backup og meta

วิธีแก้อาหารเป็นพิษ ให้ดีขึ้น และสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/05/2023

    วิธีแก้อาหารเป็นพิษ ให้ดีขึ้น และสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ

    อาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกกลุ่มอายุตลอดปี แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนมักพบได้บ่อย เพราะสภาพอากาศส่งผลให้อาหารบูดและเสียได้เร็ว อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ โรคนี้ยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคและสารพิษที่ได้รับ วิธีแก้อาหารเป็นพิษ จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสม

    สาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ

    โรคอาหารเป็นพิษ เป็นอาการป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ทั้งการปนเปื้อนจากสารเคมี โลหะหนัก เกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส สารพิษจากพืชและสัตว์ การปนเปื้อนในอาหารกระป๋อง การประกอบอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุก อาหารที่ค้างไว้หลายชั่วโมง ซึ่งสาเหตุของการปนเปื้อนที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    • ร่างกายได้รับสารพิษของแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียได้เจริญเติบโตในอาหารตั้งแต่ก่อนรับประทานเข้าไป เช่น สารพิษของเชื้อ V.parahaemolyticus, Clostridium botulinum, Staphylococcus aureus, Bacillus cereus หรือผลิตสารพิษภายในลำไส้เมื่อรับประทานเข้าไป เช่น Clostridium perfringens
    • เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ พยาธิ เช่น Escherichia coli, Salmonellosis, Shigellosis, Viral gastroenteritis และ Trichinosis  
    • สาหร่ายบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ เช่น Ciguatera Fish Poisoning และ Paralytic Shellfish Poisoning 

    อาการของโรคอาหารเป็นพิษ

    ผู้ที่ได้รับเชื้อที่ปนเปื้อน ร่างกายจะแสดงอาการภายใน 1 – 2 วัน บางกรณีแสดงอาการทันทีในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของสิ่งที่ปนเปื้อน ปริมาณของเชื้อโรคหรือสารพิษที่ได้รับ โดยอาการอาหารเป็นพิษ ได้แก่

    • เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน 
    • ท้องเสีย 
    • ปวดท้อง 
    • มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ กระหายน้ำ 

    อาการอาหารเป็นพิษแบบไหนต้องไปพบคุณหมอ

    โดยทั่วไป อาการอาหารเป็นพิษที่ไม่รุนแรงจะหายได้เองใน 1-2 วัน แต่มีสัญญาณของร่างกายที่บ่งบอกว่า อาการรุนแรงขึ้นและต้องไปปรึกษาแพทย์ เช่น

    • ท้องเสียมาก ท้องเสียหลายวัน หรือมีเลือดปนในอุจจาระ 
    • อาเจียนบ่อย ๆ มีเลือดปนในอาเจียน
    • แขนขาอ่อนแรง 
    • หายใจลำบาก 
    • ตาเริ่มมัวมองเห็นได้ไม่ชัดเจน 
    • อาการปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง 

    วิธีแก้อาหารเป็นพิษ ให้ดีขึ้น

    หากผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษไม่มีอาการรุนแรงจนน่ากังวล สามารถดูแลตัวเองให้ดีขึ้นได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ดูแลร่างกายไม่ให้เกิดการขาดน้ำ ดื่มน้ำสะอาดโดยจิบน้ำบ่อย ๆ ให้ร่างกายชดเชยการสูญเสียน้ำจากการอาเจียนและท้องเสีย
  • ทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไป ด้วยการจิบน้ำผสมผงเกลือแร่ ซึ่งจะมีเกลือและน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก แต่ไม่ใช่น้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย เพราะน้ำเกลือแร่ชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายท้องเสียมากขึ้น
  • เลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม งดอาหารเผ็ดและย่อยยาก 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ย่อยยาก ไม่รับประทานอาหารรสเผ็ด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากปฏิบัติตาม วิธีแก้อาหารเป็นพิษ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง แต่ควรรีบพบคุณหมอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังในการรับประทานอาหาร เลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สด สะอาด ไม่รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบหรืออาหารค้างคืน เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นอีก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา