หลุมสิว คือ รอยแผลเป็นจากสิวระดับรุนแรง เช่น สิวหนอง สิวอักเสบ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการดูแลผิวหน้าไม่ดี มีสิวอักเสบมาก ทำให้น้ำมันและสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขน และส่งผลให้ผิวหนังชั้นที่ลึกที่สุดเกิดความเสียหาย ทำให้ผิวหน้าไม่เรียบเนียน ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธี รักษาหลุมสิว รวมถึงการดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิวอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบที่อาจนำไปสู่การเกิดหลุมสิวได้ในภายหลัง
หลุมสิวเกิดจากอะไร
หลุมสิว อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสิวในระดับรุนแรง เช่น สิวอักเสบ สิวซีสต์ สิวหนอง ที่อาจทำลายชั้นผิวหนัง จนทำให้ร่างกายกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนมาช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย แต่หากมีการผลิตคอลลาเจนน้อยเกินไป ก็อาจทำให้สมานแผลได้ไม่สมบูรณ์ และปรากฏเป็นหลุมสิวขึ้น นอกจากนี้ หลุมสิวยังอาจเกิดจากพฤติกรรมการบีบและแกะสิว ที่ทำให้ผิวมีการอักเสบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นและหลุมสิวได้
ประเภทของหลุมสิว
ประเภทของหลุมสิว มีดังนี้
- หลุมสิวเป็นคลื่น (Rolling Scar) เป็นหลุมสิวที่มีความรุนแรงน้อย เกิดจากการยุบตัวของผิวหนัง มีลักษณะกว้างและตื้น คล้ายก้นกระทะ อาจเกิดจากสิวอักเสบขนาดใหญ่
- หลุมสิวปากกว้าง (Boxcar Scar) เป็นหลุมสิวซึ่งมีลักษณะเป็นสีเหลี่ยมคล้ายกล่องค่อนข้างกว้าง มีความลึก และขอบชัด 3-4 มิลลิเมตร มักเกิดจากสิวอักเสบ หรือแผลอีสุกอีใสหลังตกสะเก็ด
- หลุมสิวชนิดลึก (Ice Pick Scars) เป็นหลุมสิวที่มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ ปากแคบ ลึก และก้นหลุมสิวมีลักษณะคล้ายตัว V พบได้มากในบริเวณแก้ม หลุมสิวชนิดนี้อาจรักษาได้ยากและจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง
รักษาหลุมสิว ได้อย่างไรบ้าง
การรักษาหลุมสิว มีดังนี้
- การฉีดฟิลเลอร์ เป็นการรักษาหลุมสิวเพียงชั่วคราว เหมาะสำหรับผู้เป็นหลุมสิวแบบตื้น โดยการฉีดไขมัน คอลลาเจน กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) หรือแคลเซียม ไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Calcium Hydroxylapatite) ที่สามารถสลายตัวได้เข้าไปในบริเวณหลุมสิว เพื่อช่วยเติมเต็มหลุมสิวให้ตื้นขึ้น ซึ่งอาจอยู่ได้นานถึง 6-18 เดือน และจำเป็นต้องฉีดซ้ำ ๆ หลายครั้ง
- การใช้เข็มกระตุ้นคอลลาเจน (Microneedling) เป็นวิธีรักษาหลุมสิว โดยคุณหมออาจใช้ลูกกลิ้งที่มีเข็มขนาดเล็กกลิ้งบนผิวหน้า เพื่อกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนที่อาจช่วยเติมเต็มบริเวณหลุมสิว ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทุก ๆ 2-6 สัปดาห์ หลังการรักษาอาจมีอาการผิวบวมช้ำ และสีผิวเปลี่ยนแปลงได้
- การใช้เลเซอร์ (Fractional Laser Resurfacing) คือวิธี รักษาหลุมสิว เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้หลุมสิวดูตื้นและเรียบเนียนขึ้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงทำให้สีผิวเปลี่ยนแปลง
- การกรอผิวด้วยสารเคมี (Microdermabrasion) เป็นการ รักษาหลุมสิว เพื่อลอกชั้นผิวหนังด้านบนรวมถึงลดหลุมสิวที่มีความลึก ช่วยให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงที่ทำให้สีผิวเปลี่ยนแปลง
- การผ่าตัดหลุมสิว (Punch Excision) เหมาะสำหรับหลุมสิวที่มีความลึก โดยคุณหมออาจรักษาหลุมสิว ด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง หรือวิธีการผ่าตัดหลุมสิวออกและเย็บให้ผิวหนังแนบติดกัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นคอลลาเจนเพื่อซ่อมแซมผิวและเนื้อเยื่อที่เสียหาย นอกจากนี้ ยังมีวิธีการใช้เข็มผ่าตัดสอดเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อตัดเนื้อเยื่อในชั้นผิวหนังหรือพังผืดให้คลายตัว ทำให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น (Subcision)
การดูแลตัวเองหลังจากการรักษาสิว
การดูแลตัวเองหลังการรักษาสิวเพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพผิว และป้องกันการเกิดหลุมสิวใหม่ อาจทำได้ดังนี้
- ควรรักษาสิวด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ควรแกะและบีบสิว โดยเฉพาะสิวหนอง สิวอักเสบ สิวซีสต์ เพราะอาจเพิ่มการอักเสบ และเสี่ยงต่อการเกิดหลุมสิวหลังสิวหายได้
- ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและลดการระคายเคือง รวมถึงเซลล์ผิวเก่าที่อุดตันในรูขุมขน ที่อาจก่อให้เกิดสิว อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการขัดผิวอย่างรุนแรงเพราะอาจทำให้ผิวหน้าเสียหาย
- ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้าควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า Noncomedogenic ซึ่งมีความหมายว่าไม่ก่อให้เกิดสิว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันเพื่อลดการอุดตันในรูขุมขน
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า และควรล้างเครื่องสำอางให้สะอาดทุกครั้งก่อนนอน เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขนที่อาจทำให้เกิดสิวและเสี่ยงต่อการเกิดหลุมสิวได้