backup og meta

ปัญหาผิว ที่พบบ่อยในแต่ละฤดูกาล และวิธีการดูแลสุขภาพผิวให้เนียนสวย

ปัญหาผิว ที่พบบ่อยในแต่ละฤดูกาล และวิธีการดูแลสุขภาพผิวให้เนียนสวย

สภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาว สามารถทำให้เกิด ปัญหาผิว ได้ เนื่องจากอาจมีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ปนเปื้อนและแพร่กระจายอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อเหล่านี้อาจทำให้ผิวอ่อนแอจนติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ สารเคมี ฝุ่นละออง มลภาวะ หรืออาการแพ้ต่าง ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผิวได้เช่นกัน ดังนั้น การดูแลผิวอย่างเหมาะสม จึงอาจช่วยปกป้องและส่งเสริมความแข็งแรงของสุขภาพผิวและลดปัญหาผิวที่อาจเกิดขึ้นได้

ปัญหาผิว ในช่วงฤดูร้อน

ฤดูร้อนเป็นช่วงที่สภาพอากาศร้อน อบอ้าว มีแดดจัด และอุณหภูมิสูงมาก จึงอาจทำให้หลายคนเกิดปัญหาผิวได้ง่าย เนื่องจากแสงแดดจัดที่ทำร้ายผิว เหงื่อไคล และความอับชื้นตามผิวหนัง ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองและอาการแพ้ นอกจากนี้ บริเวณร่างกายที่มีความอับชื้นมาก เช่น รักแร้ ง่ามมือ ง่ามเท้า ขาหนีบ ยังอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังบางชนิด ดังนี้

  • โรคผื่นผิวหนังอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ความอับชื้น หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง อาจทำให้มีอาการผื่นแดง คัน และผิวลอก
  • โรคเกลื้อน เกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนัง อาจทำให้มีผื่นเป็นวงสีขาวหรือสีน้ำตาล พบได้บ่อยในบริเวณที่เหงื่อออกมาก
  • ผดร้อน และผดผื่น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมาก ทำให้มีเหงื่อออกมากจนอาจเกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อ ส่งผลให้มีอาการคัน ตุ่มนูนแดง และอาจมีอาการแสบร้อน
  • สิว เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งสกปรกและน้ำมันอุดตันในรูขุมขนจนกลายเป็นสิวอุดตัน และอาจเกิดการอักเสบจนกลายเป็นสิวหนอง
  • ลมพิษ อาจเกิดจากเหงื่อออก ความร้อน หรือความระคายเคือง ทำให้มีอาการคัน ผื่นแดง บวมนูนเป็นวงบนผิวหนัง

ปัญหาผิวในช่วงฤดูฝน

ฤดูฝนเป็นฤดูที่มีอากาศชื้นมากและอาจเป็นสภาพอากาศที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นจากการสัมผัสกับสิ่งของนอกบ้าน น้ำฝน หรือการเดินลุยน้ำที่ขังหลังฝนตก ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาผิว และโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น

  • โรคน้ำกัดเท้า หรือโรคฮ่องกงฟุต เป็นโรคที่เกิดจากความอับชื้น และการติดเชื้อรา ที่มาจากการเดินลุยบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง และสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำฝน อาจทำให้เกิดผื่นหรือตุ่มแดงบริเวณมือและเท้า มีอาการคัน ผิวลอก และผิวเปื่อย
  • ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความชื้นที่มากขึ้น อาจทำให้บางคนมีผื่นแดง ผิวลอก คันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ
  • ผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา เช่น โรคกลาก โรคเกลื้อน สามารถเกิดขึ้นได้ในหน้าฝน เนื่องจากความอับชื้นอาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี
  • ผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเท้าเหม็น ผื่นตามฝ่าเท้าและง่ามเท้า อาจทำให้ผิวหนังลอก เท้าแห้ง คัน และมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
  • แมลงกัดต่อย ฤดูฝนอาจทำให้แมลง เช่น ยุง ไร หมัด เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งการถูกแมลงกัดต่อยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผิวหนังอักเสบ บวม คัน และแดง

ปัญหาผิวในช่วงฤดูหนาว

ฤดูหนาว เป็นช่วงที่สภาพอากาศเย็น ลมแรง ความชื้นในอากาศน้อย ส่งผลทำให้เหงื่อออกน้อยลง ผิวขาดความชุ่มชื้น แห้ง แตก และลอกเป็นขุย รวมถึงอาจทำให้สภาพผิวหนังอ่อนแอลงจนอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งปัญหาผิวและโรคผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นในฤดูหนาว มีดังนี้

  • ผื่นผิวหนังอักเสบ เนื่องจากผิวที่แห้งและขาดความชุ่มชื้น จึงอาจทำให้เกิดผื่นแดง ตุ่มนูนพอง หรือตุ่มน้ำที่ผิว โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจลุกลามจนก่อให้เกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดผื่นคัน รู้สึกระคายเคืองเมื่อสัมผัส ผิวหนังบวมหรือแดง
  • ผิวแห้งแตก ผิวที่แห้งมากและขาดความชุ่มชื้นเป็นเวลานาน สามารถทำให้ผิวหนังแห้งแตก ซึ่งหากปล่อยไว้รอยแตกอาจขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดและเลือดออกได้
  • โรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสกับสิ่งของที่เปื้อนเชื้อ ทำให้มีอาการตุ่มน้ำขึ้นตามตัว คัน และเป็นแผลตกสะเก็ด
  • ภาวะขนคุด อาจมีอาการแย่ลงได้ช่วงหน้าหนาว เพราะผิวแห้ง

วิธีการดูแลสุขภาพผิวเพื่อป้องกัน ปัญหาผิว

การดูแลสุขภาพผิวให้เหมาะสมตามฤดูกาล อาจช่วยป้องกันปัญหาผิว และอาจช่วยบำรุงผิวให้สุขภาพดี ซึ่งการดูแลผิวในแต่ละฤดูอาจทำได้ ดังนี้

การดูแลผิวในช่วงฤดูร้อน

การดูแลสุขภาพผิวในหน้าร้อนควรเป็นวิธีที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของผิว และปกป้องผิวจากอาการแพ้ ดังนี้

  • อาบน้ำเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือหลังจากที่ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อ เช่น ออกกำลังกาย เพื่อขจัดเชื้อโรค เหงื่อไคล และสิ่งสกปรกบนผิวหนัง
  • ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มการปกป้องผิวจากแสงแดดจัดในหน้าร้อน และควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง และแว่นกันแดด เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดดเพิ่มเติม
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน เพราะแสงแดดจัดในหน้าร้อนอาจทำร้ายผิว
  • ทามอยเจอร์ไรเซอร์หรือเจลว่านหางจระเข้ หากผิวไหม้ หรือมีอาการแสบร้อนจากการโดนแดดเผา เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
  • จัดระเบียบบ้านให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงอาจเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อให้ผิวเย็นอยู่เสมอ เพื่อสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น
  • เมื่อยู่ในอาคารควรสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี เพื่อระบายความร้อนและความอับชื้น ที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและก่อให้เกิดอาการแพ้

การดูแลผิวในช่วงฤดูฝน

การดูแลผิวในช่วงฤดูฝนควรเป็นวิธีที่ช่วยปกป้องผิวจากการสัมผัสกับเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • อาบน้ำเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น และอาบน้ำทุกครั้งเมื่อเปียกฝน เพื่อขจัดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อาจมากับน้ำฝน
  • ล้างมือและเท้าทุกครั้งด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์ขจัดเชื้อโรค หลังจากสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ หรือเดินลุยน้ำ
  • ให้ความชุ่มชื้นกับผิวด้วยครีม โลชั่น หรือมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังอาบน้ำเพื่อทดแทนความชุ่มชื้นที่สูญเสียไปในขณะอาบน้ำ
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์กีฬาทันทีหลังใช้งาน หรือหลังเปียกฝน เพื่อขจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ
  • ตรวจสอบผิวเป็นประจำ หากพบอาการคัน ผื่นแดง แผลพุพอง และตุ่มพองตามง่ามมือหรือเท้า ให้เข้าพบคุณหมอเพื่อรักษาเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในหน้าฝน

การดูแลผิวในช่วงฤดูหนาว

ฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็นและแห้ง จึงส่งผลทำให้ผิวขาดน้ำ แห้ง ลอกเป็นขุย และอาจเกิดรอยแตกได้ง่าย จึงควรดูแลผิว ดังนี้

  • ไม่ควรอาบน้ำอุ่นเป็นเวลานาน เพราะน้ำอุ่นสามารถดึงเอาน้ำมันบนผิวออกมา จึงทำให้ผิวแห้ง
  • ให้ความชุ่มชื้นกับผิวด้วยการทามอยเจอร์ไรเซอร์เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังอาบน้ำควรทาทันที เพื่อเพิ่มและกักเก็บความชุ่มชื้น รวมถึงป้องกันไม่ผิวแห้งมากเกินไป
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกป้องผิว เช่น เสื้อกันหนาว กางเกงขายาว เพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย รวมถึงอาจช่วยปกป้องผิวจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและลมแรง ที่อาจทำให้ผิวสูญเสียน้ำ และผิวแห้ง
  • ทาลิปมันเป็นประจำเพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื้น ไม่แห้ง และลอก
  • ทาครีมกันแดด เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีในแสงแดด

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

โรคผิวหนังหน้าหนาว. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7/. Accessed August 22, 2022

โรคผิวหนังที่มากับหน้าฝน. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2/. Accessed August 22, 2022

Skin Care for Every Season. https://www.asds.net/skin-experts/skin-care/skin-care-for-every-season. Accessed August 22, 2022

Skin conditions. https://www.healthdirect.gov.au/skin-conditions. Accessed August 22, 2022

Common Adult Skin Problems Slideshow: Shingles, Hives, and More. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-common-adult-skin-problems. Accessed August 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คันตามผิวหนัง ในผู้ป่วยเบาหวาน สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง

วิธีดูแลผิวหนัง ให้ผิวแข็งแรง ดูสุขภาพดี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา