โรคหิด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการที่ตัวหิด เจาะลงไปในผิวหนังชั้นบนและทำการวางไข่ จนส่งผลให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ตุ่มนูนเล็ก ๆ และอาจเป็นแผลพุพอง อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม โรคหิดสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยากำจัดตัวหิดในรูปแบบครีมหรือโลชั่นที่คุณหมอแนะนำ รวมถึงการดูแลสุขภาพผิวเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
โรคหิด คืออะไร
โรคหิด คือ โรคผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากการถูกตัวหิด ซึ่งเป็นตัวไรชนิดหนึ่ง กัดและเข้าไปวางไข่ในผิวหนังชั้นบน ทำให้เกิดตุ่มแดงคล้ายสิว และอาการคันอย่างรุนแรง นอกจากนี้ เมื่อตัวหิดโตเต็มที่ก็อาจแพร่กระจายไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ และบุคคลอื่นรอบตัวได้ ผ่านทางการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรงและการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม
นอกจากนี้ ยังมีโรคหิดนอร์เวย์ (Norwegian scabies) ที่มีความรุนแรงมากกว่าโรคหิดธรรมดา เนื่องจากมีปริมาณของตัวหิดในผิวหนังมากกว่าล้านตัว เทียบกับโรคหิดธรรมดาที่อาจมีตัวหิดแค่ประมาณ 10-15 ตัวเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากกว่า และมีอาการผิวหนังเป็นสะเก็ด หรือลอกเป็นขุย มักพบได้ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
อาการของโรคหิด
อาการของโรคหิดสามารถเกิดขึ้นทั่วทั้งร่างกาย เช่น รักแร้ ระหว่างนิ้ว รอบเอว ฝ่าเท้า อวัยวะเพศชาย บั้นท้าย ข้อพับ ข้อศอก ข้อมือ เข่า สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็กอาจพบอาการบริเวณศีรษะ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
อาการของโรคหิดที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- อาการคัน ที่อาจมีอาการแย่ลงในเวลากลางคืน
- ตุ่มน้ำเล็ก ๆ หรือตุ่มนูน บนผิวหนังคล้ายสิว
- ผื่นเป็นวงแดง
- แผลพุพอง
- แผลที่เกิดจากการเกา
- ผิวหนังเป็นสะเก็ด
ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหิดมาก่อน อาจใช้เวลา 4-8 สัปดาห์กว่าอาการจะกำเริบ แต่สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคหิดมาแล้วและเป็นซ้ำ อาการอาจปรากฏภายใน 1-4 วัน หลังจากติดเชื้อ
การรักษาโรคหิด
การรักษาโรคหิด มีดังนี้
- ยาเพอร์เมทริน (Permethrin) เป็นยาในรูปแบบครีมทาผิวหนัง ที่มีสารที่ช่วยฆ่าตัวหิดและไข่หิด ยานี้อาจปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป รวมถึงผู้ใหญ่และสตรีมีครรภ์ แต่เพื่อความปลอดภัยควรใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอ
- ยาโครตาไมตอน (Crotamiton) คือยาในรูปแบบครีม โลชั่น ที่ใช้เพื่อฆ่าตัวหิด โดยอาจทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 1 ครั้ง
- ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ยานี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเป็นโรคหิดนอร์เวย์ รวมถึงผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาในรูปแบบครีมหรือโลชั่น ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร และเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 15 กิโลกรัม เพราะอาจก่อให้เกิดอันตราย
- ยาแก้แพ้ ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน โดยสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคหิด
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคหิด อาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคหิด
- แยกของใช้ส่วนตัว และซักเสื้อผ้า ผ้าห่ม และผ้าปูที่นอนให้สะอาด หากเป็นไปได้ควรตากแดดหรืออบผ้าด้วยความร้อน เพื่อฆ่าตัวหิดที่อาจตกค้างอยู่
- ควรอาบน้ำและซับผิวให้แห้งก่อนทายา และล้างมือหลังจากทายาทุกครั้ง ทั้งนี้ ยารักษาโรคหิดควรอยู่บนผิวหนังประมาณ 8-14 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้ยาตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าคุณหมอจะสั่งให้หยุดยา และเข้าพบคุณหมอตามการนัดหมาย เพื่อให้ตรวจดูอาการ
[embed-health-tool-heart-rate]