backup og meta

โฟมล้างหน้าลดสิว ควรเลือกอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

โฟมล้างหน้าลดสิว ควรเลือกอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

การเลือก โฟมล้างหน้าลดสิว ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี อาจต้องคำนึงถึงส่วนผสมที่ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และลดแบคทีเรียบนผิวหน้า เช่น เบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ อะดาพาลีน กรดซาลิไซลิก กรดอะเซลาอิก การเลือกโฟมล้างหน้าให้เหมาะสมร่วมกับการดูแลผิวหน้าที่เป็นสิวอย่างถูกวิธี เช่น ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทายารักษาสิว หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยให้สิวที่เป็นอยู่ดีขึ้นและช่วยลดการเกิดสิวใหม่ได้

[embed-health-tool-bmi]

โฟมล้างหน้าลดสิว ควรเลือกอย่างไร

การเลือกใช้โฟมล้างหน้าลดสิวที่มีส่วนผสมต่อไปนี้ อาจช่วยรักษาและลดสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • เบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ช่วยขจัดน้ำมันส่วนเกินบนผิว และขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วซึ่งอาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว มีระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5-10% เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวระดับเล็กน้อยถึงรุนแรง ทั้งนี้ อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ผิวแห้ง เกิดสะเก็ด ระคายเคือง โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวบอบบางและแพ้ง่าย
  • อะดาพาลีน (Adapalene) ความเข้มข้น 1% เป็นเรตินอยด์หรืออนุพันธ์วิตามินเอที่ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ลดจำนวนสิว ลดการอักเสบของสิว และป้องกันการลุกลามของสิว เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ทั้งนี้ อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ผิวแห้ง ผิวตกสะเก็ด ผิวอักเสบ จึงควรใช้ร่วมกับมอยส์เจอไรเซอร์ที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น
  • กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) เป็นกรดในกลุ่มเบต้า-ไฮดรอกซี (Beta Hydroxy Acid หรือ BHA) ออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว ลดการอุดตันของรูขุมขน ลดการอักเสบของสิว ลดอาการบวมแดง และป้องกันการเกิดสิวใหม่ มีระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5-2% เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวในระดับที่ไม่รุนแรง
  • กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) ความเข้มข้น 10% ช่วยทำความสะอาดและชำระสิ่งสกปรกที่สะสมบนผิวหน้า ป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตัน มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอ่อน ๆ ทั้งยังช่วยลดรอยดำจากสิวได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง

ส่วนผสมในโฟมล้างหน้าที่ควรเลี่ยง อาจมีดังต่อไปนี้

  • โพลิเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene glycols หรือ PEG) เป็นปิโตรเคมีสังเคราะห์ที่พบได้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผม ช่วยกักเก็บความชื้นในผิวหนังและเส้นผม แต่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
  • เมทิล (Methyl) และโพรพิล พาราเบน (Propyl Paraben) เป็นสารกันบูดที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ทำให้มีอาการแพ้ ผิวหนังบวมแดง หรือเกิดผื่นคันได้
  • ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือฟอร์มาลีน (Formalin solution) เป็นสารกันบูดที่ใช้เพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ แชมพู อาจทำให้มีอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน หายใจมีเสียงหวีด
  • พาทาเลต (Phthalate) ใช้เป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ยาทาเล็บ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่มีกลิ่นหอม เช่น แชมพู โลชัน โฟมล้างหน้า แม้แต่ในผลิตภัณฑ์ยาบางชนิด
  • ออกซีเบนโซน (Oxybenzone) เป็นสารกันแดดที่มีคุณสมบัติช่วยกรองยูวี แต่เมื่อซึมเข้าสู่ผิวแล้วอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก มีผื่นคันรุนแรง ระคายเคืองดวงตา

วิธีดูแลผิวหน้าเมื่อเป็นสิว

วิธีดูแลผิวหน้าเมื่อเป็นสิว อาจทำได้ดังนี้

  • ศึกษาฉลากและส่วนผสมของโฟมล้างหน้าลดสิวก่อนใช้เสมอ ควรหลีกเลี่ยงโฟมล้างหน้าลดสิวที่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผู้ที่มีผิวบอบบางและแพ้ง่ายควรทดสอบการแพ้ด้วยการทาโฟมล้างหน้าปริมาณเล็กน้อยที่ท้องแขน 2 ครั้ง/วัน ติดต่อกัน 2-3 วัน หากไม่มีอาการแพ้ค่อยเปลี่ยนมาทดสอบที่ใบหน้าโดยการป้ายโฟมล้างหน้าที่ผิวหน้าเป็นจุดเล็ก ๆ ติดต่อกันอีก 2-3 วัน หากไม่มีอาการแสดงว่าสามารถใช้โฟมล้างหน้านั้น ๆ ได้ตามปกติ
  • ล้างหน้าอย่างถูกวิธีด้วยโฟมล้างหน้าลดสิวที่เหมาะกับสภาพผิว เริ่มจากบีบโฟมล้างหน้าบนฝ่ามือ ผสมน้ำเล็กน้อยแล้วถูให้เกิดฟอง จากนั้นล้างหน้าตามแนวขนให้ทั่วหน้าเป็นเวลา 10-20 วินาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง สุดท้ายจึงซับหน้าเบา ๆ ด้วยผ้าขนหนูสะอาดหรือกระดาษเช็ดหน้า
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้าขณะเป็นสิว เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองและเกิดสิวมากขึ้น
  • ทาครีมกันแดดทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแดด โดยทาก่อนออกแดด 15-30 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ควรเลือกครีมกันแดดสูตรบรอดสเปกตรัมที่มี SPF 50 ขึ้นไปเพื่อป้องกัน UVB และมีค่า PA ที่ช่วยป้องกัน UBA และเลือกแบบวอเตอร์เบส (Water base) แทนออยเบส (Oil base) ที่อาจทำให้ผิวมันเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการแกะเกาสิวที่ใบหน้า เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง สิวอักเสบ หายได้ช้าลง เกิดเป็นแผลเป็น หรือลุกลามไปบริเวณอื่น ๆ ของใบหน้า
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหน้า เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกหรือแบคทีเรียจากมือไปสะสมบนผิวหน้า เพราะอาจทำให้สิวแย่ลง

วิธีป้องกันการเกิดสิว

การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยลดจำนวนสิวและความรุนแรงของสิวได้

  • ล้างหน้าเป็นประจำอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เซลล์ผิวที่ตายแล้ว แบคทีเรีย ที่อาจไปอุดตันรูขุมขนจนทำให้เกิดสิว แต่ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ผิวแห้งและระคายเคือง และเมื่อผิวแห้งเกินไปอาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมาเคลือบผิวมากขึ้น ส่งผลให้หน้ามันและเกิดสิวได้ง่ายขึ้น
  • ควรล้างหน้าหลังออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ออกแรงเยอะ สวมหมวกหรือหมวกกันน็อก และสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะอาจทำให้มีเหงื่อออกมากจนไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เกิดสิวหรือทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้
  • ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้สเปรย์ฉีดผมหรือเจลแต่งผมสัมผัสกับผิวหน้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดูแลผมบางชนิดมีน้ำมันหรือสารเคมีที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนทำให้สิวขึ้นได้
  • ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้า เช่น โลชั่น เครื่องสำอาง ที่ไม่ก่อให้เกิดสิว (Non-comedogenic) และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่อาจทำให้ผิวระคายเคืองอย่างน้ำหอม พาราเบน และแอลกอฮอล์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

13 tips for managing teen acne. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/tips-for-managing-teen-acne. Accessed October 18, 2022

Acne Foaming Face Wash Cleanser – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-162575/foaming-acne-face-wash-topical/details. Accessed October 18, 2022

Safe Soaps and Cleansers for Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/cleansers. Accessed October 18, 2022

Nonprescription acne treatment: Which products work best?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/in-depth/acne-treatments/art-20045814. Accessed October 18, 2022

ACNE: TIPS FOR MANAGING. https://www.aad.org/public/diseases/acne/skin-care/tips. Accessed October 18, 2022

What Can I Do About Acne?. https://kidshealth.org/en/teens/prevent-acne.html. Accessed October 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลดสิว ช่วยให้ผิวใส ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการดูแลตนเอง

สิวมีกี่ประเภท และมีวิธีรักษาอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา