ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นความผิดปกติที่เกิดจากลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดปิดได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เลือดที่ไหลผ่านห้องหัวใจอาจไหลย้อนกลับ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้ลดลง และยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้นกะทันหันและเสียชีวิตได้
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
ลิ้นหัวใจรั่ว คืออะไร
ลิ้นหัวใจรั่ว คือ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่มีหน้าที่เปิดปิดเพื่อควบคุมทิศทางการไหลเวียนของเลือดผ่านห้องหัวใจให้เป็นปกติ เมื่อลิ้นหัวใจมีความผิดปกติหรือที่เรียกว่า ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว อาจทำให้เลือดไหลย้อนกลับสู่หัวใจห้องเดิม และเลือดอาจไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
นอกจากนี้ ภาวะลิ้นหัวใจรั่วยังอาจมีแนวโน้มนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้นกะทันหันและเสียชีวิตได้
อาการ
อาการ ลิ้นหัวใจรั่ว
ภาวะลิ้นหัวใจรั่วที่ไม่รุนแรงมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้มีอาการ ดังนี้
- วิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลม
- หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดปกติ
- รู้สึกเจ็บปวด หรือรู้สึกเหมือนโดนกดทับบริเวณหน้าอก
- หายใจถี่ หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกาย หรือนอนราบ
- ข้อเท้าหรือเท้าบวมน้ำ
- ความเมื่อยล้าและเหนื่อยล้าผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมหนัก ๆ
สาเหตุ
สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว
ลิ้นหัวใจมีหน้าที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังทิศทางที่ถูกต้องและป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ โดยลิ้นหัวใจที่อาจเกิดเป็นภาวะลิ้นหัวใจรั่วสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral Valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้าย ความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังห้องบนซ้าย เรียกว่า ภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (Mitral Valve Regurgitation)
- ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic Valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังห้องล่างซ้าย เรียกว่า ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic Valve Regurgitation)
- ลิ้นพัลโมนารี (Pulmonary Valve) เป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างขวากับหลอดเลือดดำ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังห้องล่างขวา เรียกว่า ลิ้นหัวใจพัลโมนารีรั่ว (Pulmonary Valve Regurgitation)
- ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid Valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องบนขวาและล่างขวา ความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังห้องบนขวา เรียกว่า ลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว (Tricuspid Valve Regurgitation)
นอกจากนี้ภาวะลิ้นหัวใจรั่วยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ลิ้นหัวใจไมตรัลห้อยยาน (Mitral Valve Prolapse) เป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจไมตรัลพองตัวกลับเข้าไปด้านในหัวใจห้องบนขวาเมื่อหัวใจบีบตัว ส่งผลให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท และทำให้เลือดไหลย้อนกลับได้
- ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Narrowing Of The Aortic Valve) การสะสมของแคลเซียมในลิ้นหัวใจเอออร์ติกอาจทำให้ลิ้นหัวใจแข็ง ตีบ และแคบลง ส่งผลให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดปิดได้ตามปกติ
- หัวใจวาย อาการหัวใจวายอาจทำลายกล้ามเนื้อหัวใจที่รองรับลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเกิดความเสียหาย และไม่สามารถเปิดปิดได้ตามปกติ
- ไข้รูมาติก เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคคออักเสบ อาจทำให้ลิ้นหัวใจแข็งและตีบจนนำไปสู่ภาวะลิ้นหัวใจรั่วได้
- ปัญหาหัวใจตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคลิ้นหัวใจแต่กำเนิด หัวใจพิการแต่กำเนิด
- เยื่อบุห้องหัวใจและลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ จนอาจส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสียหาย
- การรักษาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น การฉายรังสี การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหัวใจ อาจส่งผลกระทบต่อหัวใจที่อาจทำให้ลิ้นหัวใจเสียหายได้
- โรคเรื้อรังที่อาจส่งผลกระทบต่อหัวใจและลิ้นหัวใจ เช่น มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) โรคลูปัส
- การบาดเจ็บบริเวณทรวงอกจากการเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้ลิ้นหัวใจและหัวใจเสียหายได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของลิ้นหัวใจรั่ว
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว อาจมีดังนี้
- เคยมีประวัติเป็นโรคลิ้นหัวใจประเภทอื่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น โดยมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอลง
- การติดเชื้อที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น ไข้รูมาติก เยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ
- ภาวะหัวใจบางชนิด เช่น หัวใจวาย หัวใจพิการแต่กำเนิด ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
- ความดันโลหิตสูงในปอด
- การฉายรังสีบริเวณหน้าอก
- การใช้สารกระตุ้นหรือยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาไมเกรน
การวินิจฉัยการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย ลิ้นหัวใจรั่ว
การวินิจฉัยหัวใจเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของปัญหาลิ้นหัวใจรั่วอาจทำได้ ดังนี้
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการใช้คลื่นไฟฟ้าจำลองภาพหัวใจเพื่อตรวจความผิดปกติของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดระหว่างห้องหัวใจ ความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด การทำงานของหัวใจและอื่น ๆ
- เอกซเรย์ทรวงอก ช่วยแสดงสภาพหัวใจและปอด ซึ่งช่วยให้สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจโตหรือมีของเหลวในปอดได้
- เอ็มอาร์ไอหัวใจ ช่วยประเมินความรุนแรงของภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ขนาดหัวใจ และการทำงานของหัวใจ
- การทดสอบการออกกำลังกายหรือการทดสอบความเครียด อาจทำการทดสอบด้วยการวิ่งลู่ ออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน เพื่อตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจและการตอบสนองของหัวใจ
- การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เป็นการใช้สายสวนสอดผ่านหลอดเลือดที่แขนหรือขาหนีบไปยังหลอดเลือดแดงในหัวใจ และฉีดสีย้อมผ่านสายสวน เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นหลอดเลือดแดงในห้องหัวใจได้ชัดเจนขึ้น
การรักษา ลิ้นหัวใจรั่ว
การรักษาลิ้นหัวใจรั่วอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- การรักษาด้วยยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดความดันโลหิต ยาควบคุมการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ยารักษาหรือควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อช่วยควบคุมและบรรเทาอาการ
- การผ่าตัดหรือการทำหัตถการ เช่น การทำศัลยกรรมตกแต่งลิ้นหัวใจ เพื่อช่วยให้ลิ้นหัวใจกระชับและกลับมาเปิดปิดปกติ หรือการการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจอันใหม่ให้กลับมาทำงานเป็นปกติ
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับลิ้นหัวใจรั่ว
การดูแลตัวเองเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและความแข็งแรงของหัวใจ อาจทำได้ ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานผักและผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำหรือไร้ไขมัน สัตว์ปีก ปลา และธัญพืช นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ เกลือและน้ำตาลสูง เช่น อาหารแช่แข็งพร้อมทาน อาหารแปรรูป เค้ก คุกกี้ ขนมขบเคี้ยว เบคอน ไส้กรอก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาน้ำหนักให้แข็งแรง และช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายประมาณ 30 นาที/วัน ประมาณ 5 วัน/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ
- จัดการความเครียด เช่น ทำงานอดิเรก ทำสมาธิ ออกกำลังกาย ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง
- งดสูบบุหรี่และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยป้องกันสารเคมีที่อาจทำให้ความดันโลหิตสูง และป้องกันความเสี่ยงในการเกิดปัญหาหัวใจและหลอดเลือด
- ควบคุมความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญความดันโลหิตสูง ควรเข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมความดันโลหิต ควบคุมการรับประทานอาหารที่อาจส่งผลต่อความดัน เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารไขมันสูง