โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก เป็นหนึ่งในประเภทของโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ที่คุณควรระวัง เพราะเนื่องจากบางครั้งอาจไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏให้เห็นชัดมากนัก ดังนั้น คุณจึงจำเป็นหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจอยู่เสมอ เพื่อให้คุณได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้ วันนี้ Hello คุณหมอ จึงได้นำความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก พร้อมวิธีการรักษามาฝากกัน
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก คืออะไร
หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก (Thoracic Aortic Aneurysm) คือ การขยายตัวของหลอดเลือดที่อยู่ภายในทรวงอก โดยส่วนใหญ่มักมาจากสาเหตุการแข็งตัวของหลอดเลือด จากคราบพลัค และไขมันที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด รวมถึงภาวะการอักเสบในหลอดเลือดแดง ปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับโรคลิ้นหัวใจ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรุนแรง เป็นต้น
ถึงแม้ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก จะไม่เผยอาการมากนัก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปหลอดเลือดนี้อาจมีการขยายใหญ่ขึ้น จนสามารถส่งผลให้คุณนั้นเริ่มมีสัญญาณเตือนต่าง ๆ ดังนี้
- เจ็บหน้าอก
- ปวดหลัง
- เสียงแหบ
- ไอ
- หายใจถี่
ที่สำคัญ หากคุณเริ่มมีอาการดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น โปรดรีบเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ในทันที เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้หลอดเลือดโป่งพองเคลื่อนตัวลงมาบริเวณช่องท้องได้นั่นเอง
การวินิจฉัย หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก
ในระยะแรกแพทย์อาจตรวจพบ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก ได้ค่อนข้างยาก ทำให้ต้องนำเทคนิคทางการแพทย์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เข้ามามีส่วนร่วม
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการทดสอบที่สามารถแสดงให้เห็นว่าห้องหัวใจ และลิ้นหัวใจของคุณมีการทำงานได้ดีมากเพียงใด โดยแพทย์จะใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนี้ผ่านหลอดอาหาร เพื่อให้เผยภาพหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ดีขึ้น
- เอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ถึงแม้จะเป็นเทคนิคที่อาจทำให้แพทย์จับขนาด และรูปร่างการโป่งพองของหลอดเลือดได้ แต่ก็มีข้อเสียบางอย่าง เพราะผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยอาจต้องสัมผัสกับรังสีร่วม เพื่อความปลอดภัยคุณจำเป็ต้องทำการพูดคุยถึงผลข้างเคียง ความเสี่ยงที่อาจได้รับเสียก่อน
- ถ่ายภาพด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การวินิจฉัยนี้จะทำให้แพทย์ และคุณได้ทราบถึงตำแหน่งของ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก และเหมาะสมกับผู้ที่ไม่สามารถสัมผัสรังสีอย่าง CT Scan ได้
วิธีรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก
หากเป็นกรณีที่ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก มีขนาดเล็กแพทย์อาจแนะนำให้คุณรักษาด้วยยาต่าง ๆ ดังนี้
- กลุ่มยาต้าน Angiotensin II เช่น ลอซาร์แทน (Losartan) วาลซาร์แทน (Valsartan) โอล์มีซาร์แทน (Olmesartan) เป็นต้น
- กลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น เมโทโพรลอล (Metoprolol) อะทีโนลอล (Atenolol) ไบโซโปรลอล (Bisoprolol) เป็นต้น
- กลุ่มยาสแตติน เช่น อะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin) โลวาสแตติน (Lovastatin) ซิมวาสแตติน (Simvastatin) เป็นต้น
แต่สำหรับผู้ที่เป็น หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทรวงอก ประมาณ 1.9-2.4 นิ้ว หรือ 5-6 เซนติเมตร ขึ้นไป อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดในรูปแบบการผ่าแบบเปิดหน้าอก เพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดที่ได้รับความเสียหาย ป้องกันหลอดเลือดโป่งพองแตก
[embed-health-tool-heart-rate]