backup og meta

สิวอุดตัน ใช้อะไรดี ที่ช่วยรักษาสิวและป้องกันสิวขึ้นซ้ำ

สิวอุดตัน ใช้อะไรดี ที่ช่วยรักษาสิวและป้องกันสิวขึ้นซ้ำ

สิวอุดตัน เป็นปัญหาผิวที่อาจกลายเป็นสิวอักเสบ มีตุ่มนูนเป็นก้อนแข็ง มีหนองสะสม และอาจส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดเมื่อสัมผัสได้ ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพผิวของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรศึกษาว่า สิวอุดตัน ใช้อะไรดี เพื่อช่วยให้สิวหาย ผิวหน้าเรียบเนียน และผิวดูสุขภาพดี

[embed-health-tool-ovulation]

สิวอุดตันเกิดจากอะไร

สิวอุดตัน เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากเซลล์ผิวเก่า น้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรก โดยมีปัจจัยด้านพันธุกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตันได้ โดยลักษณะของสิวอุดตันอาจสังเกตได้จากตุ่มนูนเป็นก้อนแข็ง ที่มีขนาดปานกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ เมื่ออักเสบอาจมีหนองสะสมใต้ผิวหนังและอาการปวดเมื่อสัมผัสโดนสิว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดสิวอุดตัน เช่น

  • ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือวัยรุ่น ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายตัวและผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิว
  • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากจนอุดตันในรูขุมขน นำไปสู่การเกิดสิวอุดตัน
  • การรับประทานอาหารประเภทแป้งและอาหารที่มีไขมันสูงในปริมาณมาก เช่น ของทอด ขนมปังขาว คุกกี้ เค้ก เนื้อสัตว์ติดมัน อาจมีส่วนเพิ่มความมันบนใบหน้า นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน อาจทำให้มีเหงื่อมาก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตันได้
  • ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม (Lithium) ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจนอุดตันรูขุมขน
  • การดูแลผิวไม่ดี เช่น การล้างหน้าไม่สะอาด การไม่ล้างเครื่องสำอางก่อนเข้านอนการเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน ที่กระตุ้นสิวอุดตันทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตันจากสิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกิน จนนำไปสู่การเกิดสิวอุดตัน

สิวอุดตัน ใช้อะไรดี ที่ช่วยให้สิวลด

ก่อนการรักษาสิวอุดตัน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่า สิวอุดตัน ใช้อะไรดี เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยอาจทำได้ดังนี้

ยาทาเฉพาะที่

  • กลุ่มยาเรตินอยด์ คือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) ใช้เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตันและช่วยลดสิวอุดตัน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันระดับปานกลาง โดยในช่วงแรกควรใช้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้ผิวชินกับยา ก่อนจะปรับเป็นทาทุกวัน และควรทาก่อนนอนเนื่องจากยานี้อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด ผิวลอกและระคายเคืองได้
  • ยาปฏิชีวนะ ในรูปแบบครีมและเจล เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) ที่ควรทา 3-4 ครั้ง/วัน เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่ควรทาวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิวอุดตันและช่วยลดรอยแดง โดยควรใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ เพื่อช่วยให้การรักษาสิวอุดตันมีประสิทธิภาพมากขึ้นและป้องกันการดื้อยา โดยควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้าและทายากลุ่มเรตินอยด์ตอนกลางคืน
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ใช้เพื่อช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขนและต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว โดยควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ ผลข้างเคียงของยานี้คืออาจทำให้ผิวแดงและเกิดการระคายเคืองผิว

ยารักษาสิวในรูปแบบรับประทาน

  • ยาปฏิชีวนะ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับปานกลางและระดับรุนแรง ใช้เพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย สำหรับบุคคลทั่วไปคุณหมออาจให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง หรืออาจแนะนำให้รับประทานยาแมคโครไลด์ (Macrolide) โดยปริมาณการรับประทานยาขึ้นอยู่กับที่คุณหมอกำหนด สำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรใช้ยาแมคโครไลด์ในการรักษาสิวอุดตันเพียงอย่างเดียว เนื่องจากยาเตตราไซคลีนอาจส่งผลให้ฟันเปลี่ยนสีถาวรและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยาในรูปแบบแคปซูล เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันและสิวอักเสบในระดับปานกลางถึงรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6-8 เดือน ในระยะแรกสิวอาจมีอาการแย่ลงแต่อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ภาวะซึมเศร้า ผิวแห้ง แสบลอก อีกทั้งในระหว่างที่ใช้ยานี้ควรเข้ารับการตรวจเลือดตามที่คุณหมอกำหนดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียง
  • ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ใช้เพื่อช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ทำให้ต่อมไขมันขยาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวจากภาวะฮอร์โมนเพศชายมากผิดปกติ ควรรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง ในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน เพื่อช่วยลดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน ทำให้ต่อมไขมันหดตัวและผลิตน้ำมันได้น้อยลงที่อาจช่วยรักษาสิวอุดตันและป้องกันสิวขึ้นใหม่ โดยควรรับประทานตามลูกศรบนแผงยาคุมกำเนิดในวันแรกที่ประจำเดือนมา วันละ 1 เม็ด ไม่ควรข้ามเม็ดและควรรับประทานในเวลาเดียวกันของทุกวัน

เทคนิคทางการแพทย์

  • การบำบัดด้วยแสง คือการฉายแสงเพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว โดยคุณหมอพิจารณาแสงที่เหมาะสมจากอาการของสิวอุดตัน เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ ลดการผลิตน้ำมันจากต่อมไขมันที่อาจส่งผลให้สิวอุดตันมีอาการแย่ลง และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้หลายครั้ง
  • การฉีดสเตียรอยด์ เข้าสู่สิวอุดตันโดยตรง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิวและช่วยให้สิวอุดตันยุบลงไวขึ้น ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยวิธีนี้คืออาจทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสีและผิวหนังบางลงได้ชั่วคราว
  • การลอกผิวด้วยสารเคมี เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าด้านบนออกทำให้หัวสิวค่อย ๆ โผล่ออกมา ระยะเวลาในการรักษาอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวอุดตันในแต่ละคน

การปรึกษาคุณหมอก่อนว่า สิวอุดตัน ใช้อะไรดี อาจช่วยให้สามารถเลือกรับวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพผิวมากที่สุด ช่วยให้สามารถจัดการกับสิวอุดตันได้อย่างตรงจุด และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาผิวอื่น ๆ เช่น รอยแผลเป็น รอยสิว สิวอักเสบ

วิธีป้องกันสิวอุดตันขึ้นซ้ำ

วิธีป้องกันสิวอุดตันขึ้นซ้ำ อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม เพื่อขจัดเซลล์ผิวเก่า น้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรก และช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขน
  • ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ระบุว่า Non-comedogenic เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมทำให้รูขุมขนอุดตัน และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตัน
  • ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 เนื่องจากรังสียูวีและความร้อนอาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งเหงื่อและน้ำมันออกมามากขึ้น ส่งผลให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว นอกจากนี้ ยารักษาสิวบางชนิดก็อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด ดังนั้น จึงควรทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
  • ใช้กระดาษซับมันเพื่อช่วยซับน้ำมันส่วนเกินออกจากใบหน้า ช่วยลดการอุดตันในรูขุมขนและป้องกันสิวอุดตันขึ้น
  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพผิวอย่างธัญพืชไม่ขัดสี อาหารไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผัก และผลไม้ เช่น ปลาแซมอน ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ แครอท ผักคะน้า แตงกวา
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าหากยังไม่ล้างมือ เพราะอาจมีสิ่งสกปรกที่ทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน เสี่ยงเป็นสิวอุดตัน รวมถึงควรทำความสะอาดสิ่งของที่สัมผัสกับใบหน้าบ่อย ๆ เช่น ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า และเช็ดหน้าจอโทรศัพท์เป็นประจำ
  • ควรแยกระหว่างผ้าที่ใช้เช็ดตัวกับเช็ดหน้า เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขนและลดการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดสิวอุดตันและสิวอักเสบ
  • ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น นอนพักผ่อน ดูหนัง อ่านหนังสือ เล่นเกม เพราะความเครียดอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ทำให้ร่างกายน้ำมันออกมามากขึ้นจนอุดตันในรูขุมขนได้
  • ทายาละลายหัวสิว หรือผลัดหัวสิว ตามแพทย์สั่งเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047.Accessed November 28, 2022

เป็นสิว…ไม่ธรรมดา. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=781.Accessed November 28, 2022

What to Know About Blind Pimples. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/what-to-know-about-blind-pimples.Accessed November 28, 2022

Comedonal acne. https://dermnetnz.org/topics/comedonal-acne.Accessed November 28, 2022

ACNE: TIPS FOR MANAGING. https://www.aad.org/public/diseases/acne/skin-care/tips#treatment.Accessed November 28, 2022

Dapsone Gel – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-151358/dapsone-topical/details.Accessed November 28, 2022

Benzoyl Peroxide Gel – Uses, Side Effects, and More https://www.webmd.com/drugs/2/drug-1344/benzoyl-peroxide-topical/details.Accessed November 28, 2022

Clindamycin. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682399.html.Accessed November 28, 2022

Tetracycline HCL – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-5919/tetracycline-oral/details.Accessed November 28, 2022

Isotretinoin Capsule – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6662/isotretinoin-oral/details Spironolactone. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682627.html.Accessed November 28, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลดสิวผด ป้องกันสิวขึ้นซ้ำควรทำอย่างไร

ใส่แมสแล้วสิวขึ้น เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา