https://www.mayoclinic.org/symptoms/peeling-skin/basics/definition/sym-20050672.Accessed October 12, 2022

DERMATOLOGISTS’ TOP TIPS FOR RELIEVING DRY SKIN. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/SKIN-CARE-BASICS/DRY/DERMATOLOGISTS-TIPS-RELIEVE-DRY-SKIN.Accessed October 12, 2022

Leprosy (Hansen’s Disease). https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/leprosy-symptoms-treatments-history.Accessed October 12, 2022

Necrotizing Fasciitis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/necrotizing-fasciitis-flesh-eating-bacteria.Accessed October 12, 2022

atopic dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/diagnosis-treatment/drc-20353279.Accessed October 12, 2022

hand-foot-and-mouth disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hand-foot-and-mouth-disease/diagnosis-treatment/drc-20353041.Accessed October 12, 2022

measles. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/measles/diagnosis-treatment/drc-20374862.Accessed October 12, 2022

chickenpox. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chickenpox/diagnosis-treatment/drc-20351287.Accessed October 12, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/11/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวด่างขาว สาเหตุ การรักษา และการดูแลตัวเอง

7 วิธีดูแลผิวหน้า แบบธรรมชาติ ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา