backup og meta

คันช่องคลอด ก่อนเป็นประจําเดือน เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

คันช่องคลอด ก่อนเป็นประจําเดือน เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

คันช่องคลอด ก่อนเป็นประจําเดือน อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อรา ภาวะช่องคลอดแห้ง อาการระคายเคืองช่องคลอด ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการคันในช่องคลอด รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น ตกขาว ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากมีอาการคันช่องคลอดก่อนมีประจำเดือนหรือสังเกตพบอาการผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาในทันที

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุของอาการ คันช่องคลอด ก่อนเป็นประจําเดือน

การติดเชื้อรา

คันช่องคลอดก่อนเป็นประจําเดือนอาจเกิดจากการติดเชื้อราที่อวัยวะเพศเป็นวัฏจักร เรียกว่า Cyclic Vulvovaginitis เกิดขึ้นจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) ที่อยู่ในช่องคลอด เจริญเติบโตมากผิดปกติ เนื่องจากความสมดุลของค่า pH ในช่องคลอดเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การมีประจำเดือน หรือฮอร์โมนแปรปรวน ทำให้เชื้อนั้นเพิ่มจำนวนมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมได้ และกลายเป็นการติดเชื้อยีสต์ ทำให้เกิดอาการคันช่องคลอดก่อนมีประจำเดือน

นอกจากอาการคันที่อวัยวะเพศก่อนมีประจำเดือนแล้ว ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น อวัยวะเพศบวม ผดผื่น รอยแดง ตกขาว และแสบร้อนเวลาปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

ภาวะช่องคลอดแห้ง

คันช่องคลอดก่อนเป็นประจําเดือนอาจเกิดจากภาวะช่องคลอดแห้งได้ เนื่องจากในช่วงที่ตกไข่ ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มขึ้นสูง ก่อนจะลดลงต่ำอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มมีประจำเดือน นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่เพิ่งผ่านการคลอดบุตร ก็อาจจะมีปัญหาช่องคลอดแห้งได้เช่นกัน ภาวะช่องคลอดแห้งนี้สามารถทำให้เกิดอาการคันและอาการปวดที่บริเวณอวัยวะเพศได้

อาการแพ้หรือระคายเคือง

การมีประจำเดือนนั้น สามารถทำให้ผิวบอบบางและมีปฏิกิริยาไวต่อสิ่งระคายเคืองมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่มีผิวบอบบางอยู่แล้ว ก็อาจจะยิ่งมีอาการแพ้ได้ง่ายขึ้นในช่วงมีประจำเดือน ฝุ่นละออง สิ่งสกปรก คราบน้ำยาทำความสะอาดที่อาจจะตกค้างอยู่ในชุดชั้นใน หรือแม้กระทั่งผ้าอนามัย ก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และกลายเป็นอาการคันในบริเวณช่องคลอดได้

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่มักจะเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด หรืออาจจะเกิดจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ การสวนช่องคลอด หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือผ้าอนามัยแบบสอดอย่างไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

อาการของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียคือ คันช่องคลอด ก่อนเป็นประจําเดือน ระคายเคือง ตกขาว และแสบร้อนในบริเวณช่องคลอด นอกจากนี้ยังมีกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นคาวปลาในบริเวณอวัยวะเพศอีกด้วย

กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน

กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder : PMDD) เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ และมักจะพบได้ตั้งแต่ช่วงก่อนมีประจำเดือน ไปจนถึงช่วงหมดรอบเดือนนั้นๆ อาการที่พบได้บ่อยของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ได้แก่ ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล หงุดหงิด ปวดท้อง คลื่นไส้ คัน เป็นสิว หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การรักษาอาการ คันช่องคลอด ก่อนเป็นประจําเดือน

การรักษาอาการคันช่องคลอดก่อนเป็นประจําเดือน โดยปกติแล้วจะไม่มีแนวทางในการรักษาที่เฉพาะจง แต่จะเป็นการรักษาตามสาเหตุของอาการคันแทน เช่น

  • การรักษาอาการติดเชื้อรา มักจะใช้การรับประทานยาต้านเชื้อรา หรือใช้ยาต้านเชื้อราแบบทาเฉพาะที่ ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่อย่างไรก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจ และดูความคืบหน้าของอาการเป็นประจำ
  • การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง จะพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ แต่การรักษาที่พบได้บ่อยมักจะเป็น การใช้สารหล่อลื่นหรือสารที่เพิ่มความชุ่มชื้นในบริเวณช่องคลอด หรือการให้ฮอร์โมนทดแทน เป็นต้น
  • การรักษาอาการคันเนื่องจากการระคายเคือง อาจทำได้โดยการทำความสะอาดชุดชั้นในให้ดี และตากให้แห้งทุกครั้งก่อนใช้งาน ไม่ใช้ชุดชั้นในที่อับชื้น และเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาด และผ้าอนามัย โดยเลือกให้เหมาะสมสำหรับผิวบอบบางและแพ้ง่าย จะช่วยลดอาการคันได้
  • การรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย อาจต้องเข้ารับการตรวจและการรักษาจากแพทย์ เพราะแพทย์จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมกับชนิดของแบคทีเรียที่ติดเชื้อ

การป้องกันอาการ คันช่องคลอด ก่อนเป็นประจําเดือน

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการคันช่องคลอดก่อนเป็นประจําเดือน สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ เช่น

  • สวมชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย ที่สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี และเลือกชุดชั้นในที่พอดีตัว ไม่คับแน่นจนเกินไป
  • ซักเสื้อผ้าให้สะอาด มั่นใจว่าไม่มีน้ำยาซักผ้าตกค้างอยู่ และตากเสื้อผ้าให้แห้งก่อนนำมาใส่
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผงซักฟอก หรือสบู่ ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และเลือกผ้าอนามัยที่ใส่แล้วไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง
  • ระมัดระวังเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เช่น ใช้ถุงยางอนามัย
  • รับประทานอาหารประเภทโพรไบโอติก (probiotic) เช่น โยเกิร์ต อาจช่วยรักษาสมดุลของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ ในช่องคลอดได้

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

แม้ว่าอาการคันช่องคลอดอาจจะดูไม่มีอันตรายใด ๆ แต่บางครั้ง อาการคันนี้ก็อาจจะเป็นสัญญาณของโรคอื่นที่ควรได้รับการรักษาจากคุณหมอ หากเห็นอาการดังต่อไปนี้ ร่วมกับอาการคันในช่องคลอด ควรรีบติดต่อคุณหมอทันที อาการเหล่านี้ได้แก่

  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
  • ตกขาวแบบผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเหลือง หรือสีเขียว หรือมีตกขาวที่มีฟองหรือเป็นก้อน ๆ คล้ายคอทเทจชีส (Cottage Cheese)
  • มีกลิ่นเหม็นในบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีอาการปวดและแสบร้อนในบริเวณช่องคลอด โดยเฉพาะในเวลาปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
  • ช่องคลอดมีอาการบวม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal Itching, Burning, and Irritation. https://www.webmd.com/women/vaginal-itching-burning-irritation#:~:text=Chlamydia%2C%20genital%20herpes%2C%20genital%20warts,some%20point%20in%20their%20lives. Accessed September 14, 2022.

Vaginitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vaginitis/symptoms-causes/syc-20354707. Accessed September 14, 2022.

Vaginal Candidiasis. https://www.cdc.gov/fungal/diseases/candidiasis/genital/index.html. Accessed September 14, 2022.

Yeast infection (vaginal). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/yeast-infection/symptoms-causes/syc-20378999. Accessed September 14, 2022.

Bacterial vaginosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bacterial-vaginosis/symptoms-causes/syc-20352279#:~:text=Bacterial%20vaginosis%20is%20a%20type,affect%20women%20of%20any%20age. Accessed September 14, 2022.

PMS (premenstrual syndrome). https://www.nhs.uk/conditions/pre-menstrual-syndrome/. Accessed September 14, 2022.

Vaginal dryness. https://www.healthdirect.gov.au/vaginal-dryness. Accessed September 14, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2024

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

คันหู คันจริง ไม่รู้เพราะอะไร รับมือยังไงถึงจะหาย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา