ตุ่มใสที่มือ เป็นสภาวะทางผิวหนังที่มักมีสาเหตุมาจากโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น โรคอีสุกอีใส ผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ รวมถึงอาจมีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ การติดเชื้อ หรืออาจเป็นความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เกิดตุ่มใสที่มือ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักของโรค ซึ่งการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยป้องกันปัญหาตุ่มใสที่มือได้
[embed-health-tool-bmi]
ตุ่มใสที่มือ เกิดจากอะไร
ตุ่มใสที่มือ ส่วนใหญ่เป็นสภาวะของโรคผิวหนัง ซึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดตุ่มใสที่มือ มีดังนี้
- โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ เสื้อผ้า สารเคมี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผื่นแดง มีตุ่มใสที่มือ ผื่นลมพิษ คัน และไม่สบายตัว
- โรคเริม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) โดยอาจทำให้ผู้ป่วยมีตุ่มแดงหรือตุ่มใสเล็ก ๆ ปวด แสบร้อน คัน เป็นแผลพุพอง หรือเป็นสะเก็ดบริเวณอวัยวะเพศ แต่ในบางกรณีอาจมีตุ่มใสที่มือหรือปากเกิดขึ้นได้เช่นกัน
- โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสคอกแซกกี้ (Coxsackie Virus) ซึ่งอาจพบได้มากในช่วงหน้าฝน มักทำให้เกิดตุ่มใสที่มือ หลังมือ เท้า ก้น หรือลิ้น มีไข้ เจ็บคอ เหนื่อยล้า และเป็นแผลพุพอง
- โรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสทางผิวหนัง ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เป็นโรคงูสวัด โดยโรคอีกสุกอีใสมักเกิดขึ้นในเด็กเล็กและทำให้มีตุ่มใสที่มือ หรือตุ่มแดงขึ้นตามผิวหนังทั่วร่างกาย เจ็บปวด คัน และมีไข้
- ผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema) เป็นผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด โรคภูมิแพ้ การระคายเคือง หรือการแพ้สารเคมี มักทำให้มีตุ่มใสที่มือ ฝ่าเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือตามผิวหนัง และมีอาการคันมาก
- โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous Pemphigoid) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นตามผิวหนัง มีอาการคันเล็กน้อย และอาจแสบได้หากตุ่มน้ำแตกกลายเป็นแผลถลอก
การดูแลเพื่อป้องกัน ตุ่มใสที่มือ
สำหรับการบรรเทาอาการตุ่มใสที่มือ อาจจำเป็นต้องรักษาจากสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ ร่วมกับการดูแลตัวเอง ดังนี้
- ทำความสะอาดผิวเป็นประจำทุกวัน โดยการอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคตามผิวหนัง นอกจากนี้ หากกลับจากนอกบ้าน หลังจากเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย ควรอาบน้ำทันที เพื่อขจัดคราบเหงื่อไคลและเชื้อแบคทีเรียตามผิวหนัง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัว ระบายอากาศได้ดี และเข้ากับสภาพอากาศ เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีระหว่างผิวหนังกับเสื้อผ้า
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด
- ทาครีมกันแดดก่อนออกนอกบ้านเสมอ เพื่อช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด
- ล้างมือและเท้าทุกครั้งเมื่อกลับมาจากนอกบ้าน และก่อนรับประทานอาหาร เพื่อขจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาตามซอกนิ้วมือและนิ้วเท้า
- สวมใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่ออยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะหากอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากบางโรคอาจทำให้เกิดตุ่มใสที่มือได้เช่นกัน
- เข้ารับการรักษาและใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ตุ่มน้ำใสที่มือและอาการอื่น ๆ หายเร็วขึ้น