backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไฟลามทุ่ง อาการ สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ไฟลามทุ่ง อาการ สาเหตุและการรักษา

ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นหนังแท้ มักเกิดขึ้นบริเวณขาและเท้า ซึ่งอาจสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว อาจทำให้มีไข้ หนาวสั่น แสบร้อน ปวด บวมและแดงที่ผิวหนัง ในบางกรณีอาจลุกลามกลายเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ทำให้เนื้อตาย การรักษาที่เหมาะสมอาจทำได้ด้วยการช่วยประคับประคองอาการไม่ให้ลุกลาม

คำจำกัดความ

ไฟลามทุ่ง คืออะไร

ไฟลามทุ่ง คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (group A streptococcus) บริเวณชั้นผิวหนังแท้และชั้นใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยมักมีอาการปวด บวม แดง และแสบร้อนที่ผิวหนังบริเวณเท้าและขา อาจมีอาการรุนแรงกลายเป็นการติดเชื้อลุกลามไปที่กล้ามเนื้อ หรือเรียกว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ทำให้เนื้อเริ่มตาย มีลักษณะเป็นผื่นสีดำคล้ำ ตุ่มน้ำ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้หากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด

อาการ

อาการไฟลามทุ่ง

เมื่อเป็นโรคไฟลามทุ่ง ผู้ป่วยมักมีไข้ หนาวสั่น ซึ่งเป็นสัญญาณเบื้องต้นก่อนเกิดอาการอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  • ผิวหนังอักเสบ บวม แดง  และผิวลื่น
  • ผิวเป็นริ้วสีแดง อาจเปลี่ยนเป็นสีม่วง เขียว หรือดำในกรณีรุนแรง
  • แสบร้อนและเจ็บปวด
  • ผิวบริเวณที่เป็นโรคไฟลามทุ่งแข็งขึ้น
  • อาจเกิดแผลพุพองในกรณีที่รุนแรง

อาการของไฟลามทุ่งอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจลุกลามภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงควรพบคุณหมอโดยด่วนเพื่อทำการรักษา

สาเหตุ

สาเหตุไฟลามทุ่ง

ไฟลามทุ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบนชั้นผิวหนังแท้และชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ  ดังนี้

การติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง

ไฟลามทุ่งจากการติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนังที่ชื่อว่า เชื้อสเตรปโทคอกคัส (Streptococcal) หรือการติดเชื้อร่วมกับ สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อตามบาดแผลบนผิวหนัง แผลพุพอง แมลงสัตว์กัดต่อย หรือแผลจากการผ่าตัด

โรคผิวหนัง

สภาพผิวหนังที่อ่อนแออาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เป็นไฟลามทุ่งได้ โดยเฉพาะหากเป็นโรคผิวหนัง ดังนี้

ปัญหาสุขภาพ

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับการระบายของหลอดเลือดดำและน้ำเหลืองอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดไฟลามทุ่งได้ เช่น

  • โรคอ้วน
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • ปัญหาการไหลเวียนเลือด
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายอวัยวะ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงไฟลามทุ่ง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นไฟลามทุ่ง มีดังนี้

  • เคยมีประวัติเป็นโรคไฟลามทุ่ง
  • การตั้งครรภ์
  • ปัญหาผิวจากแมลงกัดต่อย โรคสะเก็ดเงิน โรคน้ำกัดเท้า และกลาก
  • ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ เช่น การผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี
  • ทารกแรกเกิดที่ตัดสายสะดือ และผิวหนังบาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน
  • เนโฟรติก ซินโดรม (Nephrotic Syndrome) กลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะเด็ก
  • การติดเชื้อในช่องจมูก
  • โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง โรคอ้วน เอชไอวี/เอดส์

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ได้โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยไฟลามทุ่ง

คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพและอาการเบื้องต้นเพื่อประกอบการวินิจฉัย และตรวจร่างกายเพื่อระบุตำแหน่งรอยโรค รวมถึงลักษณะของอาการ หรืออาจทำการทดสอบ ดังนี้

  • ตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อแบคทีเรียในเลือด
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count : CBC) เพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อและตรวจภาวะแทรกซ้อนทางโลหิตวิทยา
  • การเพาะเชื้อแบคทีเรีย โดยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นโรคไฟลามทุ่ง มาตรวจเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุของโรคไฟลามทุ่ง

ไฟลามทุ่ง รักษาได้อย่างไร

การรักษาโรคไฟลามทุ่งอาจต้องใช้เวลารักษาประมาณ 10-14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน แต่หากรุนแรงมากอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบฉีด ได้แก่

  • กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) คือ ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) เซฟาเล็กซิน (Cephalexin) คลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือ อีริโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) คุุณหมออาจเลือกจ่ายยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ขนาด 300 มิลลิกรัม วันละ 3 เวลา หรือกลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) เช่น อีริโทรมัยซิน (Erythromycin) รอกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) ขนาด 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง

การรักษาที่บ้าน

  • รับประทานยาลดไข้เมื่อมีอาการ
  • หากเป็นไฟลามทุ่งที่ขา ให้นอนยกขาประมาณ 10-15 นาทีอาจช่วยลดอาการบวมและปวด
  • เมื่อผู้ป่วยเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้ ให้ใช้ผ้ายืดหุ้มพันที่ขาเพื่อลดอาการบวมและช้ำ เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับอาการ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับไฟลามทุ่ง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไฟลามทุ่ง สามารถทำได้ดังนี้

  • ดูแลเท้าไม่ให้อับชื้น ป้องกันการเกิดเชื้อรา และระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า
  • เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม ไม่คับแน่นหรือหลวมจนเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต่อเท้าอับชื้นหรือรองเท้ากัด ทำให้เกิดบาดแผลและเสี่ยงติดเชื้อได้
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าเมื่ออยู่นอกอาคาร เพราะอาจเสี่ยงเกิดบาดแผล
  • ทาโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณผิวแห้งแตก
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเป็นไฟลามทุ่ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา