backup og meta

5 โรคผิวหนัง คัน เป็นวงแดง ที่พบได้บ่อย และวิธีรักษา

5 โรคผิวหนัง คัน เป็นวงแดง ที่พบได้บ่อย และวิธีรักษา

โรคผิวหนัง ที่ทำให้ คัน เป็นวงแดง อาจมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยอาจมี กลาก เกลื้อน ผื่นกุหลาบ ผิวหนังภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งการรักษาก็อาจแตกต่างกันออกไปตามอาการที่เป็น ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นและควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที

[embed-health-tool-bmi]

5 โรคผิวหนัง ที่ส่งผลให้เกิดอาการ คัน เป็นวงแดง

1. โรคกลาก

โรคกลากเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ที่เจริญเติบโตมากเกินไปเนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น เช่นสภาพอากาศร้อนชื้น การใช้ผ้าขนหนูและเสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น การสวมเสื้อผ้ารัดแน่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การอยู่ใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อ

โรคกลากอาจสังเกตได้จากอาการ ดังต่อไปนี้

  • ผิวหนังเป็นวงแดงและอาจเป็นสะเก็ดรอบนอก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น ศีรษะ แขน ขา ลำตัว ก้น
  • อาการคัน
  • สะเก็ดบาง ๆ กระจายทั่วร่างกาย ซึ่งอาจมีสีขาว สีแดง สีน้ำตาล สีม่วง หรือสีดำ

การรักษาโรคกลาก

วิธีการรักษาโรคกลาก มีดังนี้

  • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีมใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดผิวหนังและเช็ดให้แห้งก่อนทายาบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด หากรู้สึกผิวหนังมีอาการแสบร้อน มีตุ่มแดง ผิวลอกและบวม ควรพบคุณหมอทันที เพราะอาจมีอาการแพ้ยา
  • ไมโคนาโซล (Miconazole) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง ยกเว้นบริเวณดวงตา จมูก ปาก และช่องคลอด หากมีอาการผิดปกติหลังทายา เช่น ผิวบวม แสบร้อน มีตุ่มแดงขึ้น ผิวลอก ผื่นคัน วิงเวียนศีรษะ ควรพบคุณหมอทันที
  • ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น  เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่น อยู่ในสภาพอากาศที่เย็น และรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือและอาบน้ำบ่อย ๆ

2. โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควบคู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด พันธุกรรมสภาพอากาศที่หนาวแห้ง ที่อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วจนเกินไป ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง และเกิดเป็นโรคสะเก็ดเงิน

อาการของโรคสะเก็ดเงินอาจสังเกตได้ดังนี้

  • ผิวหนังเป็นวงแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดเงินหนา
  • อาการคัน และรู้สึกแสบร้อนผิวหนัง
  • ผิวหนังบวม
  • ผิวหนังแห้งแตกและอาจมีเลือดออก
  • แผลเปิด เป็นหนอง ที่อาจเกิดจากการเสียดสี
  • เล็บหนา ขรุขระ เป็นรู

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

วิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีดังนี้

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)เป็นยาที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินในระดับเบาจนถึงระดับปานกลาง มีทั้งแบบครีม โลชั่น เจล สเปรย์ แชมพู และขี้ผึ้ง สามารถเลือกใช้ได้ตามเหมาะสม โดยทายาในบริเวณที่มีอาการ อาจใช้วันเว้นวันหรือตามที่คุณหมอกำหนด เนื่องจากหากใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไปอาจส่งผลให้ผิวบางได้
  • วิตามินดีสังเคราะห์ เช่น ยาแคลซิโปไตรอีน (Calcipotriene)แคลซิไทรออล (Calcitriol) ที่ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง อาจใช้คู่กับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อลดการระคายเคืองผิว
  • ยาเรตินอยด์ มีทั้งแบบรับประทาน แบบฉีด และแบบยาทาเฉพาะที่ เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) อาซิเทรติน (Acitretin) ที่อาจช่วยลดการผลิตเซลล์ผิวหนัง และช่วยบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงิน ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวไวต่อแสง ผิวแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ และระคายเคืองผิว เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้โดยเฉพาะสตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • สารยับยั้งแคลซินิวริน (Calcineurin inhibitorอาจมีส่วนช่วยลดการอักเสบและการสะสมของคราบจุลินทรีย์ โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่บอบบางจนไม่สามารถใช้ยาเรตินอยด์และคอร์ติโคสเตียรอยด์รักษาได้ เช่น รอบดวงตา ยานี้อาจมีผลข้างเคียงส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนังและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เมื่อใช้ในระยะยาว สำหรับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เนื่องจากไม่ทราบถึงผลข้างเคียงที่แน่ชัด ดังนั้นควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้
  • น้ำมันดิน มีในรูปแบบยาแชมพูและครีม ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบและอาการคันของโรคสะเก็ดเงิน แต่อาจมีกลิ่นแรงส่งผลให้ระคายเคืองผิวหนังรุนแรงและอาจเลอะเสื้อผ้าและที่นอนได้ สำหรับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันดินในการรักษาเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงแท้งบุตร ทารกพิการแต่กำเนิด
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิไซลิกอาจช่วยลดขนาดของสะเก็ดเงิน ด้วยการช่วยเร่งผลัดเซลล์ผิว อาจใช้ควบคู่กับยารักษาอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
  • ยาเม็ดรับประทานและการฉีดยาอื่น ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรง ช่วยยับยั้งการอักเสบ ลดการผลิตเซลล์ผิว และกดภูมิคุ้มกันซึ่งอาจได้รับการรักษาต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล คุณหมออาจให้รับประทานยาเม็ด หรือฉีดยาเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยตรง ได้แก่ เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) อินฟลิซิแมบ (Infliximab) อะดาลิมูแมบ (Adalimumab)
  • การบำบัดด้วยแสง โดยการฉายรังสี เช่น ยูวีเอ (UVA) ยูวีบี (UVB) พียูวีเอ (PUVA) เพื่อช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง ทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินดีขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรง และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง

3. โรคผื่นกุหลาบ

เป็นโรคผิวหนังที่มักเกิดในช่วงอายุ 10-35 ปี โดยมีสาเหตุไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณหน้าอก หลัง และหน้าท้อง มีผื่นเป็นวงแดงในลักษณะวงรีหรือวงกลมขนาดใหญ่ ประมาณ 4 นิ้ว หรืออาจมีตุ่มแดงเล็ก ๆ กระจายทั่วลำตัว บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ และเหนื่อยล้าง่ายร่วมด้วย

โรคนี้อาจหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการแย่ลง หรือมีผื่นขึ้นเรื้อรัง ควรพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการคันอย่างรุนแรง ผิวที่ได้รับผลกระทบเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาลคล้ำ

การรักษาผื่นกุหลาบ

วิธีการรักษาผื่นกุหลาบ มีดังนี้

  • ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) มีในรูปแบบเม็ดและยาน้ำ ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสบางชนิด โดยคุณหมออาจให้รับประทานยา ซึ่งควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากกำลังใช้ยารักษาอื่น ๆ สมุนไพร หรือวิตามิน รวมถึงควรแจ้งคุณหมอหากมีสภาวะที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เอชไอวี โรคไต ผลข้างเคียงของยา อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอกจากนี้ หากมีอาการแย่ลง เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดปกติ ผื่นคัน หรือผิวบวม ควรพบคุณหมอทันที
  • ยาแก้แพ้ อาจใช้รักษาผู้ป่วยที่มีผื่นและอาการคัน
  • ยาทาเฉพาะที่ เช่น คาลาไมน์ ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน ระคายเคืองผิว และช่วยลดอาการบวม
  • การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจบำบัดด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อช่วยให้อาการของผื่นดีขึ้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดรอยด่างดำ

4. โรคฟิฟธ์ (Fifth Disease)

โรคฟิฟธ์ เกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัส บี19 (Parvovirus B19) พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและในช่วงฤดูหนาว สามารถแพร่กระจายผ่านทางเลือด สารคัดหลั่ง และละอองฝอยจากการไอหรือจามที่มีเชื้อไวรัสปะปน

อาการโรคฟิฟธ์อาจสังเกตได้จาก

  • มีผื่นแดงขึ้นบนใบหน้า โดยเฉพาะในบริเวณแก้ม หลังจาก 2-3 วันอาจพบผื่นในบริเวณอื่น เช่น หน้าอก หลัง แขน ขา ก้น
  • เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • เหนื่อยล้าง่าย
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อ พบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

การรักษาโรคฟิฟธ์

ไม่มียาที่ใช้รักษาโรคฟิฟธ์โดยเฉพาะ แต่ปกติแล้วโรคฟิฟธ์อาจหายเองได้ภายใน 4-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน ตามสุขภาพของแต่ละคน นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคันของผื่นที่ขึ้นตามร่างกาย และอาจให้ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้ และบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

5. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการแพ้สารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ มลพิษ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหารบางชนิด นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้เช่นกัน อาการที่พบบ่อยของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง คือ อาการคัน ผิวแห้ง ผื่นเป็นวงแหวน หรือเป็นปื้นแดงขนาดใหญ่ บางคนอาจมีตุ่มนูนใส ๆ ที่มีน้ำอยู่ด้านใน หากสังเกตว่ามีอาการผื่นเป็นสะเก็ด มีหนอง เป็นแผล ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนการติดเชื้อรุนแรง

การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

วิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำให้ทายาปฏิชีวนะในรูปแบบครีม หรืออาจให้รับประทานยาในรูปแบบยาเม็ด เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  • เพรดนิโซโลน (Prednisolone) อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง แต่อาจให้รับประทานระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • สารยับยั้งแคลซินิวริน เช่น พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ที่อาจช่วยกดภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้เมื่อสัมผัสกับสารระคายเคือง ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะทำให้ผิวไวต่อแสง
  • การทำแผลแบบเปียก (Wet dressings) สำหรับผู้ที่มีแผลจากผิวหนังอักเสบ เช่น แผลหนอง ตุ่มใส โดยทำความสะอาดแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ จากนั้นจะทายาฆ่าเชื้อ หรือใช้ผ้าก๊อซชุบยาฆ่าเชื้อเข้าไปอุดในแผล และพันผ้าพันแผลปิดทับ
  • การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจฉายรังสียูวีเอและยูวีบีในบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ การฉายรังสีอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง และผิวเสื่อมก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากผิวของเด็กค่อนข้างบอบบาง
  • ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว จำกัดเวลาอาบน้ำเพื่อป้องกันผิวแห้ง และเช็ดตัวให้แห้งสนิท จากนั้นควรบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น และควรทายาตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันการเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังซ้ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ringworm. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ringworm-body/symptoms-causes/syc-20353780. Accessed April 18, 2022

What You Should Know About Ringworm. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-you-should-know-about-ringworm. Accessed April 18, 2022

Clotrimazole Solution, Non- – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4316/clotrimazole-topical/details. Accessed April 18, 2022

Miconazole Nitrate 2 % Topical Cream – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-3841-787/miconazole-nitrate-topical/miconazole-topical/details. Accessed April 18, 2022

Psoriasis. https://www.nhs.uk/conditions/psoriasis/. Accessed April 18, 2022

Psoriasis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/diagnosis-treatment/drc-20355845. Accessed April 18, 2022

Pityriasis rosea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pityriasis-rosea/symptoms-causes/syc-20376405. Accessed April 18, 2022

What Is Pityriasis Rosea?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/whats-pityriasis-rosea. Accessed April 18, 2022

Fifth Disease. https://www.webmd.com/children/guide/understanding-fifth-disease-basics. Accessed April 18, 2022

Atopic dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20353273. Accessed April 18, 2022

Seborrheic Dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seborrheic-dermatitis/symptoms-causes/syc-20352710. Accessed April 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีธรรมชาติในการจัดการโรคผิวหนังอักเสบ

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา