ภาวะหลอดเลือดแข็ง หรือ ภาวะหลอดเลือดตีบ (Atherosclerosis) เกิดจากคราบไขมันพังผืดหรือหินปูน (Plaque) สะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือด จนทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบตัน จนทำให้การไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำได้ไม่ดี ส่งผลให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายขาดเลือด
คำจำกัดความ
ภาวะหลอดเลือดแข็ง คืออะไร
ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงเกิดการตีบและแข็งตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสะสมของคราบไขมันพังผืดหรือหินปูน (Plaque) เมื่อหลอดเลือดแดงเกิดการตีบตันและแข็งตัว จะทำให้การลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังหัวใจและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายทำได้ยากขึ้น ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดการขาดแคลนเลือดและออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ คราบไขมัน (Plaque) ยังสามารถแตก และทำให้เกิดลิ่มเลือด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาหลอดเลือด อาจนำไปสู่อาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจล้มเหลวได้
ภาวะหลอดเลือดแข็ง พบได้บ่อยแค่ไหน
ส่วนใหญ่แล้ว อาการหลอดเลือดแข็ง มักจะแสดงอาการเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนขึ้นไป เมื่อการตีบแคบลงอย่างรุนแรง อาจทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี และทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ การอุดตันยังสามารถแตกออกอย่างกะทันหัน นั่นทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนภายในหลอดเลือดแดงที่บริเวณรอยแตก
อาการ
อาการของภาวะหลอดเลือดแข็ง
โดยปกติแล้ว ภาวะหลอดเลือดแข็งมักจะไม่แสดงอาการ จนกว่าหลอดเลือดจะเกิดการตีบตันหรืออุดตัน จนไม่สามารถลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ บางครั้งลิ่มเลือดก็จะทำให้เกิดการอุดตัน ปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด
อาการของภาวะหลอดเลือดแข็ง จะมีอาการในระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับหลอดเลือดว่าได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่มักจะเกิดขึ้น มีดังนี้
- อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง
- อาการชา แขนขาอ่อนแรงอย่างกะทันหัน พูดไม่ชัด พูดลำบาก หรืออาจจะมีอาการสูญเสียการมองเห็นร่วมด้วย
- ปวดขาขณะเดิน
- ความดันโลหิตสูง
- ไตวาย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ปวดหัวอย่างรุนแรง
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร
ผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้น ควรให้ความสนใจกับอาการเริ่มต้นของโรคที่เกิดขึ้น เช่น อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง หากมีอาการเบื้องต้นเหล่านี้ ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอ เพื่อที่จะได้รักษาอาการของโรคได้ทัน
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิด อาการหลอดเลือดแข็ง
การสะสมของคราบไขมัน (Plaque) และอาการแข็งของหลอดเลือดแดงจะทำให้การไหลเวียนเลือดและออกซิเจนทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- คอเลสเตอรอลสูง
- ความดันโลหิตสูง
- ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง
- การสูบบุหรี่
- โรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน
- การอักเสบที่ไม่มีสาเหตุหรือจากโรค เช่น โรคข้ออักเสบลูปัส โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคลำไส้อักเสบ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ภาวะหลอดเลือดแข็ง
ภาวะหลอดเลือดแข็งจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากความชราแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคด้วย เช่น
- ความดันโลหิตสูง
- คอเลสเตอรอลสูง
- ระดับโปรตีน C-reactive Protein (CRP) สูง
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การสูบบุหรี่
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- ไม่ออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
สำหรับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแข็งคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย หากคุณมีอาการของหลอดเลือด
- ชีพจรอ่อนลง
- หลอดเลือดโป่งพอง การโป่งผิดปกติหรือการขยายตัวของหลอดเลือด เนื่องจากความอ่อนแอของผนังหลอดเลือด
- การรักษาบาดแผลช้า ซึ่งบ่งบอกถึงการไหลเวียนของเลือดที่จำกัด
นอกจากนี้ คุณหมออาจฟังเสียงหัวใจ เพื่อดูว่ามีเสียงผิดปกติหรือไม่ คุณหมอจะทำการฟังเสียงหวีด ซึ่งเป็นเสียงที่บ่งบอกว่าหลอดเลือดแดงถูกปิดกั้น คุณหมออาจจะมีการทดสอบเพิ่มเติม ดังนี้
- ตรวจเลือดเพื่อตรวจระดับคอเลสเตอรอล
- อัลตราซาวนด์หัวใจ
- การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scoring)
- การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (Ankle Brachial Index หรือ ABI)
- ทำเอ็มอาร์เอ (Magnetic Resonance Angiography หรือ MRA)
- การตรวจสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Angiography หรือ CAG)
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram หรือ Electrocardiogram)
- การทดสอบความเครียดหรือการทดสอบความทนทานต่อการออกกำลังกาย ซึ่งจะตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของคุณ ในขณะที่คุณออกกำลังกายบนลู่วิ่งหรือจักรยานที่อยู่กับที่
การรักษา ภาวะหลอดเลือดแข็ง
การรักษาภาวะหลอดเลือดแข็ง ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อลดปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอล และต้องออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อปรับปรุงสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
หากอาการของโรคไม่รุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้เปลี่ยนวิถีชีวิตซึ่งเป็นแนวทางแรกของการรักษา นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำการรักษาทางการแพทย์เพิ่มเติม เช่น การใช้ยาหรือการผ่าตัด
การใช้ยา
ยาบางตัวที่ใช้ในการรักษาหลอดเลือดมี ดังนี้
- สแตติน (Statins) เป็นกลุ่มยาลดไขมันในกระแสเลือด โดยยากลุ่มนี้จะทำการลดคอเลสเตอรอลชนิดไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ลง ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี สามารถชะลอหรือหยุดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดงได้
- แอสไพริน เพื่อลดความเสี่ยงที่เกล็ดเลือดจะจับตัวเป็นก้อนในหลอดเลือดแดง ที่ตีบแคบลง ลดการเกิดลิ่มเลือดและลดการอุดตันเพิ่มเติม
- ยาลดความดันโลหิต ยาลดความดันโลหิตไม่ได้ช่วยให้หลอดเลือดตีบดีขึ้น แต่มีส่วนช่วยป้องกันหรือรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรค เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวายได้
- ยาอื่น ๆ ยังมียาที่ใช้สำหรับการรักษาอาการของโรคหลอดเลือดแข็งตัวตัวอื่น ๆ ด้วย โดยคุณหมอสั่งจ่ายยาอื่น ๆ เพื่อควบคุมสภาวะสุขภาพ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน และอาจมีการกำหนดยาที่มีความเฉพาะ เพื่อรักษาอาการของหลอดเลือดแข็งตัว เช่น อาการปวดขาระหว่างออกกำลังกาย
การผ่าตัด
หากอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อโดนทำลาย คุณหมออาจแนะนำการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดที่ใช้สำหรับการรักษาหลอดเลือด ได้แก่
- การผ่าตัดบายพาส (Bypass Surgery) เป็นการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับการทำทางเบี่ยงเส้นเลือด โดยทำท่อสังเคราะห์เพื่อเบี่ยงเบนเลือดไปรอบ ๆ หลอดเลือดแดงที่อุดตันหรือตีบ
- การใช้ยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytic Therapy) เป็นการใช้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตัน โดยการฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ตีบตัน
- การขยายหลอดเลือดหัวใจ (Angioplasty) เป็นการใช้สายสวนและบอลลูน เพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบตัน บางครั้งการใส่ขดลวด เพื่อให้หลอดเลือดเปิด
- การผ่าตัดหลอดเลือดคอไปเลี้ยงสมอง (Endarterectomy) เป็นการผ่าตัดที่กำจัดไขมันและคราบอุดตันในหลอดเลือดออกจากผนังหลอดเลือด
การปรับไลฟ์สไตล์เพื่อเยียวยาตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์เพื่อเยียวยาตัวเองเพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง
การปรับไลฟ์สไตล์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันและรักษาภาวะหลอดเลือดแข็งได้ ซึ่งวิธีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับหลอดเลือด คือ
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลต่ำ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- รับประทานเนื้อปลามากขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
- เลิกสูบบุหรี่
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
- จัดการกับความเครียด
- ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
[embed-health-tool-heart-rate]