อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) คือ ค่าตัวเลขที่บอกอัตราการเต้นของหัวใจต่อนาที โดยสามารถวัดได้ด้วยการจับชีพจร ถึงแม้อัตราการเต้นของหัวใจจะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้จักการทำงานของร่างกายในส่วนนี้ดีพอ หรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจ และ Hello คุณหมอ มีรายละเอียดที่คุณควรรู้ในเรื่องนี้มาให้แล้ว
วิธีตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
ชีพจร (Pulse) คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งคุณสามารถตรวจวัดเบื้องต้นเองได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
-
จับชีพจร
โดยเราสามารถจับชีพจร ได้ในบริเวณต่อไปนี้
- จับชีพจรบริเวณข้อมือ หงายฝ่ามือขึ้น ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางสัมผัสข้อมือ โดยชีพจรจะอยู่ใต้นิ้วโป้งบริเวณข้อมือ
- จับชีพจรบริเวณคอ กดข้างลำคอบริเวณใต้กรามเบาๆ
-
จับเวลาและนับจำนวน
เมื่อเจอชีพจรแล้ว ให้จับเวลา 1 นาทีและนับว่าชีพจรเต้นกี่ครั้ง ก็จะทราบจำนวนอัตราการเต้นของหัวใจต่อ 1 นาที
อัตราการเต้นของหัวใจปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที หากอัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที ถือว่าหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (bradycardia) แต่หากอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีจะหมายถึง หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (tachycardia)
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักผ่อนที่ดีที่สุด ควรอยู่ที่ 50-70 ครั้งต่อนาที และการศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ก็ชี้ว่า อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่า 76 ครั้งต่อนาทีในช่วงขณะหยุดพัก อาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายที่เพิ่มขึ้น
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีสุขภาพดี มีอัตราการเต้นของหัวใจในขณะหยุดพักยิ่งต่ำเท่าไหร่ก็ยิ่งดี และอัตราการเต้นของหัวใจขณะหยุดพักที่สูงถึง 80 ครั้งต่อนาที ก็อาจไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพใดๆ
ปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่างยังอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ เช่น อายุ การออกหรือไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ขนาดร่างกาย อารมณ์ การใช้ยาบางชนิด แต่ถึงแม้จะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การบ่งชี้ถึง “ความปกติ” ของอัตราการเต้นของหัวใจเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก
แต่ถ้าคุณมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะหยุดพักสูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีอย่างต่อเนื่อง หรือคุณไม่ใช่นักกีฬา แต่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะหยุดพักต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาทีเป็นประจำ รวมถึงมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ร่วมด้วย คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ อัตราการเต้นของหัวใจ
ความเข้าใจผิด 1 : อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หมายถึงคุณกำลังจะหัวใจวาย
เวลาที่คุณรู้สึกว่าหัวใจกำลังเต้นในรูปแบบที่ผิดปกติ เช่น รู้สึกเหมือนหัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นแรงขึ้น หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นรัวอยู่ในอก อาการเหล่านี้อาจเป็นเพียงอาการใจสั่น (palpitation) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต
โดยสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น เช่น
- แอลกอฮอล์
- คาเฟอีน
- การออกกำลังกาย
- ความเครียด
- ภาวะขาดน้ำ
- การกินยาบางชนิด
- เป็นไข้
- ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ
- การสูบบุหรี่
อาการหัวใจเต้นผิดปกติจึงอาจหมายความเสมอไปว่า คุณกำลังจะเกิดอาการหัวใจวาย แต่ในกรณีที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก และมีปัญหาในการหายใจ คุณควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ความเข้าใจผิด 2 : ชีพจรเต้นเร็วหมายถึงคุณกำลังเครียด
ความเครียดเป็นเพียงแค่สาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นได้เท่านั้น เพราะเมื่อคุณออกกำลังกาย รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกกังวล รู้สึกเศร้า หรือแม้แต่ตอนที่คุณลุกขึ้นยืน อัตราการเต้นของหัวใจก็อาจเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน โดยชีพจรอาจเต้นเร็วขึ้น 15-20 วินาที ก่อนกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ สภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความชื้นในอากาศ ก็อาจเป็นเหตุให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณกินยารักษาโรคไทรอยด์ และมีอาการชีพจรเต้นเร็ว นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกินยามากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ และการใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม
ความเข้าใจผิด 3 : อัตราการเต้นของหัวใจปกติ แปลว่าความดันโลหิตก็ปกติเช่นกัน
บางครั้งอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของคุณอาจมีความสัมพันธ์กัน เช่น เมื่อคุณออกกำลังกาย หรือเวลาที่คุณโกรธหรือกลัว ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งสองอย่างนี้ก็ไม่ได้สัมพันธ์กันเสมอไป
เพราะบางครั้ง แม้อัตราการเต้นของหัวใจจะปกติ แต่ความดันโลหิตของคุณอาจสูงหรือต่ำกว่าปกติโดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยก็ได้ ดังนั้น แม้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจของคุณจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ คุณก็ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ เพื่อสังเกตค่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการวัดแต่ละครั้ง เพื่อในการนำไปประกอบการปรึกษาแพทย์
ความเข้าใจผิด 4 : หัวใจเต้นช้าแปลว่าหัวใจของคุณไม่แข็งแรง
ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ในทางกลับกัน อัตราการเต้นของหัวใจที่ช้า อาจเป็นสัญญาณว่าสุขภาพของคุณแข็งแรงก็เป็นได้ เช่น นักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง หัวใจจึงไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก เพื่อรักษาจังหวะหัวใจให้คงที่ นักกีฬาจึงอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักเพียง 40 ครั้งต่อนาทีก็เป็นได้
อัตราการเต้นของหัวใจช้าจะเป็นปัญหา ในกรณีที่คุณเป็นลม รู้สึกวิงเวียนศีรษะ หายใจสั้นๆ หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หากคุณมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้า คุณควรไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาอาการที่เกิดขึ้น และการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
[embed-health-tool-heart-rate]