ภาวะ หัวใจวายในผู้หญิง เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง ภาวะหัวใจวายนั้นสามารถเกิดได้ทั้งกับเพศชายและเพศหญิง แต่จะส่งผลกระทบกับเพศชายและหญิงต่างกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตระหนักถึงอาการและสัญญาณเตือนของโรค ที่เรามักจะไม่ใส่ใจและมองข้าม เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
หัวใจวายในผู้หญิง มีอาการอย่างไร
ผู้หญิงมักจะมีอาการที่เห็นได้ชัดน้อยกว่าผู้ชาย สัญญาณและอาการที่พบได้มากที่สุดมีดังต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกอึดอัดไม่สบายในอก เป็นอาการของโรคหัวใจที่รับรู้ได้ง่ายที่สุด แต่อาจจะไม่เกิดขึ้นเสมอไป
- อาการปวดที่ลามลงมายังแขน คอ กราม ท้อง และหลัง คุณอาจรู้สึกถึงอาการปวดเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด สำหรับบางคน อาการปวดอาจรุนแรงมาก แต่สำหรับบางคนอาจแค่รู้สึกเจ็บปวดเล็กน้อย
- รู้สึกไม่สบาย เหงื่อออก หายใจไม่ออก วิงเวียนศีรษะ โดยมีอาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอกร่วมด้วย
- รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย หรือปวดท้องแบบมีกรดเกินในกระเพาะอาหาร
- ความรู้สึกไม่ค่อยสบายเหมือนทั่ว ๆ ไป แต่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และตามมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
- อาการวิตกกังวล อ่อนแรง หรือเหนื่อยล้าอย่างหาสาเหตุไม่ได้
- ใจสั่น ตื่นตกใจกลัว หรือตัวซีด
หากคุณมีสัญญาณและอาการที่กล่าวมาเบื้องต้นโปรดรับการรักษาทันที และควรรับการทดสอบเพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจวายด้วย เพราะภาวะนี้ ยิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นเท่านั้น
ความเสี่ยงต่อการเกิด หัวใจวายในผู้หญิง
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจซึ่งพบได้บ่อยนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อผู้ชายและผู้หญิงเหมือน ๆ กัน อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยอื่น ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดโรคหัวใจในผู้หญิง เช่น
- โรคเบาหวาน
- ความเครียดและโรคซึมเศร้า
- การสูบบุหรี่
- การไม่ค่อยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย
- วัยหมดประจำเดือน
- อาการข้างเคียงจากการตั้งครรภ์
- โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)
หัวใจวายและโรคหัวใจ เกิดเฉพาะกับหญิงสูงอายุจริงหรือ
คำตอบก็คือ ไม่จริงแต่อย่างใด ผู้หญิงทุกวัยควรใส่ใจในเรื่องโรคหัวใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ซึ่งทำให้พวกเธอมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจวายในผู้หญิงนั้นจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยภาวะนี้จัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน
ผู้หญิงสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อลดความเสี่ยง
ผู้หญิงสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตหลายอย่าง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ
- ไม่สูบบุหรี่ หรือถ้าสูบอยู่แล้วก็ควรเลิก
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ธัญพืชแบบไม่ขัดสี ผักและผลไม้หลากหลายชนิด ผลิตภัณฑ์จากนมแบบไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และควรพยายามหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ไขมันแบบอิ่มตัว น้ำตาล หรืออาหารที่มีเกลือสูง
โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเข้าห้องฉุกเฉิน หลังจากที่เกิดความเสียหายกับหัวใจไปแล้ว เพราะไม่สามารถจับสังเกตอาการได้ง่าย ๆ และบางทีผู้หญิงเองก็มักละเลยต่ออาการและสัญญาณเตือนหลายอย่าง ที่จริงแล้ว ถ้าคุณมีอาการของภาวะหัวใจวายในผู้หญิงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคิดว่าอาจจะกำลังเกิดหัวใจวาย รีบโทรเรียกรถพยาบาล หรือรีบไปห้องฉุกเฉินให้เร็วที่สุด แต่อย่าขับรถเอง เว้นแต่คุณจะไม่มีทางเลือกอื่นจริง ๆ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-heart-rate]