หากคุณพบว่าตัวเองกำลังเป็น โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แพทย์ก็อาจแนะนำทางเลือกต่าง ๆ ใน การรักษาโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มาให้คุณ แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าการรักษารูปแบบไหนเหมาะสมกับคุณ วันนี้ Hello คุณหมอ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้วมาฝาก เพื่อให้คุณได้ตัดสินใจและวางแผนไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มีสาเหตุมาจากความผิดปกติหรือสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหัวใจ จนทำให้อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติไป เช่น หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100-175 ครั้งต่อนาที ซึ่งสภาวะที่อาจเป็นสาเหตุของ โรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว มีดังนี้
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ
- หัวใจพิการแต่กำเนิด
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- ภาวะหัวใจวาย
- โรคปอด
- โรคไซนัส
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ต่อมไทรอยด์มีการทำงานหนัก
- การได้รับสารกระตุ้น เช่น คาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่
การรักษาโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ที่แพทย์นิยมใช้
การรักษาโรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้วนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน เพราะแพทย์จะต้องเลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญอย่าง อายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายโดยรวม และความรุนแรงของอาการหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว โดยปกติการรักษามักแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่
1. การรักษาด้วยการใช้ยา
ในกรณีที่ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วด้วยการให้รับประทานยารักษาตามอาการเบื้องต้น ดังนี้ เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการรุนแรงไปกว่าเดิม โดยอาจใช้ยาดังนี้
- ยาลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
- ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ไบโซโปรลอล (Bisoprolol) เวอปามิล (Verpamil) ดิลไทอะเซม (Diltiazem) และอื่น ๆ
- ยาป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) และกลุ่มยาไรวาร็อกซาแบน (Rivaroxaban)
แม้ว่ายาเหล่านี้อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการของ โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ได้ แต่ก็อาจนำมาซึ่งผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น ไม่ว่าจะเป็นอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้าอ่อนแรง ดังนั้น คุณจึงควรพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจได้รับ และศึกษาเกี่ยวกับตัวยาให้ดีที่อาจได้รับเสียก่อน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของคุณ
2. การรักษาด้วยการผ่าตัด
ในบางครั้งการรักษาด้วยยาตามอาการอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ แพทย์ก็อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดแทน เพื่อแก้ไขความผิดปกติของหัวใจ และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจกลับมาเต้นปกติอีกครั้ง
-
การรักษาด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน
สำหรับการรักษาด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน (Radiofrequency Catheter Ablation: RFCA) แพทย์จะทำการใส่สายสวนผ่านทางขาหนีบเข้าไปยังหัวใจ โดยมีปลายสายสวนจะมีคลื่นพลังงานความถี่ติดอยู่ เพื่อเข้าไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อหัวใจให้กลับมาเต้นปกติแบบไม่จำเป็นต้องฝังอุปกรณ์ใด ๆ
-
การผ่าตัดทำลายเนื้อเยื่อหัวใจ
สำหรับเทคนิคการผ่าตัดทำลายเนื้อเยื่อหัวใจ (Maze procedure) จะมีทั้งการใช้มีดผ่าตัด ใช้คลื่นความถี่ หรือใช้ความเย็นเข้าไปทำลายแผลเนื้อเยื่อส่วนที่สาเหตุก่อให้เกิด โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แม้ว่าการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีอัตราความสำเร็จของการรักษาค่อนข้างสูง แต่ก็อาจมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย
-
การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
เป็นการผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็ก เพื่อให้แพทย์สามารถฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจขนาดเล็กที่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า หรือรอบหน้าอก อุปกรณ์นี้จะช่วยกระตุ้นให้คุณมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สม่ำเสมอมากขึ้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงระหว่างที่คุณกำลังรับการรักษาโรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เลือกรับประทานอาหารที่ต่อสุขภาพหัวใจ เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง
[embed-health-tool-heart-rate]