คำจำกัดความ
เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด คืออะไร
เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด หรืออาการแน่นหน้าอก หรืออาการปวดเค้นหัวใจ (Angina) มักเกิดจากการขาดกระแสเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ เพราะมีการตีบตันหรือการอุดตันของหลอดเลือด โดยปกติ เลือดจะลำเลียงออกซิเจนไปสู่หัวใจ แต่หากมีเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจน้อยเท่าใด ออกซิเจนที่ลำเลียงไปยังหัวใจเพื่อสูบฉีดโลหิตก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้
อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเสมอไป หากมีอาการเจ็บหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ทันที
อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดพบบ่อยเพียงใด
ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วมีโอกาสมากขึ้นในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด เป็นอย่างไร
สัญญาณของอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่
- มีอาการเจ็บหรือแน่นในหน้าอก
- มีอาการปวดที่แขน คอ ขากรรไกร ไหล่ หรือหลัง ร่วมกับเจ็บหน้าอก
- คลื่นไส้
- อ่อนเพลีย
- มีอาการเหนื่อยหอบ
- มีเหงื่อออก
อาการอาจแตกต่างกันออกไปตามประเภทของอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้น ดังนี้
อาการเจ็บหน้าอกแบบคงที่
หัวใจขาดเลือดที่มีอาการคงที่ เป็นอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกที่มักเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม หรือความเครียด อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกมักเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมเดิมๆ ในเวลาเดิมๆ โดยอาการมักหายไปในเวลา 2-3 นาที หลังจากหยุดกิจกรรมนั้นๆ หรือรับประทานยา
อาการเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่
หมายถึงลักษณะอาการเจ็บหน้าอกเปลี่ยนแปลงไป มักเกิดขึ้นตอนกลางคืนระหว่างนอนหลับ และอาจเกิดขึ้นได้บ่อยและรุนแรงมากกว่าการเจ็บหน้าอกแบบคงที่ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งใช้ต้องออกแรงมาก หรือเกิดขึ้นแม้ขณะหยุดพัก
อาการเจ็บหน้าอกแบบผันแปร
เป็นกรณีที่พบได้น้อย เกิดจากการหดเกร็งในหลอดเลือดหัวใจ มักเกิดขึ้นในขณะพักผ่อนและมีอาการเจ็บแบบรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีอาการตอนกลางคืนและตอนเช้าตรู่ โดยสามารถใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการได้
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสัญญาณใดๆ ของอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ทันที อาการเจ็บหน้าอกแบบคงที่ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจแต่เป็นสัญญาณบ่งบอกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ส่วนอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่คงถือว่าเป็นอันตรายมาก และจำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน โดยเป็นสิ่งบ่งชี้ของภาวะหัวใจวาย
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น โปรดปรึกษาแพทย์
สาเหตุ
สาเหตุของการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด
อาการเจ็บแน่นหน้าอกเกิดจากการขาดกระแสเลือดไปเลี้ยงยังหัวใจ สาเหตุอาจได้แก่
- โรคหลอดเลือดหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็ง เกิดจากไขมันสะสมตัวในหลอดเลือดหัวใจ
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ลำเลียงออกซิเจนมีจำนวนน้อยลง
- อาการหดเกร็งของหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด
ปัจจัยเสี่ยงของอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดมีหลายประการ เช่น
- อายุและเพศ ผู้ชายอายุมากกว่า 60 ปี และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและคอเลสเตอรอลสูง
- ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด
ก่อนการวินิจฉัย แพทย์อาจทำการทดสอบดังต่อไปนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- การทดสอบการวิ่งบนสายพานและการออกกำลังกาย
- การใช้สายสวนหัวใจเพื่อตรวจกระแสเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจ โดยการใส่เครื่องมือผ่านเส้นเลือดไปยังหัวใจ การทดสอบนี้จะแสดงให้เห็นว่าหลอดเลือดตีบตันหรือไม่
การรักษาอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด
เป้าหมายของการรักษาคือการทำให้กระแสเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้นหรือลดการทำงานหนักของหัวใจ ในเบื้องต้น ผู้ป่วยควรพักผ่อนหรือการลดการทำกิจกรรมลง
การให้ยาแอสไพริน (Aspirin) ทำให้กระแสเลือดไหลเวียนดีขึ้น ส่วนยากลุ่มไนเตรท เช่น ยา nitroglycerin ช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัวและเลือดไหลเวียนดีขึ้น นอกจากนี้ อาจมีการให้ยาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ยากลุ่ม beta-blockers ช่วยชะลอการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะลดการทำงานของหัวใจได้
ในเบื้องต้น แพทย์อาจสั่งยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) ก่อน หากยาไม่ได้ผล
อาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัด โดยจะใช้รูปแบบการผ่าตัดดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดขยายหลอดเลือดและการใส่ขดลวดตาข่าย เป็นการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดโดยการใส่บอลลูนขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือดที่ตีบตัน เพื่อขยายหลอดเลือด แล้วใส่ขดลวดตาข่ายขนาดเล็กเข้าไป ซึ่งจะช่วยให้กระเแสเลือดไหลเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการรักษาที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงหลอดเลือดที่อุดตันหรือตีบตันโดยใช้หลอดเลือดจากส่วนอื่นๆ ของร่างกาย มักเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกทั้งคงที่และไม่คงที่ รวมทั้งผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดได้
- เลิกสูบบุหรี่
- กำหนดแผนการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยการลดไขมัน และรับประทานธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก และผลไม้ให้มากขึ้น
- ปรึกษาแพทย์เพื่อกำหนดกิจวัตรการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- หากมีน้ำหนักเกิน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการลดน้ำหนักที่เหมาะกับภาวะสุขภาพปัจจุบัน
- ปฏิบัติตามการนัดหมายและการสั่งยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หากอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง ควรรักษาโรคเหล่านั้นก่อน
- หาเวลาสำหรับการผ่อนคลายและการพักผ่อนที่เหมาะสม
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
[embed-health-tool-heart-rate]