backup og meta

ปัสสาวะแสบขัด ในผู้ชาย สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ปัสสาวะแสบขัด ในผู้ชาย สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ปัสสาวะแสบขัด ในผู้ชาย เป็นอาการหนึ่งซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อปัสสาวะจะรู้สึกเจ็บ แสบ หรือปัสสาวะกะปริบกะปรอย ไม่สุด มักพบในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป หากปัสสาวะแสบขัดเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน ควรรีบเข้าพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยถึงสาเหตุและหาวิธีรักษาที่เหมาะสม ส่วนวิธีป้องกันอาการปัสสาวะแสบขัดที่ง่ายที่สุด คือ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยระบายเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกาย

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ปัสสาวะแสบขัด ในผู้ชาย คืออะไร

ปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย หมายถึง อาการเจ็บปวดหรือแสบร้อนตอนปัสสาวะหรือหลังปัสสาวะ รวมทั้งอาการปัสสาวะไม่สุด หรือกะปริบกะปรอย อาการเหล่านี้มักพบในผู้ชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ หากรู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ขณะที่อาการซึ่งเกิดหลังถ่ายปัสสาวะ อาจมาจากความผิดปกติที่ต่อมลูกหมากหรือกระเพาะปัสสาวะ

อาการ

อาการปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย

อาการปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย ได้แก่ ความรู้สึกเจ็บปวด แสบร้อน ถ่ายกะปริบกะปรอย หรือคันบริเวณอวัยวะเพศขณะปัสสาวะหรือหลังปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม หากปัสสาวะแสบขัดเกิดเนื่องจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้

  • เป็นไข้
  • ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น
  • ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดเจือปน
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปวดเมื่อยบริเวณลำตัวโดยเฉพาะบริเวณเอว

สาเหตุ

สาเหตุของอาการ ปัสสาวะแสบขัด ผู้ชาย

สาเหตุของอาการปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย คือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) ซึ่งพบได้ทั่วไปในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วย

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย รวมทั้งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน มีแนวโน้มติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยป้องกัน และยังเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปัสสาวะแสบขัด
  • เบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีโอกาสพบการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคเบาหวาน มีส่วนทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตในร่างกายมากขึ้น
  • การใส่สายสวนปัสสาวะ ในผู้ป่วยโรคบางชนิดหรือมีปัญหาสุขภาพทำให้ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต มีโอกาสเกิดอาการปัสสาวะแสบขัดเพราะการใส่สายสวนปัสสาวะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้ามาในร่างกายได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ ซึ่งทำให้ถ่ายปัสสาวะออกได้ยากกว่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จนเกิดอาการปัสสาวะแสบขัด

ทั้งนี้ ปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย ยังเกิดจากได้จากสาเหตุอื่น ๆ อาทิ

  • การใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ เช่น สบู่ น้ำหอม
  • ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ซึ่งส่งผลข้างเคียงทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองจนปัสสาวะแสบขัดได้

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

ผู้ป่วยปัสสาวะแสบขัดควรไปพบคุณหมอ เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปัสสาวะแสบขัดต่อเนื่องหลายวัน
  • ปัสสาวะมีกลิ่น มีสีขุ่น หรือมีเลือดเจือปน
  • พบของเหลวลักษณะคล้ายหนองไหลออกมาจากองคชาต
  • เจ็บปวดที่หลังหรือบริเวณเอว

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย

คุณหมอจะวินิจฉัยอาการปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย ดังต่อไปนี้

  • สอบถามประวัติสุขภาพผู้ป่วยและประวัติการรักษาพยาบาล รวมทั้งอาการของโรคที่กำลังเป็นอยู่ เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะแสบขัด
  • สอบถามเกี่ยวกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่คุณหมอสงสัยว่าปัสสาวะแสบขัดเกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยดูจากลักษณะอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
  • ตรวจปัสสาวะหรือเพาะเชื้อจากปัสสาวะ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกายผู้ป่วย
  • ตรวจอวัยวะอื่น ๆ เพิ่มเติม ในกรณีที่คุณหมอไม่พบการติดเชื้อจากตัวอย่างปัสสาวะ คุณหมออาจขอตรวจกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมากเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของโรคและหาวิธีรักษาต่อไป

การรักษา ปัสสาวะแสบขัด ผู้ชาย

เมื่อวินิจฉัยแล้ว คุณหมอจะเลือกรักษาปัสสาวะแสบขัดตามสาเหตุหรืออาการที่พบ เช่น

  • หากติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ คุณหมอจะรักษาด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 3-5 วัน หากอาการรุนแรง คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะที่นานขึ้นหรือแรงขึ้นซึ่งมักมีผลข้างเคียงทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี
  • หากปัสสาวะแสบขัดโดยมีสาเหตุมาจากโรคบางอย่าง เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คุณหมอจะรักษาความผิดปกติที่ต้นเหตุ ในกรณีของต่อมลูกหมากอักเสบ คุณหมอจะรักษาด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ ส่วนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คุณหมอจะสอดเครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปในร่างกายคนไข้เพื่อขบนิ่วให้แตก
  • หากปัสสาวะแสบขัดเกิดจากการใช้สบู่หรือน้ำหอม การรักษาคือหลีกเลี่ยงหรือหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับปัสสาวะแสบขัดในผู้ชาย

การดูแลตัวเองด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดโอกาสเกิดปัสสาวะแสบขัดในผู้ชายได้

  • ดื่มน้ำ 2-3 ลิตร/วัน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับปัสสาวะ และช่วยระบายเชื้อแบคทีเรียออกจากระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำห้เกิดการติดเชื้อ
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง หรือเลือกมีคู่นอนเพียงคนเดียว เพื่อลดโอกาสในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Painful urination (dysuria). https://www.mayoclinic.org/symptoms/painful-urination/basics/causes/sym-20050772. Accessed March 4, 2022

Urinary tract infection (UTI). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-tract-infection/symptoms-causes/syc-20353447#:~:text=A%20urinary%20tract%20infection%20(UTI,a%20UTI%20than%20are%20men. Accessed March 4, 2022

Bladder stones. https://www.nhs.uk/conditions/bladder-stones/treatment/. Accessed March 4, 2022

Benign prostatic hyperplasia (BPH). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/benign-prostatic-hyperplasia/diagnosis-treatment/drc-20370093. Accessed March 4, 2022

Dysuria (Painful Urination). https://www.webmd.com/women/dysuria-causes-symptoms. Accessed March 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/01/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉี่แล้วแสบ เกิดจากสาเหตุอะไร

ฉี่มีเลือดปน สาเหตุและการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา