backup og meta

เลเซอร์กระ ผลข้างเคียง และวิธีดูแลตนเอง

เลเซอร์กระ ผลข้างเคียง และวิธีดูแลตนเอง

เลเซอร์กระ เป็นวิธีการกำจัดกระ ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ สีออกน้ำตาลหรือแดงบนผิวหนัง ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณที่โดนแสงแดดบ่อย เช่น ใบหน้า โหนกแก้ม คอ หน้าอก แขน กระ อาจไม่จัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง แต่หากมีกระจำนวนมากขึ้นตามใบหน้าและตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก็อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ ซึ่งสามารถกำจัดกระด้วยวิธีทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น เลเซอร์กระ ซึ่งเป็นการยิงเลเซอร์แบบเฉพาะจุดบริเวณผิวหนัง เพื่อขจัดเซลล์เม็ดสีจากตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจช่วยให้กระดูจางลง

[embed-health-tool-bmi]

กระ คืออะไร

กระ เป็นจุดเล็ก ๆ สีออกน้ำตาลปรากฏบนผิวหนังบริเวณใบหน้า แขน หลังมือ ลำคอ หรือหน้าอก มีสาเหตุจากการที่ร่างกายสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานิน (Melanin) มากเกินไป ทั้งจากการถูกกระตุ้นโดยปัจจัยภายนอก เช่น แสงแดด หรือเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม กระสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  • กระทั่วไปหรือกระตื้น เป็นกระชนิดที่พบบ่อย มีสีแดงหรือน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตรหรือใหญ่กว่า และอาจมีเส้นขอบไม่ชัดเจน โดยปกติ มักพบบริเวณใบหน้า คอ อก และแขน
  • กระแดด มักพบในชาวตะวันตกหรือผู้ที่มีผิวขาวโดยปรากฏตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่โดนแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า แขน หลังมือ อก หลัง กระแดดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตรหรือใหญ่กว่า เส้นขอบชัดเจน และมีสีหลากหลายตั้งแต่เหลืองไปจนถึงดำ ทั้งนี้ ในบางราย กระแดดอาจจางหายไปเองแต่มักกลับมาเป็นอีกโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดดเป็นประจำ
  • กระลึก เป็นจุดหรือแถบสีเข้มบริเวณแก้มทั้ง 2 ข้างที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสี พบมากในผู้หญิงเอเชียวัยกลางคน มักปรากฏชัดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด และอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นฝ้าได้ เพราะมีลักษณะคล้ายกันและยังเป็นได้พร้อม ๆ กัน

เลเซอร์กระ คืออะไร

เลเซอร์กระเป็นการฉายแสงเลเซอร์ลงไปยังผิวหนังชั้นหนังแท้ส่วนที่เป็นกระ เพื่อขจัดเซลล์เม็ดสีที่มีมากเกินไปและกระตุ้นโปรตีนคอลลาเจนในผิวหนังให้ช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูผิวหนังให้ดูกระจ่างใสขึ้น ส่งผลให้รอยกระค่อย ๆ จางลงหรือหายไป

โดยทั่วไป เลเซอร์กระมักเป็นชนิดเลเซอร์แบบลอกผิว (Ablative Laser Resurfacing) ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีระดับความรุนแรงสูง เช่น เลเซอร์ Nd-YAG พิโคเซคเคิน เลเซอร์ (Picosecond Laser)  เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) จะให้ผลค่อนข้างชัดเจนเมื่อทำอย่างต่อเนื่อง แต่อาจทำให้ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ที่ทำเลเซอร์กระเสียหายได้ จึงใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนานกว่าเลเซอร์ชนิดอื่น

อย่างไรก็ตาม เลเซอร์กระไม่ได้ให้ผลลัพธ์ชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ จึงควรเข้ารับบริการเลเซอร์กระประมาณ 2-6 ครั้ง เพื่อให้เห็นผลชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

เลเซอร์กระ มีขั้นตอนอย่างไร

เมื่อไปเลเซอร์กระที่สถานพยาบาล ขั้นตอนในการทำเลเซอร์กระมักมีดังนี้

  • ผู้เข้ารับบริการเลเซอร์กระล้างหน้าให้สะอาด หรือเช็ดทำความสะอาดผิวหนังส่วนที่ต้องการทำเลเซอร์กระ จากนั้นเช็ดให้แห้ง เพื่อเตรียมผิวหน้าสำหรับการฉายเลเซอร์
  • เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลจะทายาชาบนใบหน้าผู้เข้ารับบริการเลเซอร์กระทิ้งไว้เป็นเวลา 45 นาที
  • คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะฉายเลเซอร์ไปบนผิวหนังตำแหน่งที่เป็นกระ เวลาที่ใช้ในการทำเลเซอร์กระขึ้นอยู่กับปริมาณกระบนใบหน้าและความเชี่ยวชาญของคุณหมอ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 30-120 นาที
  • หลังจากยิงเลเซอร์กระเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลจะเช็ดทำความสะอาดผิวบริเวณที่เป็นกระอีกครั้ง และอาจทายาหรือครีมลดการระคายเคืองของผิวร่วมด้วย ก่อนให้กลับบ้านได้

เลเซอร์กระ ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไร

เลเซอร์กระมักก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่

  • ผิวหนังมีรอยแดง รอยไหม้ แสบ คัน บวม รู้สึกระคายเคืองผิว โดยใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น
  • ผิวหนังเป็นแผลตกสะเก็ด ไม่ควรแกะหรือเกา ควรปล่อยให้หลุดลอกออกเอง โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน
  • สีผิวบริเวณรอบ ๆ ที่ทำเลเซอร์กระอาจเข้มขึ้นหรือจางลง อาจใช้เวลา 1-3 เดือน สีผิวจึงจะกลับมาเรียบเนียนสม่ำเสมอทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคน

เลเซอร์กระ และวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

หลังจากทำเลเซอร์กระแล้ว ผู้ที่เข้ารับการเลเซอร์กระควรดูแลตัวเองดังนี้

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวบริเวณที่ผ่านการเลเซอร์กระโดนน้ำเป็นเวลา 2 วัน และหากโดนน้ำ ควรซับเบา ๆ ให้แห้ง ไม่ควรถูผิวบริเวณดังกล่าวอย่างรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดเป็นเวลา 1-2 เดือน เพราะผิวหนังที่เพิ่งผ่านการเลเซอร์จะไวต่อแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต หากโดนแสงแดดบ่อยครั้งหรือเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผิวหนังได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือครีมกันแดดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลตกสะเก็ดจะหายไป
  • ทาครีมหรือวาสลีนตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อที่ผ่านการทำเลเซอร์กระสัมผัสกับอากาศโดยตรง และทำให้แผลหายไวขึ้น

กระ ป้องกันได้อย่างไร

การป้องกันผิวหนังเป็นกระ อาจทำได้ด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเลือกอยู่ในที่ร่มในช่วงที่แดดแรง หรือระหว่างเวลา00 น. ถึง 16.00 น.
  • แต่งกายมิดชิดเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง หรือเลือกใส่หมวกปีกกว้าง แว่นตาดำ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อป้องกันผิวหนังเผชิญกับแสงแดดโดยตรง เพราะอาจยิ่งเสี่ยงเป็นกระเพิ่มขึ้น
  • ก่อนออกจากบ้าน ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 60 ขึ้นไปและหากต้องอยู่นอกอาคาร ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hori’s Naevus. https://www.dermcoll.edu.au/atoz/horis-naevus/#:~:text=What%20is%20Hori’s%20nevus,in%20middle%2Daged%20Asian%20women. Accessed July 4, 2022

Freckles. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/freckles-skin-spots. Accessed July 4, 2022

Moles, Freckles, and Skin Tags. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/moles-freckles-skin-tags. Accessed July 4, 2022

Comparison of the Effect of Vaseline and Bepanthen® “Wund- Und Heilsalbe” on the Wound Healing Following Laser Therapy (CO2). https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT03095872. Accessed July 4, 2022

Laser Resurfacing. https://www.webmd.com/beauty/laser-resurfacing. Accessed July 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/08/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเจี๊ยบเขียว สารอาหาร และข้อควรระวังในการบริโภค

HHS คือ ภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา