backup og meta

หน้าแห้งลอก เกิดจากอะไร และวิธีการดูแลรักษา

หน้าแห้งลอก เกิดจากอะไร และวิธีการดูแลรักษา

หน้าแห้งลอก อาจเป็นสัญญาณของสภาพผิวที่กำลังฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แสงแดดเผา ภูมิแพ้ โรคผิวหนัง หรืออาจเกิดจากการรักษาบางชนิด เช่น การรักษาโรคมะเร็ง ยารักษาสิว รวมทั้งอายุที่เพิ่มมากขึ้นก็อาจทำให้ผิวหนังเสื่อมสภาพจนเกิดเป็นอาการหน้าแห้งลอกได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หน้าแห้งลอก เกิดจากอะไร

หน้าแห้งลอก เป็นกระบวนการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกออกซึ่งเป็นการฟื้นฟูและรักษาผิวตามธรรมชาติจากความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น อาการแห้ง เย็น แสงแดดจัดแผดเผา ผิวระคายเคืองจากการเสียดสี
  • การแพ้ทางผิวหนัง เช่น สภาพอากาศ สารเคมี อาหาร แมลงกัดต่อย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน
  • สภาพผิวหนังและโรคผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง ผิวหนังอักเสบ โรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน โรคเซ็บเดิร์ม โรคน้ำกัดเท้า สังคัง
  • การติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรียเสตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) การติดเชื้อรา เชื้อปรสิต
  • โรคบางชนิด เช่น โรคคาวาซากิ โรคผิวหนังลอก ไข้อีดำอีแดง โรคติดเชื้อผิวหนัง โรคหัวใจรูมาติก
  • วิธีการรักษา เช่น การรักษาสิว การฉายแสง การฉายรังสี เคมีบำบัด ยาวิตามิน อาหารเสริมสมุนไพรบางชนิด ครีมเรตินอยด์ การลอกผิวด้วยเคมี
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นผิวจะเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ ผิวบางลง แห้งลอก และน้ำมันบนผิวหนังที่ให้ความชุ่มชื้นก็จะน้อยลงตามไปด้วย

หน้าแห้งลอกมีอาการอย่างไร

อาการหน้าแห้งลอกเป็นการผลัดเซลล์ผิวเก่าชั้นนอกที่เสื่อมสภาพจากปัจจัยบางประการ เพื่อสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่แข็งแรงกว่าขึ้นมาทำหน้าที่เป็นชั้นปกป้องผิวจากเชื้อโรคและมลภาวะภายนอก โดยอาการหน้าแห้งลอกที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • หน้าแห้งมาก ผิวตึง
  • ผิวเป็นขุย หนังลอกเป็นสะเก็ด
  • ผิวระคายเคืองและอักเสบ
  • ผิวแดง
  • อาการคันและอาจแสบร้อนผิว
  • อาจมีรอยแตกที่ผิวหนัง หากผิวแตกลึกอาจมีเลือดออกร่วมด้วย

โดยทั่วไปปัญหาหน้าแห้งลอกไม่เป็นอันตราย แต่หากปัญหาผิวแห้งและหน้าแห้งลอกส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยโรคที่อาจเป็นสาเหตุหลักของอาการ และทำการรักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

วิธีการดูแลรักษาหน้าแห้งลอก

การรักษาหน้าแห้งลอกจะขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งวิธีการรักษาก็อาจแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน โดยคุณหมออาจแนะนำวิธีรักษา ดังนี้

  • ยารักษาโรคภูมิแพ้
  • ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ช่วยต้านการอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน ลดอาการผื่น คัน บวมและแดง

นอกจากนี้ คุณหมอยังอาจแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเพิ่มเติม เพื่อช่วยลดอาการผิวแห้งตึงและบรรเทาอาการหน้าแห้งลอก ดังนี้

  • ควรอาบน้ำอุณหภูมิห้องและอาบน้ำไม่เกิน 10-15 นาที เพื่อไม่ให้ผิวสูญเสียน้ำมันมากเกินไป
  • ทาครีมเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังอาบน้ำทันที เพื่อช่วยเติมเต็มและกักเก็บควาชุ่มชื้นในผิว โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันอาการแพ้ หรือหากผิวไหม้แดดควรใช้ว่านหางจระเข้เพื่อบรรเทาอาการไหม้แดด แสบ บวมและแดง
  • ดื่มน้ำมาก ๆ โดยควรดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร เพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • หากสภาพอากาศแห้งมากอาจใช้เครื่องทำความชื้นภายในบ้าน เพื่อให้สภาพแวดล้อมไม่แห้งมากเกินไป
  • งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีสารเคมีที่อาจทำให้ผิวเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และยังอาจทำให้หลอดเลือดตีบ ซึ่งส่งผลให้เลือดไหลเวียนเพื่อลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงผิวหนังได้ลดลง
  • ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดดที่อาจทำให้ผิวเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dry skin. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-skin/symptoms-causes/syc-20353885#:~:text=It’s%20a%20common%20condition%20that,%2C%20harsh%20soaps%2C%20and%20overbathing. Accessed January 24, 2023

Peeling Skin. https://www.mayoclinic.org/symptoms/peeling-skin/basics/causes/sym-20050672. Accessed January 24, 2023

Why Do I Have Scaly Skin?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/scaly-skin. Accessed January 24, 2023

DERMATOLOGISTS’ TOP TIPS FOR RELIEVING DRY SKIN. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-basics/dry/dermatologists-tips-relieve-dry-skin. Accessed January 24, 2023

Peeling skin syndrome. https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/7347/peeling-skin-syndrome. Accessed January 24, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวหน้าแห้งกร้าน สาเหตุ และการป้องกัน

3 สูตรมาสก์หน้าสำหรับ ผิวหน้าแห้ง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา