backup og meta

พฤติกรรม เสี่ยง โรคหัวใจ มีอะไรบ้าง และมีผลอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์ · โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    พฤติกรรม เสี่ยง โรคหัวใจ มีอะไรบ้าง และมีผลอย่างไร

    โรคหัวใจ คือ ความผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ มักเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตัน กระทั่งออกซิเจนและสารอาหารในเลือดไม่สามารถถูกส่งไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการทำงานของหัวใจ ทั้งนี้ พฤติกรรม เสี่ยง ที่มักเป็นสาเหตุของโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว การไม่ออกกำลังกาย

    โรคหัวใจ คืออะไร

    โรคหัวใจ คือ ความผิดปกติของหัวใจรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจวาย โรคลิ้นหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจล้มเหลว

    โดยทั่วไป โรคหัวใจมักเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบลงหรืออุดตัน จนออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ในเลือดไม่สามารถลำเลียงไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ ทำให้หัวใจอ่อนแอหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม

    ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ อาจไม่สามารถควบคุมได้ อย่างพันธุกรรมหรือความเสื่อมโทรมของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้ พฤติกรรม เสี่ยงที่อาจควบคุมได้ อาจมีดังนี้

  • การสูบบุหรี่
  • การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอลหรือไขมันเลว (LDL)
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • พฤติกรรมการออกกำลังกาย
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • พฤติกรรม เสี่ยง โรคหัวใจ มีอะไรบ้าง

    พฤติกรรมเสี่ยงต่อไปนี้ อาจส่งผลให้เป็นโรคหัวใจได้

    • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ระบบประสาทหลั่งสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) มากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น สารเคมีในบุหรี่ยังออกฤทธิ์ทำให้เลือดหนืดหรือจับตัวเป็นก้อน ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายและการทำงานของหัวใจผิดปกติ ทั้งนี้ ผู้ที่เคยสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis) สูงกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์
    • การไม่ออกกำลังกาย มักเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งอาจทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากเมื่อเป็นโรคอ้วนมักทำให้การไหลเวียนของเลือดแย่ลง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของหัวใจให้ทำงานผิดปกติ
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเกินไปในระยะยาว หรือเกินกว่า 10 แก้ว/สัปดาห์ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และอัตราการเต้นของหัวใจสูงผิดปกติ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจวาย
    • การบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เมื่อรับประทานไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงให้หลอดเลือดแคบลงหรืออุดตัน ทั้งนี้ อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มได้แก่ เนย น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม เนื้อสัตว์ติดมัน และเนื้อสัตว์แปรรูปส่วนอาหารที่เป็นแหล่งของไขมันทรานส์ เช่น เค้ก คุกกี้ ไก่ทอด เฟรนช์ฟรายส์ โดนัท
    • การนอนหลับไม่เพียงพอ เมื่อนอนหลับ ความดันโลหิตจะลดต่ำลง การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง/วัน มักทำให้ค่าความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานกว่าปกติ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคหัวใจต่าง ๆ ได้ ในงานวิจัยว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการนอนน้อยและโรคหลอดเลือดหัวใจ ตีพิมพ์ในวารสาร Sleep ปี พ.ศ. 2553 นักวิจัยได้ติตตามชีวิตประจำวันของผู้เข้าร่วมการทดลองซึ่งเป็นทั้งผู้ที่มีและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนจำนวน 10,308 ราย เป็นเวลาประมาณ 15 ปี และได้ข้อสรุปว่า การนอนน้อย เท่ากับหรือต่ำกว่า 6 ชั่วโมง มีความสัมพันธ์กับโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มมากขึ้น
    • การไม่ควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด นับเป็นพฤติกรรม เสี่ยง โรคหัวใจ โดยเฉพาะในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมักมีค่าน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ หากไม่ดูแลตนเองตามคำแนะนำของคุณหมอจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดสูงเกินเกณฑ์ปลอดภัยติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดกับเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจได้รับความเสียหาย จนนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

    โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา