หน้าเหี่ยว ผิวหย่อนคล้อย เป็นปัญหาสุขภาพผิวที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุมากขึ้น ตากแดดมากเกินไป การสูบบุหรี่ ส่งผลให้ผิวดูแก่ก่อนวัย ผิวขาดความชุ่มชื้นและมีริ้วรอย หากอยากฟื้นฟูผิวให้กระชับขึ้นและมีสุขภาพดี ควรศึกษาวิธีดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธีหรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอโดยตรง
[embed-health-tool-heart-rate]
หน้าเหี่ยว เกิดจากอะไร
หน้าเหี่ยว อาจเกิดจากการตากแดดมากเกินไป เพราะแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลตที่ทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในชั้นผิวหนัง เช่น คอลลาเจน อีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่น และช่วยยึดเซลล์ผิวให้เรียงตัวกัน จึงส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียความแข็งแรง ขาดความยืดหยุ่น นำไปสู่หน้าเหี่ยว หรือ แขน ขา เหี่ยว และอาจส่งผลให้ผิวหย่อนคล้อย มีริ้วรอยที่ทำให้ดูแก่ก่อนวัย
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ผิวเหี่ยวและผิวหย่อนคล้อย ดังนี้
- อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์ผิวอาจเสื่อมสภาพและทำให้การผลิตคอลลาเจน การผลิตน้ำมันบนใบหน้าลดลง ส่งผลให้ผิวหน้าเหี่ยวและผิวหน้าแห้งกร้านได้
- การแสดงออกทางสีหน้ามากเกินไป เช่น เครียด ยิ้ม หัวเราะ เพราะเป็นการใช้กล้ามเนื้อบนผิวหน้ามากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อผิวหน้าเสื่อมสภาพและสูญเสียความยืดหยุ่นของผิว จนเกิดร่องลึกใต้ผิวหนังนำไปสู่รอยเหี่ยวย่น
- การขาดการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เพราะอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ที่อาจช่วยป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพ จึงอาจช่วยลดการเกิดริ้วรอย ผิวหย่อนคล้อย และรอยเหี่ยวย่น
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินซึ่งเป็นโปรตีนในชั้นผิว ทำให้ผิวหน้าขาดความยืดหยุ่น นำไปสู่หน้าเหี่ยว ริ้วรอย และผิวหน้าหย่อนคล้อย และยังอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงกระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด
- กรรมพันธุ์ที่มีการเสื่อมของผิวหนังเร็ว จะทำให้หน้าเหี่ยวเร็วกว่าปกติ
การแก้ปัญหาหน้าเหี่ยว ผิวหย่อนคล้อย
การแก้ไขปัญหาหน้าเหี่ยว ผิวหย่อนคล้อย มีดังนี้
- การผลัดเซลล์ผิว เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่คุณหมออาจใช้สารเคมีสำหรับลอกผิวหรือแนะนำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบในการช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดเอเอชเอ กรดเบต้าไฮดรอกซี (Beta Hydroxy Acids: BHAs) เรตินอยด์ (Retinoid) เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออกและกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่อาจทำให้ผิวหย่อนคล้อย มีรอยเหี่ยวย่นดูตื้นขึ้น
- การรักษาด้วยเลเซอร์ อาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิวและส่งผลให้ผิวกระชับ ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งและต่อเนื่อง
- การฉีดโบท็อกซ์ เป็นสารที่สกัดจากแบคทีเรียสายพันธุ์คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่อาจช่วยป้องกันกล้ามเนื้อหดตัว แก้ไขปัญหาริ้วรอย ผิวหน้าหย่อนคล้อย และรอยเหี่ยวย่น
- การทำไฮฟู่ (Hifu) เป็นอุปกรณ์ที่แก้ไขปัญหาผิวหย่อนคล้อย รอยเหี่ยวบนใบหน้าด้วยการส่งพลังงานจากคลื่นอัลตราซาวด์ที่เรียกว่าอัลตราซาวด์ไมโครโฟกัส (MFU) ยิงเข้าสู่ผิวชั้นลึก เพื่อช่วยกระชับผิวโดยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหน้า ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการทำซ้ำทุก ๆ 6 เดือน ถึง 1 ปี
- การผ่าตัดยกกระชับผิวหน้า เป็นวิธีแก้ไขปัญหาหน้าเหี่ยววิธีสุดท้ายที่คุณหมอเลือกใช้รักษาในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาในรูปแบบอื่น โดยคุณหมอจะทำการผ่าตัดผิวหนังและไขมันส่วนเกินที่เป็นรอยเหี่ยวย่นและผิวหย่อนคล้อยออกเพื่อช่วยยกกระชับผิวหน้า
วิธีดูแลผิวป้องกันหน้าเหี่ยว
วิธีดูแลผิวป้องกันหน้าเหี่ยว อาจทำได้ดังนี้
- ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และควรสวมแว่นกันแดด หมวกปักกว้าง เพื่อปกป้องไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดทำลายผิวหน้าโดยตรงลดความเสี่ยงหน้าเหี่ยว
- บำรุงผิวหน้าที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนประกอบของกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดแลคติก (Lactic Acid) กรดไฮยาลูโรนิกหรือไฮยาลูรอน เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้า ที่อาจช่วยลดความลึกของริ้วรอยและอาจช่วยป้องกันผิวหน้าเหี่ยวได้
- พยายามหลีกเลี่ยงการเกร็งใบหน้า หรือการแสดงออกทางสีหน้าบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อผิวหน้าเสื่อมสภาพและหน้าเหี่ยว
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี หรืออาจรับประทานอาหารเสริมที่คุณหมอแนะนำ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินซี วิตามินอี วิตามินเอ ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวที่นำไปสู่การเกิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้
- เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในชั้นผิวของผิวหน้า รวมถึงป้องกันผิวแห้ง ผิวขาดน้ำ ที่อาจทำให้ผิวดูแก่ก่อนวัย ผิวเหี่ยวและหน้าเหี่ยว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมผิวหนังส่วนที่เสื่อมสภาพ