backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

ลมพิษ มีสาเหตุจากอะไร และรักษาอย่างไร

ลมพิษ มีสาเหตุจากอะไร และรักษาอย่างไร

ลมพิษ (Hives) เป็นอาการที่ผิวหนังเป็นผื่นแดง หรือมีผื่นนูน และมักจะมีอาการคันร่วมด้วย มักเกิดจากอาการแพ้สารบางอย่าง เช่น แพ้ยา แพ้สารเคมี แพ้อาหาร แต่ก็สามารถเกิดจากสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ความเครียด อากาศร้อน อย่างไรก็ตาม ลมพิษสามารถหายได้ด้วยการดูแลตนเองเบื้องต้น แต่หากลมพิษไม่หายภายใน 24 ชั่วโมง ควรไปพบคุณหมอ

ลมพิษ คืออะไร

ลมพิษ คือ ผื่นคันที่บวมขึ้น นับเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดผื่นคัน แต่อาจทำให้รู้สึกเหมือนผิวไหม้จนแสบผิว หรือรู้สึกเหมือนโดนกัดที่ผิว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย บริเวณที่พบบ่อยได้แก่ ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น คอ หู หน้าอก บริเวณผิวหนังที่เป็นลมพิษจะกินความกว้างไม่เท่ากัน ตั้งแต่ความกว้างเท่ายางลบไปจนถึงขนาดเท่าจานข้าว ลมพิษมีโอกาสเกิดขึ้น 15-20% ในชีวิตของทุกคน

โดยทั่วไป ลมพิษ มีอยู่ 3 ประเภทขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดลมพิษ ได้แก่

  • ลมพิษ ฉับพลัน (Acute Urticaria)

ผู้ที่เป็น ลมพิษ ฉับพลันจะมีอาการเป็นผื่นไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักมีสาเหตุมาจากอาการแพ้อาหารหรือแพ้ยาบางประเภท แต่การติดเชื้อและแมลงกัดต่อยก็ทำให้เกิดผื่นคันชนิดนี้ได้เช่นกัน

  • ลมพิษ เรื้อรัง และแองจิโออีดีมา (Chronic Urticaria And Angioedema)

หากมีอาการผื่นจาก ลมพิษ นานเกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ อาจมีสาเหตุมาจากโรคบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ โรคแพ้ภูมิตนเอง  หากเป็น ลมพิษเรื้อรัง อาจทำให้รู้สึกไม่สะดวกสบาย รบกวนการนอนหลับและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หลายคนบรรเทาอาการด้วยการใช้ยาต้านฮิสตามีน และยาแก้คัน

ลมพิษชนิดเรื้อรังนี้ ส่วนใหญ่แล้วคุณหมอจะไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการ หรือสาเหตุที่ทำให้ ลมพิษ เฉียบพลันกลายเป็นปัญหาระยะยาวได้ แองจิโออีดีมา Angioedema  (ลมพิษ ที่ทำให้เกิดภาวะบวมในชั้นลึกของหนังแท้ ทำให้เกิดผื่นนูนแดง) เป็น ลมพิษ ที่รุนแรงกว่า ลมพิษฉับพลัน เนื่องจาก สามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ปอด กล้ามเนื้อ และทางเดินอาหาร แต่จะเป็นลมพิษที่อาการคันน้อยกว่า

เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนัง อากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป การตากแดด การมีเหงื่อออกมากเกินไป หรือการเสียดสีของเสื้อผ้ากับผิวหนังเวลาออกกำลังกาย ต่างก็เป็นสาเหตุให้เกิดผื่นลมพิษได้ทั้งสิ้น ซึ่งผื่นลมพิษชนิดที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพจะไม่ค่อยแพร่กระจายออกไปจากจุดเดิม

สาเหตุที่ทำให้เกิด ลมพิษ

ผื่นลมพิษจะปรากฏขึ้นเมื่อระดับฮิสตามีนสูงซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นในร่างกาย และสารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทบางอย่างหลั่งออกมาสู่ผิว ทำให้เกิดผื่นคันและอาการอื่น ๆ ที่พื้นผิวหนัง โดยทั่วไปแล้ว  ลมพิษ จะเกิดจากอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้สารเคมี แต่ในขณะเดียวกัน ลมพิษ ก็อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับอาการแพ้ อย่างเช่น

  • ความเครียด
  • แมลงกัดต่อย
  • การระคายเคืองจากพืช เช่น ใบตำแย
  • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
  • แสงแดด
  • การติดเชื้อ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อหวัด
  • ยาบางชนิด ส่วนใหญ่แล้วยาแอสไพรินและไอบูโพเฟน (Ibuprofen) ยาลดความดันโลหิตบางชนิด (ACE Inhibitors) และโคเดอีน เป็นยาที่มักเกี่ยวข้องกับอาการลมพิษ
  • อาการของโรคบางอย่าง

การระบุปัจจัยที่ทำให้เกิด ลมพิษ เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อสามารถระบุปัจจัยที่ทำให้แพ้ได้แล้ว ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นได้ โดยทั่วไปแล้ว ลมพิษ มักจะหายไปได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ก็อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้อาการลมพิษแย่ลง ซึ่งควรต้องระวัง ได้แก่

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • คาเฟอีน
  • ความเครียด
  • อุณหภูมิภายนอกสูงเกินไป

การดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อรักษาอาการลมพิษ

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดลมพิษ สิ่งที่ควรทำคือ การบรรเทาอาการคันและระคายเคือง ซึ่งมีหลายวิธีที่สามารถใช้เพื่อรักษาอาการลมพิษได้ด้วยตนเอง เช่น

  • ประคบเย็น

การประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ โดยอาจใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง วางไว้ตรงผิวบริเวณที่เป็นลมพิษ ประมาณ 10 นาที และทำซ้ำตลอดวัน จะช่วยบรรเทาอาการคันและลดอาการอักเสบ

  • ใช้ว่านหางจระเข้

การใช้เนื้อว่านหางจระเข้โปะลงบริเวณผิวที่เป็นลมพิษ จะช่วยปลอบประโลมผิวและลดอาการลมพิษ แต่อย่างไรก็ตาม ควรลองทดสอบโดยการทาว่านหางจระเข้ลงบนผิวในปริมาณน้อย ก่อนที่จะทาว่านหางจระเข้ลงบนผิวบริเวณที่เป็นลมพิษทั้งหมด

  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวกระตุ้น

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือทำความสะอาดผิวหลายชนิด เช่น สบู่ น้ำหอม โลชั่น ครีมบำรุงผิว อาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดลมพิษ ได้ หากสภาพผิวหนังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการแพ้ได้ง่าย ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหรือผลิตภัณฑ์สำหรับผู้มีผิวแพ้ง่าย และอาจพยายามหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่เป็นน้ำหอมหรือสารให้ความหอม เพราะมีแนวโน้มจะทำให้ผิวระคายเคืองได้มากที่สุด

  • หลีกเลี่ยงอากาศร้อน

ความร้อนทำให้อาการคันแย่ลง ดังนั้น ผู้ที่เป็น ลมพิษ จึงควรสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และอยู่ในห้องที่อุณหภูมิเย็นสบาย รวมถึงหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วย

ยารักษาอาการ ลมพิษ

หากการเยียวยาอาการลมพิษด้วยวิธีธรรมชาติไม่ได้ผล อาจต้องใช้ยารักษา ยาเหล่านี้อาจใช้เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ จากลมพิษ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

1. คาลาไมน์โลชั่น

ผลิตภัณฑ์ที่มีคาลาไมน์จะช่วยทำให้ผิวเย็นลง จึงสามารถบรรเทาอาการคันได้ โดยทาคาลาไมน์โลชั่นผิวหนังบริเวณที่เป็น ลมพิษ ได้เลย

2. ยาไดเฟนไฮดรามีน

ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาต้านฮิสตามีนแบบรับประทาน สามารถช่วยลดผื่นและอาการอื่น ๆ เช่น อาการคัน ด้วยการรักษาจากภายในสู่ภายนอก ให้ทำตามคำแนะนำในการรับประทานยา ยาจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และอาการลมพิษจะดีขึ้น ข้อควรระวัง คือ การรับประทานยานี้อาจทำให้ง่วงซึม

3. ยาเฟกโซเฟนาดีน ยาลอราทาดีน และยาเซทิไรซีน

ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) และยาเซทิไรซีน (Cetirizine) เป็นยาต้านฮีลตามีนที่จะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง และออกฤทธิ์นาน 12 หรือ 24 ชั่วโมง มีแนวโน้มที่จะทำให้ง่วงนอนน้อยกว่ายาไดเฟนไฮดรามีน

อาการแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

ปกติอาการลมพิษจะหายไปภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่หากเป็นลมพิษ และมีอาการของอาการแพ้รุนแรงเหล่านี้ร่วมด้วย ให้รีบไปพบคุณหมอทันที

  • วิงเวียนศีรษะ
  • บวมบริเวณคอหรือใบหน้า
  • หายใจลำบาก

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hives. (n.d.). aad.org/public/diseases/itchy-skin/hives#overview. Accessed April 28, 2022.

Hives (urticaria). (n.d.). acaai.org/allergies/types/skin-allergies/hives-urticaria. Accessed April 28, 2022.

Hives (urticaria). (2015). aafa.org/page/hives.aspx. Accessed Accessed April 28, 2022.

How to treat hives. https://www.medicalnewstoday.com/articles/320268.php. Accessed April 28, 2022.

Hives and Your Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/hives-urticaria-angioedema#1. Accessed April 28, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/06/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา