backup og meta

สิวเสี้ยน สาเหตุ อาการ และการรักษา

สิวเสี้ยน สาเหตุ อาการ และการรักษา

สิวเสี้ยน เกิดจากการอุดตันของน้ำมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทำให้เกิดสิวเล็ก ๆ ใต้ผิวหนัง ลักษณะคล้ายสิวอุดตันหัวดำ ต่างกันที่สิวเสี้ยนจะมีกระจุกขนหลายเส้น แทรกอยู่ในสิวอุดตันนั้นด้วย พบได้มากในบริเวณปลายจมูก คาง หน้าผาก แก้ม คอและหลัง สิวเสี้ยนสามารถกำจัดได้โดยการใช้ยารักษาตามที่คุณหมอแนะนำ และหมั่นล้างหน้าให้สะอาดเพื่อขจัดน้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกบนใบหน้า

คำจำกัดความ

สิวเสี้ยนคืออะไร

สิวเสี้ยน คือสิวอุดตันใต้ผิวหนัง คล้ายกับสิวหัวดำ แต่อาจมีขนอ่อนหลายเส้นแทรกอยู่ในหัวสิว สิวอุดตันมีลักษณะเป็นจุดสีดำเล็ก และอาจมีส่วนที่คล้ายหนามยื่นออกมาจากรูขุมขน เกิดขึ้นจากการอุดตันของรูขุมขน เนื่องจากเซลล์ผิวที่ตายแล้วรวมกับน้ำมันส่วนเกินที่ผลิตโดยต่อมไขมัน หรือที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) จนกลายเป็นก้อนไขมันขนาดเล็กอยู่ภายในรูขุมขน พบได้มากบริเวณปลายจมูก แก้ม คาง หน้าผาก และหลัง

อาการ

อาการสิวเสี้ยน

อาการของสิวเสี้ยนสังเกตได้จากหัวสิวสีดำเล็ก ๆ ที่อุดตันในรูขุมขน เมื่อสัมผัสจะรู้สึกคล้ายมีหนามแหลมยื่นออกมาจากรูขุมขน หากบีบออกจะสังเกตได้ว่ามีก้อนไขมันสีเหลืองอ่อน สีขาว ออกมาพร้อมกับเส้นขนอ่อน

สาเหตุ

สาเหตุของสิวเสี้ยน

สาเหตุการเกิดสิวเสี้ยนอาจยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากการที่ร่างกายสร้างเซลล์ขนอ่อนมากผิดปกติ รวมเข้ากับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และอุดตันในรูขุมขน หรืออาจเกิดจากการที่ต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปแล้วอุดตันในรูขุมขน กลายเป็นก้อนไขมัน ที่เรียกว่าโคมีโดน (Comedone) นำไปสู่การเกิดสิวเสี้ยนบนผิวหนัง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวเสี้ยน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวเสี้ยน หรืออาจทำให้อาการแย่ลง มีดังนี้

  • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันส่วนเกิน นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิว และอาจทำให้อาการสิวที่เป็นอยู่แย่ลง
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น นำไปสู่การอุดตันและเกิดสิว
  • อาหารที่มีไขมันสูง เช่น ขนมปังขาว มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต อาจไม่ก่อให้เกิดสิวโดยตรง แต่อาจส่งผลให้อาการสิวที่เป็นแย่ลงได้ในบางคน
  • เครื่องสำอาง การใช้เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน อาจส่งผลให้รูขุมขนเกิดการอุดตันได้ ดังนั้น จึงควรเลือกเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน และล้างหน้าให้สะอาดก่อนนอน
  • การเสียดสี หากผิวถูกเสียดสีอย่างรุนแรงจากการขัดหน้า อาจทำให้รูขุมขนและต่อมไขมันระคายเคือง รวมถึงยังอาจเสี่ยงเกิดขนคุดภายในรูขุมขน นำไปสู่การอุดตันก่อให้เกิดสิว
  • ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเทียม (Lithium) อาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้นจนอุดตันรูขุมขน และกลายเป็นสิวเสี้ยน

การรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การรักษาสิวเสี้ยน

วิธีการรักษาสิวเสี้ยน มีดังต่อไปนี้

  • แผ่นลอกสิวเสี้ยน เป็นแผ่นแปะผิวที่เคลือบสารที่มีความเหนียวและติดแน่น ทำให้เมื่อลอกออกมาจึงอาจสามารถดึงเอาสิวเสี้ยนที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังออกมาด้วย โดยใช้ด้านที่เคลือบสารติดกับบริเวณที่มีสิวเสี้ยน ทิ้งไว้ระยะหนึ่งตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากแล้วดึงออก จะสังเกตได้ว่ามีสิวเสี้ยนขนาดเล็กหลุดลอกติดออกมา แต่อาจไม่สามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้หมด และเป็นการรักษาแบบชั่วคราวเท่านั้น 
  • ยากลุ่มเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เป็นยาในรูปแบบทาเฉพาะที่ มีส่วนช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขน และลดความมันบนใบหน้า ควรทาวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน ประมาณ 5-10 นาที และล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้ผิวแห้ง แสบ ผิวลอกเป็นขุย ดังนั้น จึงควรใช้ในระดับความเข้มข้นต่ำ เพื่อปรับผิวให้ชินกับยาก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดและระยะเวลาการทิ้งยาไว้บนผิวหน้า
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นกรดที่มีส่วนช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการอุดตันในรูขุมขน สามารถทาแล้วล้างออกหรือทาทิ้งไว้ข้ามคืน ยานี้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแดง ระคายเคืองผิว
  • กรดเรติโนอิก (Retinoic acid) มีส่วนช่วยสลายการอุดตันของต่อมไขมัน ป้องกันการเกิดสิวเสี้ยนใหม่ และทำให้สิวเสี้ยนหลุดออกง่าย ควรทาบริเวณที่มีสิวเสี้ยน ก่อนนอน วันละ 1 ครั้ง หากทาช่วงเช้าควรทาครีมกันแดดร่วมด้วย เพราะกรดเรติโนอิกอาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด ผิวแห้ง แสบ ลอก และควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตา จมูก และรอบปาก
  • กดสิว สามารถใช้อุปกรณ์กดสิวเพื่อกดเอาสิวเสี้ยนออก ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ก่อนกดสิวเพื่อป้องกันการอักเสบ หรือให้ผู้เชี่ยวชาญกดสิวให้
  • เลเซอร์ เป็นการฉายแสงความร้อนสูงเพื่อกำจัดสิวเสี้ยนที่อุดตันในรูขุมขน  วิธีนี้อาจช่วยกำจัดสิวเสี้ยนออกได้เกือบหมด แต่ไม่สามารถช่วยลดขนาดรูขุมขนได้ จึงทำให้มีโอกาสเกิดการสิวเสี้ยนได้อีก และต้องทำต่อเนื่องหลายครั้ง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวเสี้ยน

วิธีป้องกันสิวเสี้ยน อาจทำได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองจนเสี่ยงเกิดสิวได้
  • เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids: AHA) เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก ลดความเสี่ยงการเกิดสิวเสี้ยน
  • ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับสภาพผิว วันละไม่เกิน 2 ครั้ง และควรล้างทำความสะอาดเครื่องสำอางออกให้หมดทุกครั้งก่อนนอน
  • หากหน้ามัน ควรใช้กระดาษซับมัน ซับเบา ๆ เพื่อลดความมันบนผิวหน้า
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เวลาทำความสะอาดใบหน้า ควรเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนแล้วจึงล้างหน้าให้สะอาด ไม่ควรนอนทั้งที่แต่งหน้า เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมาก ๆ วันละ 6-8 แก้ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

สิวเสี้ยน. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=479. Accessed February 11, 2022        

Trichostasis spinulosa. https://dermnetnz.org/topics/trichostasis-spinulosa. Accessed February 11, 2022        

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047. Accessed February 11, 2022        

HOW TO TREAT DIFFERENT TYPES OF ACNE. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/ACNE/DIY/TYPES-BREAKOUTS. Accessed February 11, 2022        

How to Get Rid of Blackheads. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/how-get-rid-blackheads. Accessed February 11, 2022        

สิวเสี้ยน https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/480_1.pdf. Accessed February 11, 2022        

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

กำจัดสิวหัวดำ ด้วยวิธีง่าย ๆ แบบธรรมชาติไม่ทำร้ายผิว

วิธีการทำแผ่นลอกสิวเสี้ยนด้วยตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา